ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

หารือกรอบประกันคุณภาพอาเซียนให้ถ่ายโอนหน่วยกิตกันได้

วันที่ลงข่าว: 09/09/15

สมศ.เตรียมประกาศใช้การประเมินภายนอกแบบออนไลน์เดือนตุลาคม ศกนี้ เตรียมแลกเปลี่ยน นศ. ถ่ายโอนหน่วยกิตระหว่างกัน และดึงกลุ่มยุโรปช่วยพัฒนาระบบ คาดส่งผลอุดมศึกษาอาเซียนแข็งแกร่งใน ๕ ปี

 

ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวถึงการประเมินสถานศึกษารอบที่ ๔ ที่เลื่อนออกไปอีก ๑ ปี เพื่อเตรียมความพร้อมการปรับรูปแบบวิธีการประเมินคุณภาพภายนอก โดยลงพื้นที่ตรวจประเมินสถานศึกษาทุกแห่งเป็นการประเมินรูปแบบออนไลน์ จากนั้นจะนำระบบการประเมินแบบใหม่นี้เสนอให้พลเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลด้านการศึกษาพิจารณา ในวันที่ ๑๔ ก.ย.หากผ่านการพิจารณาคาดว่าจะประกาศใช้ระบบประเมินออนไลน์ได้ประมาณกลางเดือน ต.ค. ช่วงครบรอบ ๑๕ ปี การก่อตั้ง สมศ.

ศ.ดร.ชาญณรงค์กล่าวอีกว่า ภายหลังการประชุมเวทีเครือข่ายการประกันคุณภาพอุดมศึกษาอาเซียน +๓ ASEAN Quality Assurance Network (AQAN) ซึ่งมีประเทศสมาชิกอาเซียน และอีก ๓ ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เข้าร่วม ระหว่างวันที่ ๑ – ๓ ก.ย. ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และปัญหาในการดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษา การหารือถึงการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและอาจารย์ ตลอดจนการเคลื่อนย้ายผู้เรียนระหว่างประเทศสมาชิกองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือซีมีโอ ผ่านทางโครงการ Asean International Mobility. Student Program (AIMS) ที่สำคัญคือการถ่ายโอนหน่วยกิตระหว่างกัน

ผอ.สมศ.กล่าวว่า ก้าวต่อไปของ AQAN จะมีการทำข้อตกลงการพัฒนาการประกันคุณภาพการศึกษาภายนอกกับกลุ่มสหภาพยุโรป ซึ่งจะเป็นช่องทางให้มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียนกับยุโรป การประเมินแบบระบบออนไลน์ที่ประเทศเราจะนำมาใช้ จะสอดรับกับโครงการ EU Sharing ของยุโรป เพราะต่อไปเราต้องใช้ไอทีในการเก็บข้อมูลเหมือนที่ยุโรปทำ

ศ.ดร.ชาญณรงค์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ภาพรวมสถานการณ์การประเมินมาตรฐานการศึกษาในอาเซียน ปัจจุบันมีนักศึกษาอุดมศึกษา ๑๘-๒๐ ล้านคน จากจำนวนสถาบันการศึกษากว่า ๖,๐๐๐ แห่ง เป็นสถาบันเอกชน ๕,๕๐๐ แห่ง การประกันคุณภาพการศึกษาจะมีความแตกต่างกัน แบ่งออกเป็นการรับรองมาตรฐาน หรือ Accreditation การติดตามผลและการประเมินขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละประเทศ แต่มีข้อตกลงว่าประเทศสมาชิกจะต้องยอมรับความหลากหลายในวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา และจะต้องหาทางร่วมมือเพื่อสร้างความกลมกลืนด้านอุดมศึกษา และให้นำแนวทางกรอบคุณวุฒิคุณภาพการศึกษา หรือ AQAF ไปสร้างกระบวนการคุณภาพของแต่ละประเทศสมาชิกให้ทัดเทียมกัน

ที่มาของข่าว http://dlfeschool.in.th
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก