ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

'รางวั่ลสมเด็จฟเจ้าฟ้ามหาจักกรี' เชิดชู 'เรือจ้าง' ผู้เปลี่ยนชีวิตศิษย์เสียสละสร้างคุณูปการแก่การศึกษาไทย

วันที่ลงข่าว: 09/09/15

นับเป็นเรื่องยากไม่น้อยสำหรับ “ครู” ผู้ถูกเปรียบเปรยว่าเป็น “เรือจ้าง” ที่ไม่ได้มีหน้าที่เพียง “แจว” เรือข้ามอุปสรรคต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของลูกศิษย์ข้ามไปถึงฝั่งที่มุ่งหวัง เพราะในระหว่างการเดินทาง “ครู” ยังต้องคอย ประสิทธิ์ความรู้ ประสาทวิชา ปลูกฝัง บ่มเพาะ สร้างและพัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆ ของลูกศิษย์แต่ละคนให้พร้อมก่อนจะถึงฝั่ง เพื่อก้าวเดินสู่โลกและชีวิตจริงนอกรั้วโรงเรียนอย่างเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งความมุ่งมั่น และศรัทธาในความดี

 

“ครู” จึงมีบทบาทที่สำคัญยิ่งต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับ “ศิษย์”

 

ในโอกาสที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา ในปี 2558 สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ ได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตจัดตั้งรางวัลระดับนานาชาติเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระปรีชาด้านการศึกษา ที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อส่งเสริมการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนในระดับต่างๆ มาโดยตลอด โดยเฉพาะเด็กเยาวชนผู้ด้อยโอกาสในท้องถิ่นห่างไกลทั่วประเทศ

 

โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตตั้งพระนามรางวัลว่า “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” หรือ Princess Maha Chakri Award และจัดตั้ง “มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” เป็นองค์กรหลักในการคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีในประเทศไทย ที่มีคุณสมบัติเป็นครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ชัด เพื่อให้ได้รับรางวัลและยกย่องเชิดชูเกียรติในระดับนานาชาติ โดยในปีนี้มีครูที่ผ่านการคัดเลือกในระดับ “ครูยิ่งคุณ” จำนวน 17 คน ที่ล้วนแล้วแต่เป็นครูมีคุณูปการต่อการศึกษาไทยทั้งสิ้น

 

หลายท่านแม้จะเกษียณอายุไปแล้วหลายปี แต่ก็ยังทุ่มเทเสียสละปฏิบัติหน้าที่ “ครู” ผู้อุทิศตนเพื่อการศึกษาอย่างต่อเนื่องอย่าง ครูแสวง เอี่ยมองค์ ปูชนียบุคคลด้านการศึกษาของจังหวัดเพชรบุรี ที่ช่วยเหลือเด็กยากจนด้อยโอกาสมาอย่างยาวนานกว่า 3 ชั่วอายุคน และสร้างโรงเรียนธรรมิกวิทยาเพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับคนตาบอด

 

ครูมลิวัลย์ ธรรมแสง อดีต ผอ.ศูนย์การศึกษาพิเศษส่วนกลาง ผู้มุ่งมั่นที่จะทำลายกำแพงเงียบเพื่อเปิดพื้นที่ทางสังคมให้กับผู้พิการทางการได้ยินให้ได้มีที่ยืนอยู่ในสังคมอย่างเต็มภาคภูมิ ผู้คิดค้นพัฒนาภาษามือไทยสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน และช่วยพัฒนาภาษามือให้กับประเทศเพื่อนบ้าน

 

ครูสังคม ทองมี ผอ.ศูนย์ศิลป์สิรินธร จังหวัดเลย แม้จะเกษียณแต่ยังทำสอนโดยใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาจิตใจ สติปัญญา ความคิด โดยปลูกฝังเรื่องคุณธรรมจริยธรรมไปพร้อมๆ กัน เป็นครูต้นแบบที่บ่มเพาะสร้างลูกศิษย์ที่มีจิตวิญญาณของความเป็นครูทำงานในหน้าที่ครูมากมาย

 

ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ผู้คิดค้นหลัก “วนเกษตร” จากจังหวัดฉะเชิงเทรา ครูผู้เปิดบ้านจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้เกษตรกรไทยหลุดพ้นวังวนหนี้สิน สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

 

และครูอีกหลายท่านที่เสียสละทุ่มเทดูแลช่วยเหลือและพัฒนาศักยภาพของลูกศิษย์ในทุกวิถีทางอย่างต่อเนื่องยาวนานมาตลอดทั้งชีวิตอย่าง ครูทิพย์ภาพร เนตรแก้ว แม่ครูของเด็กพิการ จากโรงเรียนศรีสังวาลย์ 

ผู้ทุ่มเทสร้างโอกาสการเรียนรู้ เพื่อให้ลูกศิษย์ยืนหยัดในสังคมได้อย่างเข้มแข็ง

 

ครูเรียม สิงห์ทร ผู้เสียสละพัฒนาเด็กด้อยโอกาสบนดอยสูงของจังหวัดเชียงใหม่ ที่มุ่งมั่นสานต่อคำพ่อหลวง เปลี่ยนวิถีชีวิตชุมชนบนดอยอ่างขางให้กลายพื้นที่เกษตรเมืองหนาวสร้างอาชีพที่ยั่งยืน

 

ครูสุพิทยา เตมียกะลิน จากจังหวัดแม่ฮ่องสอน ผู้พัฒนาเทคนิคการจัดการเรียนการสอนทำให้เด็กชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยงสามารถพูด อ่าน เขียนได้ภายใน 4 เดือน สร้างบรรยากาศการเรียนรู้อย่างมีความสุข และทุ่มเทเพื่อลูกศิษย์ได้รับโอกาสในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น

 

ครูนภากูล ธาตุ ครูผู้สืบสานภูมิปัญญาการแกะสลักผักและผลไม้จากจังหวัดกำแพงเพชร ที่สามารถต่อยอดไปสู่การสร้างอาชีพเติมโอกาสทางการศึกษาให้กับลูกศิษย์โดยมีฝีมือการแกะสลักติดตัว

 

ครูสุลีกาญ ธิแจ้ จากจังหวัดเชียงใหม่ ครูผู้ดูแลเด็กเด็กบกพร่องการเรียนรู้ด้วยหัวใจ ด้วยการค้นหาศักยภาพที่แตกต่างในตัวเด็ก แล้วพัฒนาสื่อการสอนที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

 

ร.ต.ต.สุวิทย์ ช่วยเทวฤทธิ์ ครู ตชด.จากนราธิวาส ครูผู้ทำงานในพื้นที่เสี่ยงอันตราย ยอมเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อช่วยเหลือเด็กนักเรียนด้อยโอกาสให้ได้รับโอกาสทางการศึกษา เพื่อพัฒนาเป็นคนเก่งและเป็นคนดีบนวิถีแห่งความพอเพียงตามแนวพระราชดำริ

 

ครูอรพินท์ แสนรักษ์ จากจังหวัดปัตตานี ที่ทุ่มเทการสอนภาษาไทย 

ในพื้นที่ที่ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาหลัก จนสามารถอ่านออกเขียนได้ในระยะเวลาอันสั้น แม้จะเสี่ยงต่อการถูกปองร้ายด้วยเป็นเป้าหมายอ่อนแอ แต่ก็ไม่เคยท้อและไม่คิดย้ายออกนอกพื้นที่

 

ครูสะเทื้อน นาคเมือง จากจังหวัดกำแพงเพชร ที่เปิดบ้านสร้างคณะลิเก เพื่อรับเด็กด้อยโอกาสเข้ามาอยู่เพื่อหัดลิเกไปพร้อมๆ กับเรียนรู้การใช้ชีวิต พร้อมทั้งหยิบยื่นโอกาสทางการศึกษา

 

ครูวีระยุทธ เพชรประไพ จากจังหวัดนครราชสีมา ที่นำศิลปะมาขัดเกลาและพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนในทุกมิติ เพื่อให้ผู้เรียนได้มองเห็นคุณค่าของตัวเอง โดยเสียสละทุ่มเทจัดการสอนศิลปะให้กับเด็กยากจนด้อยโอกาสทั้งในเวลาและนอกเวลาราชการโดยไม่มีวันหยุด

 

ครูสกล ธรรมวงศ์ จากจังหวัดชัยภูมิ ผู้นำการจัดการเรียนการสอนโครงงานวิทยาศาสตร์มาพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนจนได้รับรางวัลระดับประเทศมาอย่างต่อเนื่อง และผลักดันสร้างศูนย์การเรียนรู้หุ่นยนต์แห่งแรกในภาคอีสาน

 

ครูจุฑามาศ จันทวงษ์วาณิชย์ จากจังหวัดบุรีรัมย์ ผู้ทุ่มเทเสียสละกำลังทรัพย์ส่วนตัวเพื่อช่วยเหลือเด็กๆ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน โดยอุปการะเลี้ยงดูเด็กที่มีฐานะยากจน และมีปัญหาทางครอบครัวจำนวนหลายคนให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาและมีชีวิตที่ดีขึ้น

 

ครูอารีย์ จู่จุ้ยเอี่ยม จากจังหวัดสุรินทร์ ครูผู้สอนวิชาชีวิตควบคู่ไปกับการสอนภาษาอังกฤษด้วยจิตวิทยา เพื่อให้เด็กนักเรียนสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข กล้าคิด กล้าแสดงออก สร้างแรงบันดาลใจในการเรียนต่อในสถาบันอุดมศึกษาให้กับเด็กด้อยโอกาส

 

ครูสมหมาย สำราญบำรุง จากจังหวัดอุดรธานี ครูผู้ไม่ละเลยปัญหาสังคม ขยายผลการสอนเพศศึกษาไปสู่การป้องกันปัญหาเชิงรุกให้กับนักเรียน และตั้งกลุ่มเยาวชนเห็ดขอนขาว ใน 10 อำเภอเพื่อร่วมกันเฝ้าระวังป้องกันปัญหาท้องไม่พร้อมในระหว่างเรียน

 

และมีครูที่ผ่านการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีในระดับ “ครูคุณากร” จำนวน 2 คนคือ “ครูชาตรี สำราญ” จากจังหวัดยะลา ครูผู้สร้างการเรียนรู้ ที่แม้จะเกษียณมานานกว่า 10 ปี แต่ก็ยังอุทิศทั้งชีวิตเป็นครูทุกลมหายใจ เป็นครูต้นแบบการสอนที่ยึดเด็กเป็นตัวตั้ง นำธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นตำราแก้ปัญหาพัฒนาทักษะการอ่านเขียนภาษาไทยโดยใช้การเขียนบทกลอน

 

และ “ครูณัชตา ธรรมธนาคม” จากกรุงเทพฯ ครูผู้ขุดเพชรในโคลนตมทุ่มเทแรงกายแรงใจกว่า 30 ปี พัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนในชุมชนคลองเตย โดยใช้วิชานาฏศิลป์เป็นเครื่องมือต่อยอดการเรียนรู้สร้างโอกาสทางการศึกษา บ่มเพาะพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรม สร้างคนดีด้วยหัวใจ

 

สำหรับครูผู้ที่ได้รับ “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” คนแรกของประเทศไทย เป็นครูจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี “ครูเฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ” ผู้สร้างคนด้วยการพัฒนากระบวนการคิด ปั้นดินจนสะเทือนถึงดวงดาว ออกแบบการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนเกิดทักษะการคิดวิเคราะห์ผ่านการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ จนเกิดผลงานที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกรู้จักประเทศไทยจนมีการนำชื่อของนักเรียนโรงเรียนสุราษฎร์พิทยาจำนวน 3 คน ไปตั้งชื่อดาวเคราะห์น้อย 3 ดวง ที่พบใหม่ในระบบสุริยะจักรวาล

 

ผลงานจากความเสียสละและทุ่มเทของครูแต่ละท่าน สะท้อนให้เห็นว่า “ครู” นอกจากจะเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง

ในทางที่ดีขึ้นให้เกิดกับศิษย์แล้ว เมล็ดพันธุ์แห่งความดีงามที่ปลูกฝังลงไปในจิตใจของลูกศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่า ยังได้ยืนหยัดฝังรากผลิใบแตกหน่องอกงาม ช่วยค้ำชูสังคมไทยให้เกิดความมั่นคงเข้มแข็ง อันเป็นเป้าหมายที่ล้ำค่ามากกว่าคำนิยามว่า “เรือจ้าง”

 

เพราะ “ครู” คือผู้สร้าง “คน” เพื่อให้ “คนดี” เติบโตขึ้นไปพัฒนา “ประเทศ”

 

เมื่อเบ้าหลอมดี แน่นอนว่าอนาคตประเทศชาติก็ดูสดใส

 

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เป็นรางวัลเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้มีผลงานดีเด่น สร้างคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวม 11 ประเทศ (ประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ลาว กัมพูชา พม่า บรูไน และติมอร์เลสเต) ประเทศละ 1 รางวัล จำนวนรวม 11 รางวัล และจะดำเนินการคัดเลือกครูในทุก 2 ปี โดยมีกำหนดงานพระราชทานรางวัลเป็นครั้งแรกในเดือนตุลาคม ปี 2558 นี้

 

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์แนวหน้าออนไลน์ วันที่ 8 กันยายน 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก