ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

“การฟัง ไม่ใช่แค่การเปิดหูสองข้าง” ภาพและเสียงใน “ประสบการณ์หูสู่อาเซียน”

วันที่ลงข่าว: 24/09/15
 การฟังอย่างลึกซึ้ง  จะทำให้เราได้เรียนรู้ถึงตัวตนของเรา...  (ติช นัท ฮันห์)
 
 การฟังอย่างลึกซึ้ง
        จะทำให้เราได้เรียนรู้ถึงตัวตนของเรา...
       
       ART EYE VIEW---ทันทีที่เปิดประตูเข้าสู่ห้องนิทรรศการ สายตาผู้ชมก็ปะทะกับถ้อยคำที่ติดอยู่บนผนัง ซึ่งหยิบยืมมาจากถ้อยคำ ของ ท่านติช นัท ฮันห์ พระภิกษุชาวเวียดนามซึ่งมีชื่อเสียง 
       
        ขณะที่บนผนังในจุดอื่นๆของนิทรรศการ ก็จะมีคำจากนักคิด นักเขียน พระภิกษุรูปอื่น ตลอดจนคำจาก สุภาษิต คัมภีร์อัลกุรอาน คัมภีร์ไบเบิ้ล ที่เกี่ยวเนื่องกับการฟังติดให้ได้หยุดอ่าน หยุดครุ่นคิด อยู่เป็นระยะๆ
       
        สำหรับนิทรรศการ ประสบการณ์หูสู่อาเซียน หรือ AS((EAR))N ที่กำลังจัดแสดงให้ชม ณ มิวเซียมสยาม 
       
        นิทรรศการที่เสียงและภาพเคลื่อนไหว ถูกนำมาจัดแสดงในรูปแบบการจัดวางเสียง(sound installation) อีกทั้งยังมีการเสนอสื่อสารสนเทศในรูปแบบแผนที่ปฏิสัมพันธ์ออนไลน์ (onlion interactive) ซึ่งจะมีการปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยตลอดช่วงเวลาการจัดนิทรรศการ ที่ยาวนานถึง 4 เดือนเต็ม 
 
 ดร.อโณทัย นิติพน รองคณบดีสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ส่วนหนึ่งของผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันด้านดนตรี ที่มีส่วนร่วมคิดและนำเสนอผลงานผ่านนิทรรศการในครั้งนี้ร่วมกับท่านอื่นๆจากมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนด้านดนตรี และศิลปินที่ทำงานด้านการจัดวางเสียงจากหลายประเทศในอาเซียน 
       
        กล่าวเอาไว้ว่า “การเดินทางของผู้ฟัง ผ่านประสบการณ์และเรื่องราวเสียงอันหลากหลาย (ในนิทรรศการครั้งนี้) อาจช่วยให้เราได้รู้จักอาเซียน มิเพียงเสียงที่เราคุ้นเคย แต่รวมไปถึงเสียงที่มีความแตกต่าง และทำให้ประสบการณ์หูของเรา นำพาเราไปสู่อาเซียน ที่ความเข้าใจเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการฟังและการรับรู้อย่างเปิดใจ”
       
        ตัวอย่างภาพและเสียงที่ถูกจัดวางให้ชมนิทรรศการได้แก่ ภาพยนตร์สารคดี ความยาว 82 นาที ผลงานร่วมกำกับและผลิตโดย วราลักษณ์ หิรัญเศรษฐวัฒน์ เอเวอรี และเดวิด รีฟ ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของเสียงดนตรีและสิ่งแวดล้อมต่างๆผ่านชีวิต 9 ศิลปินอิสระ ที่ผูกพันกับดนตรีในกรุงเทพฯและภาคอีสาน ผู้อยู่นอกวงการดนตรีกระแสหลักในประเทศ
       
        ภาพและเสียง ขณะการออกกำลังกายยามเช้าที่สวนเลนิน กรุงฮานอย  ซึ่งการออกกำลังกายยามเช้ากำลังเป็นแฟชั่นในเมืองใหญ่ของเวียดนาม เพลงที่ใช้สำหรับการออกกำลัง มักจะดังมากและเป็นจังหวะที่กระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหว มักจะสลับไปมาระหว่างเพลงป็อบรุ่นดั้งเดิม ดิสโก้ หรือเพลงเต้นรำ
       
        เราจะเห็นภาพเหล่านี้ทุกที่ในช่วงเวลาตีสี่ถึงหกโมงเช้า โดยเฉพาะในสวนสาธารณะใหญ่ๆ เสียงเพลงดังๆเหล่านี้กลายเป็นภาพลักษณ์ของเสียงเมืองในเวียดนาม การบันทึกเสียงที่ถูกนำมาจัดวางในนิทรรศการครั้งนี้ บันทึกจากสวนที่เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในฮานอย เป็นที่ซึ่งอนุสาวรีย์เลนินเผชิญหน้ากับเสาธงเวียดนาม อันนับเป็นสัญลักษณ์สองประการของลัทธิคอมมิวนิสต์ในเวียดนาม
       
        เสียงหายากของชนกลุ่มน้อยในประเทศกัมพูชา ตัวอย่างเช่น เสียงของดนตรีขแมร์ เสียงต่างๆจากยุคทองแห่งความรุ่งโรจน์ จนกระทั่งภูมิทัศน์ทางเสียงของปัจจุบัน โดยสองศิลปินนักจัดวางเสียง Saphy Vong และ Julien Hairon ได้มาจากชาวกัมพูชาที่รักและภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมอันรุ่มรวยของตน
       
       รวมไปถึง เสียงของป่าเขตร้อนในมาเลเซีย นาข้าวในพม่า วัดในลาว มัสยิดในบรูไน รถไฟใต้ดินในสิงคโปร์ นอกหน้าต่างตึกในอินโดนีเซีย ตลาดของไทย ท้องถนนของกัมพูชา มอเตอร์ไซด์ในเวียดนาม และบทเพลงของกลุ่มชาติพันธุ์ในฟิลิปปินส์ 
       
       “สรรพเสียงของอาเซียน มิเพียงร้อยเรียงท่วงทำนองของวิถีชีวิตและผู้คนที่มีวัฒนธรรมอันหลากหลาย ทว่าเสียงของอาเซียน ยังได้เชื่อมต่อกาลเวลาของอดีต กับปัจจุบัน เมืองกับชนบท ผู้คนที่แตกต่างกับเรื่องราวที่คล้ายคลึง 
       
        ประสบการณ์หูสู่อาเซียน หรือ AS((EAR))N อาจช่วยให้เราได้ย้อนรำลึกประสบการณ์ของภูมิภาคอาเซียนผ่านความทรงจำของหู เสียงที่คุ้นเคย อาจมาจากที่ที่ห่างไกลไปกว่าพันกิโลเมตร บทเพลงที่ฟังดูแตกต่าง อาจมาจากคนที่อยู่ข้างเรา และเมื่อเราเปิดหูฟังเสียงของผู้คน ดนตรี เมือง ธรรมชาติ อย่างตั้งใจ ไร้อคติ การเดินทางของเสียง ก็จะพาเราไปรู้จักกับอาเซียนที่หลากหลายและคุ้นเคย อีกทั้งเป็นของเราทุกคนอย่างเท่าเทียม”
       
        นิทรรศการจัดวางเสียง ประสบการณ์หูสู่อาเซียน หรือ AS((EAR))N จัดแสดงระหว่างวันนี้ - 20 ธันวาคม พ.ศ.2558 ณ มิวเซียมสยาม สถาบันพิพิธภัณธ์การเรียนรู้แห่งชาติ ถนนสนามไชย (ใกล้วัดโพธิ์) 
       
        นอกจากนี้ในทุกวันอาทิตย์ระหว่างการจัดแสดงนิทรรศการ ยังมีกิจกรรม อาทิ การแสดง การบรรยาย การสาธิต การนำเสนอภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับนิทรรศการ ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าไปตามรายละเอียดได้ทาง www.asearn.com
       
        และเจ้าจงก้าวเท้าของท่านพอประมาณ และจงลดเสียงของเจ้าลง แท้จริง เสียงที่น่าเกลียดยิ่งคือเสียง(ร้อง)ของลา
       
       อัลกุรอาน,ชูเราะห์ ลุกมาน 31:19 
 


ฐานข้อมูล(เสียง) อาเซียน

นกมิได้ร้อง  เพระามีคำตอบ มันร้อง เพราะมีบทเพลง (สุภาษิตจีน)

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 23 กันยายน 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก