ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

'บุญธาตุ' แนะบังคับใช้กม. จ้างงานให้'คนพิการ'มีศักดิ์ศรีเท่าคนปกติ

วันที่ลงข่าว: 25/09/15

23 ก.ย.58 ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดเวทีสาธารณะ เรือง "ม.33 ให้สิทธิในการจ้างงานคนพิการแค่ไหน" โดย นายแท้จริง ศิริพานิช กรรมการ กสม.เป็นประธานในการเปิดเสวนาดังกล่าว ซึ่งมี นายบุญธาตุ โสภา กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ , นายธวัชชัย เลขสัมฤทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการจัดระบบแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน , นายภัทรพันธ์ กฤษณา เลขานุการคณะกรรมการบริหารสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย , นายสุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ มูลนิธิพระมหาไถ่ เพื่อพัฒนาคนพิการไทย , นายรุ่งโรจน์ ตันติเวชอภิกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ร่วมอภิปราย

 

โดย นายบุญธาตุ กล่าวตอนหนึ่งว่า กฎหมายฉบับนี้แก้ไขมาสองครั้งแล้ว เราถือว่าการจ้างคนพิการเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง เพื่อต้องการให้คนพิการอยู่ในสังคมเหมือนคนทั่วไป และมีสิทธิเท่าเทียมกับคนปกติตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เพราะสามารถหาเงินเลี้ยงตัวเองได้ และมีศักดิ์ศรีเทียบเท่าคนอื่นๆ ทั้งนี้ มีข้อกำหนดคุณสมบัติว่าจะต้องจบปริญญาตรีถึงจะจ้างงาน แต่ส่วนมากคนพิการมีส่วนน้อยมากทีจะได้เรียนหนังสือ และที่สำคัญคนพิการยังไม่กระตือรือร้นที่จะเข้าทำงาน แต่กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดขึ้นมาแล้วว่าให้คนพิการสามารถเรียนได้ มีทุนสำหรับคนพิการแล้ว และยังมีคนพิการที่ถูกหลอก ซึ่งเมื่อไปตรวจสอบไม่มีตัวตนจริง มีเพียงแต่ชื่อเท่านั้น ส่วนอุปสรรคของนายจ้างที่มีอคติต่อคนพิการ คือ คิดเพียงอย่างเดียวว่าคนพิการทำงานไม่ได้เหมือนคนปกติ ซึ่งเราต้องช่วยเปิดอุดมคติเหล่านี้

 

อย่างไรก็ตาม คนพิการที่จดทะเบียน คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จำนวน 1.7 ล้านคน วัยแรงงาน 6 แสนคน แต่มีงานทำ 3 แสนคน ว่างงาน 3 แสนคน และไม่สามารถทำงานได้ (ป่วยติดเตียง) 1 แสนคน ทั้งนี้ เราควรทำให้เห็นว่ามาตรา 33 ส่งผลดีผลเสียให้กับคนพิการและนายจ้างอย่างไร

 

ด้าน นายรุ่งโรจน์ กล่าวในองค์กรต้นแบบที่รับคนพิการเข้าทำงาน ว่า ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 มาตรา 33 , 34 , 35 เปิดโอกาสให้คนพิการเข้าทำงานได้ ถือเป็นการพัฒนาตัวคนพิการเอง แต่เป็นข้อจำกัดในการเดินทางไปทำงานของคนพิการ คือ อุปสรรค์ในเรื่องของการเดินทางไปทำงาน รูปแบบตัวอาคารที่ไม่เอื้ออำนวย ดังนั้น จึงเห็นว่ารูปแบบการจ้างงานแนวใหม่จะเป็นการเปิดโอกาสให้กับคนพิการ ซึ่งหากบริษัทที่ต้องการขับเคลื่อนงานด้านสังคม สามารถจ้างงานคนพิการในชุมชนได้ นอกจากนี้ ยังทำให้คนพิการได้รู้จักกัน และพัฒนาศักยภาพของตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสดีของบริษัทที่จะรับคนพิการเข้าทำงาน

 

ขณะที่ นายสุภรธรรม กล่าวว่า เจตนารมณ์เพื่อพัฒนาคุณภาพที่ดีขึ้นของคนพิการ ซึ่งคนปกติสามารถทำได้ทำไมคนพิการจะทำไม่ได้ โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับการบังคับใช้ ม.33 เพราะจะให้หลักประกันกับคนพิการที่จะมีความก้าวหน้าในอาชีพมากกว่า การจ้างงานใน มาตรา 35 เนื่องจากการกำกับดูแลตรวจสอบเป็นไปด้วยความลำบาก ทำให้ผู้พิการถูกลิดรอนสิทธิ ดังนั้น จึงเสนอแนวทาง 4 ข้อ ประกอบด้วย 1.จะจ้างงานให้สมบูรณ์แบบผู้บริหารองค์จะต้องมีความมุ่งมั่นที่จะจ้างคนพิการที่มีคุณค่า 2.ลักษณะงานที่มีคุณค่า หากจ้างงานคนพิการโดยไม่ต้องทำอะไรมาก ถือว่าเป็นการลดประสิทธิภาพคนพิการ หากบริษัทไปใช้ ม.35 คนพิการจะถูกลิดรอนสิทธิมากขึ้น ทั้งนี้ จะต้องจ้างตามกฎหมาย 3.จะต้องมีระบบสนับสนุนติดตาม ประเมินผล และจัดการกับผู้ที่แสวงผลจากคนพิการ และ 4.หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน และกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ต้องดึงภาคเอกชน ภาควิชาการ สมคมผู้พิการ เข้ามาร่วมทำงาน เพื่อสามารถควบคุมตรวจสอบข้อมูลการจ้างงานของบริษัทเอกชนได้

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์แนวหน้าออนไลน์ วันที่ 18 กันยายน 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก