ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็กเล็กเพิ่มเรียนรู้และพัฒนาการ

วันที่ลงข่าว: 14/09/15

              เด็กที่อยู่ในช่วงอายุ 0-5 ปี เป็นช่วงที่มีการเรียนรู้และพัฒนาการได้มากที่สุด ในยุคสมัยนี้จะเห็นว่าเด็กจะอยู่กับเทคโนโลยีมากเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ไม่มีพัฒนาการในบางส่วน แท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟนเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ใช้ในการสอนลูกหรือปล่อยให้เขาอยู่กับมันมากจนเกินไป ต่างทำให้เด็กในยุคสมัยนี้มีการเคลื่อนไหวร่างกายที่น้อยและมีการพัฒนาการทางด้านร่างกายที่ไม่เต็มที่ การมีสื่อที่ดีต้องเป็นสื่อที่จะสามารถทำให้เด็กมีพัฒนาการในทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านร่างกาย สมอง ภาษา และด้านอารมณ์ กลุ่มแผนงานสื่อสร้างสรรค์ สถาบันสื่อและเยาวชน แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการแก่ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ภายใต้ชุด โครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อเสริมทักษะและเปิดเวทีแลกเปลี่ยนการจัดกระบวนการเรียนรู้และพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อพัฒนาเด็กเล็กให้เติบโตอย่างมีสุข

              รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรมและสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. สนับสนุนทุนแก่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต่อเนื่อง ปีแรกสนับสนุนให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 138 ศูนย์ ได้ใช้กระบวนการสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยด้านการเรียนรู้ ทักษะชีวิต และส่งเสริมพัฒนาการที่เหมาะสมตามช่วงวัยเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอย่างดี เช่น เด็กๆ ในศูนย์เกิดความสุขจากการได้ร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ในศูนย์ ได้เปิดประสบการณ์ใหม่ในการเรียนรู้สุขภาวะและเกิดพัฒนาการที่เหมาะสมตามช่วงวัยด้วยกระบวนการสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ ชุมชนเห็นคุณค่าของงานที่ครูในศูนย์ได้ดำเนินงานและเข้ามาร่วมพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ในศูนย์

              “ปีที่ 2 ขยายผลและต่อยอดจากโครงการสนับสนุนการจัดกระบวนการสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจำนวน 220 ศูนย์ เน้นการบูรณาการแนวคิดสุขภาวะด้วยกระบวนการสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของครูในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้มีความเข้าใจแนวคิดและกระบวนการสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ เข้าใจธรรมชาติและพัฒนาการเด็กปฐมวัย สามารถสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน และเกิดแรงบันดาลใจในการทำงานด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านเครือข่ายครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก”

              “สุจินดา จ่างแสง” ผู้ดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโคกสวัสดี จ.สกลนคร กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโคกสวัสดี ไม่มีความพร้อมด้านสื่อและสถานที่ ทำให้เด็กมีพัฒนาการต่างๆ ได้อย่างไม่เต็มที่ หลังจากเข้าร่วมโครงการนี้ ทำให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้รับความรู้ต่างๆ มากมาย ในเรื่องการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กที่ดูแลและเรื่องสื่อสร้างสรรค์ที่สามารถเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กได้ได้รับการอนุมัติงบประมาณมาทำสื่อใช้วัสดุอุปกรณ์ภายในพื้นที่ ขอความร่วมมือแรงงานจากผู้ปกครองของเด็กทำบ่อทราย ชิงช้า และสนามเด็กเล่นให้เด็กได้เล่นและสนุกกับเพื่อน

              “ก่อนหน้านี้มีเด็กคนหนึ่งที่เราดูแลมีอาการของโรคไฮเปอร์ อยู่นิ่งไม่ได้และจะวิ่งตลอดเวลา แต่พอเรามีสื่อให้เขาเล่น มีตุ๊กตา มีของเล่น มีเพื่อน และมีสนามเด็กเล่นก็ทำให้เขาหยุดและมีพัฒนาการทางด้านอื่นๆ เพิ่มขึ้นมาได้ และการเข้าสังคม พอเข้าสังคมได้จะทำให้เด็กมีพัฒนาการทางด้านภาษาเพิ่มขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่ง การดูแลเด็กที่สมาธิสั้น และติดเกมออนไลน์ ติดโทรทัศน์ ห้ามนำสื่อเหล่านี้มาไว้ที่โรงเรียนเด็ดขาด แล้วพาเด็กไปอ่านหนังสือภาพ หรือศึกษาธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมนอกห้องเรียนแทน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้พัฒนาสมาธิให้เด็กได้ดี พ่อแม่บางคนเลี้ยงลูกด้วยโทรทัศน์มากเกินไป ต้องนำเขาออกจากพฤติกรรมนั้น เด็กเล็กแยกไม่ได้ โอกาสเลียนแบบทั้งผิดถูกมีหมด ดังนั้นอย่าลืมว่าครูต้องปรับพฤติกรรมตนเองให้ดีด้วย”  ผู้ดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโคกสวัสดี จ.สกลนคร กล่าว

              อย่างไรก็ตาม เด็กต้องดูแลเขาอย่างใกล้ชิด ต้องให้เขาเรียนรู้ของเขาเองและต้องให้เข้าอยู่กับสื่อที่เหมาะกับเขาและทำให้เขามีพัฒนาการได้มากที่สุด ศูนย์เด็กเล็กสามารถดูรายละเอียดของกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ ได้ที่ http://www.thaihealth.or.th

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์คมชัดลึกออนไลน์ วันที่ 1กันยายน 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก