ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ศธ.เร่งทำข้อมูลแรงงานสาขาที่ขาดแคลน

วันที่ลงข่าว: 07/10/15

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (กรอ.อศ.) และคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษากลุ่มอาชีพ (อ.กรอ.อศ.) โดยมี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธาน พร้อมด้วย พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วย ศธ. นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาฯ กอศ.) และผู้บริหาร สอศ.กว่า ๒๐๐ คน

 

พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวว่า ตนให้ความสำคัญในเรื่องฐานข้อมูลของแรงงานที่มีความขาดแคลนในแต่ละสาขาวิชาชีพ โดยมอบให้ สอศ.ไปรวบรวมข้อมูลให้ชัดเจน เพื่อจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) นำไปวางแผนการเสนอของบประมาณ และการวางแผนยุทธศาสตร์ทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาวในการผลิตกำลังคน ซึ่งตนต้องการให้ได้ตัวเลขภายในเดือนตุลาคม และภายในสิ้นปี ๒๕๕๘ ว่าจะผลิตกำลังคนในสาขาใดบ้าง รวมถึงจะต้องมีแผนผลิตกำลังคนระยะยาว จะต้องสอดคล้องกับความต้องการของประเทศและสถานประกอบการ

 

พล.อ.ดาว์พงษ์ยังกล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีแนวคิดอยากให้จัดตั้งสถาบันอาชีวศึกษาที่มีความเป็นเลิศในแต่ละสาขา โดยจะคัดเลือกสถาบันที่มีความโดดเด่นในแต่ละสาขาขึ้นมาชูความเป็นเลิศในด้านนั้นๆ กระจายอยู่ทุกภูมิภาคในประเทศไทย และจะจัดสรรงบประมาณ รวมถึงสนับสนุนเครื่องมือในการจัดการเรียนการสอนที่มีความทันสมัยมากขึ้น โดยจะวางแผนและเตรียมการไว้ให้รัฐบาลใหม่ได้ดำเนินการต่อไป.

 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ พล อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ได้หารือกับนายมาสะฟูมิ ชูคูริ ประธานสมาคมรถไฟความเร็วสูงระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น ที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย ถึงความร่วมมือพัฒนาระบบรางและรถไฟความเร็วสูงระหว่างไทย-ญี่ปุ่น รองนายกรัฐมนตรีเสนอให้ญี่ปุ่นพิจารณาเรื่องการพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง เพื่อให้ไทยสามารถเตรียมบุคลากรให้พร้อมกับการปฏิบัติงาน รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยี ทั้งนี้ได้ประเมินว่าไทยต้องการวิศวกรระบบรางเพิ่มอีก ๑.๕ หมื่นคน จากที่มีอยู่ ๑.๔๕ หมื่นคนในปัจจุบัน

 

ในขณะที่ นายอะกิระ มูราโคชิ ประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ ฯ พร้อมคณะได้เข้าพบนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยืนยันว่าญี่ปุ่นยังสนใจไทยเป็นฐานการผลิตในภูมิภาคนี้ รวมทั้งขอให้ไทยผลักดันกำหนดมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรมเดียวกันในอาเซียนเพื่อรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปี ๒๕๕๘ นี้ ประกอบด้วย ยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง วัสดุก่อสร้าง และผลิตภัณฑ์เหล็ก  ในขณะที่ นางอรรชกา ระบุว่า หอการค้าญี่ปุ่นขอให้ไทยพัฒนาบุคลากรระดับอาชีวศึกษาเพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

 

ที่มาของข่าว http://dlfeschool.in.th
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก