ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

นายกย้ำเจตจำนงการเมืองไทย ร่วมเคลื่อนพัฒนาที่ยั่งยืน

วันที่ลงข่าว: 28/09/15

28 ก.ย.58 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ย.58 เวลาประมาณ 17.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการประชุม UN Summit to adopt the Post-2015 Development Agendas เพื่อย้ำเจตจำนงทางการเมืองของไทยในการร่วมขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกสำหรับ 15 ปีข้างหน้า

 

โดย นายกฯ กล่าวถึงการเข้าร่วมการประชุมครั้งประวัติศาสตร์นี้ ว่า เพื่อยืนยันความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทย และคนไทย ในการร่วมกับประชาคมโลก เพื่อบรรลุผลตามเป้าหมายของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน และกล่าวชื่นชมวาระการพัฒนาใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับคน โดยถือว่าคนเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุด เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนสำหรับคนรุ่นต่อไป เพราะมนุษย์คือสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นภัยร้ายแรงของมนุษยชาติ ซึ่งต้องมีการตัดสินใจกันว่า เราจะยังคงบริโภคกันอย่างไม่ยับยั้งและมุ่งหวังแต่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบใดๆ หรือจะเลือกอยู่อย่างยั่งยืนมุ่งเน้นชีวิตที่มีคุณภาพ พอเพียงและสมดุล

 

ซึ่งหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสอนให้คนไทยมีเหตุผล รู้จักความพอดี สร้างความต้านทาน ทำให้ไทยผ่านวิกฤตมาหลายครั้ง เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 เหตุการณ์สึนามิ ทำให้ไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษได้เกือบทั้งหมด รวมทั้งการจัดทำวิสัยทัศน์ประเทศไทย 2558 - 2563 และแผนพัฒนาประเทศฉบับต่อไป

 

นายกฯ กล่าวต่อว่า โลกยังประสบความท้าทายเร่งด่วนคือ ความเหลื่อมล้ำ เพราะความยากจน การโยกย้ายถิ่นฐาน การแย่งชิงทรัพยากร เป็นปัญหาพื้นฐานของปัญหามากมาย และยังเป็นปัจจับบ่มเพาะความรุนแรงในสังคม ดังนั้น การขจัดความเหลื่อมล้ำ ต้องเริ่มจากการวางกรอบกติกาของสังคมให้มั่นคงและเป็นธรรม ให้ทุกคนมีความเสมอภาคและมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากร และการบริการรัฐอย่างเท่าเทียม จำเป็นต้องมีกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานของภาครัฐ ด้วยหลักธรรมาภิบาล ความรับผิดชอบ ความโปร่งใส รวมทั้งการขจัดความทุจริตและระบบอุปถัมภ์ ซึ่งไทยได้มีการออกกฎหมายหลายฉบับ เพื่อสร้างความทัดเทียม เช่น กฎหมายคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง กฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศ

 

นายกฯ กล่าวต่อไปว่า การขจัดความเหลื่อมล้ำ ต้องเริ่มจากการยอมรับในคุณค่าของทุกคน รัฐบาลกำลังสร้างความเข้มแข็ง รวมทั้งได้มีการจัดวางมาตรการสร้างความมั่นคงทางสังคม ให้กลุ่มเปราะบางต่างๆ อาทิ การประกันสุขภาพทั่วหน้า การเพิ่มเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุและเบี้ยผู้พิการ รวมทั้งการให้เงินอุดหนุนครอบครัวยากจน เพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด รัฐบาลกำลังสร้างความเข้มแข็งให้แก่บุคคล และสร้างความมีส่วนร่วมของครอบครัว ชุมชน รัฐบาลยังให้การคุ้มครองทางสังคมไม่เฉพาะคนไทย รวมทั้งแรงงานต่างด้าว โดยไทยจัดให้มีการลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย เพื่อเข้าสู่ระบบการจ้างงานมากกว่า 1.6 ล้านคน มาตรการนี้ช่วยป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน และแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์

 

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยยังให้ความสำคัญในการพัฒนาข้อมูลสถิติที่ครอบคลุมเพื่อกำหนดนโยบายให้ตอบสนองและจำแนกตามกลุ่มคน และความต้องการของกลุ่มคนต่างๆ อย่างแท้จริง เราต้องให้ความสำคัญกับความเคารพความเป็นมนุษย์ มีเมตตา และยอมรับความเท่าเทียมกัน โดยปลูกฝังทัศนคติเหล่านี้ ตั้งแต่เด็ก การขจัดความเหลื่อมล้ำ ต้องมาจากการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยรัฐบาลเน้นการทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ทำให้เศรษฐกิจและสังคมมาจากฐานรากที่เข้มแข็ง ด้วยการขยายการลงทุนสู่ท้องถิ่น ผ่านกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี การส่งเสริมการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน การสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับชุมชนในชนบท

 

นอกจากนี้ รัฐบาลยังเน้นการดูแลเกษตรกรอย่างเต็มที่ ส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน พัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรด้วยการแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาท้องถิ่นพร้อมๆ กับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งเป็นผลให้ในปัจจุบัน คนไทยทั่วประเทศมีงานทำแทบทุกคน และรัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์บริการจัดหางาน Smart Job Centre ให้ผู้มีรายได้น้อยมีช่องทางในการหางานทำด้วย

 

ทั้งนี้ การขจัดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นเฉพาะเรื่องภายในของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เราต้องช่วยกันขจัดความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศด้วยการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ด้วยการเชื่อมโยงภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวจังหวัดชายแดน 6 แห่ง ภายใต้แนวคิดไทยบวกหนึ่ง ในขณะเดียวกัน รัฐบาลจะพัฒนาประเทศและภูมิภาค ควบคู่ไปกับการขยายความร่วมมือไตรภาคี และความร่วมมือนอกภูมิภาค

 

นายกฯ กล่าวในตอนท้ายว่า เมื่อประชาชนเข้มแข็ง ประเทศและโลกก็จะเข้มแข็งไปด้วย ในอีก 15 ปีข้างหน้า ความเหลื่อมล้ำ และความยากจนจะลดน้อยลง ประเทศไทยพร้อมร่วมมือกับทุกประเทศและสหประชาชาติ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้ทุกคนเข้มแข็ง อยู่รวมกันอย่างผาสุก มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ไปด้วยกัน

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์แนวหน้าออนไลน์ วันที่ 26 กันยายน 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก