ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

นศ.บกพร่องทางการได้ยิน ยึดหลักทุกคนเกิดมาไม่เหมือนกัน ใช้ชีวิตอย่างมีค่า

วันที่ลงข่าว: 02/09/15

 “มีปัญหาทางการได้ยินมาตั้งแต่ 4 ขวบ เนื่องจากมีแมลงเข้าหู และแม่ปฐมพยาบาลผิดวิธี หมอบอกว่า ส่งผลให้ตนเองจะไม่ได้ยิน กลายเป็นผู้บกพร่องทางการได้ยิน ตั้งแต่นั้นมา ตนเองไม่ได้ยิน แต่ถ้าพูดแรงๆ จะได้ยินนิดหน่อย” เรื่องราวผ่านการเล่า น้ำเสียงที่ไม่ชัด บวกอาการท่าทาง ที่ต้องการสื่อให้เกิดความเข้าใจ ของ “น้องแน็ก น.ส.อนุษา ดวงเกิด” นักศึกษาชั้นปีที่ 2 (หลักสูตรต่อเนื่อง) สาขาวิชาเทคโนโลยีงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ นักศึกษาพิการ (บกพร่องทางการได้ยิน) นักศึกษาคนพิการ รางวัลชมเชย รางวัลพระราชทาน ระดับอุดมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2557 ภาคกลาง ผู้มากด้วยรอยยิ้มและความสามารถ อันเป็นที่รักของเพื่อนรวมสาขาวิชา ด้วยความสามารถและความขยันเรียนรู้ ส่งผลให้ได้เป็นตัวแทนภาค 5 จังหวัดนครราชสีมา เข้าร่วม การแข่งขันฝีมือคนพิการแห่งชาติ ครั้งที่ 7 สาขาประดิษฐ์สิ่งของจากวัสดุเหลือใช้ และได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 จากผู้เข้าร่วมการแข่งขัน 12 คนที่ได้รับการคัดเลือกทั่วประเทศไทย

 

แน๊ก เล่าว่า กติกาในการแข่งขันคือการสร้างสรรค์ประดิษฐ์ภาพติดฝาผนัง ด้วยเวลา 6 ชั่วโมง ซึ่งผู้เข้าแข่งขันต้องประดิษฐ์ภาพติดฝาผนังจากวัสดุเหลือใช้ลงในกรอบรูปขนาด กว้าง 60 ซม. ยาว 90 ซม. ลึก 12 ซม. ชิ้นงานสามารถใช้งานได้จริง มีความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบชิ้นงาน สามารถเตรียมหุ่นโครง และตัดเตรียมวัสดุที่จะใช้ประดิษฐ์มาได้ วัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือ ที่ส่วนกลางจัดเตรียมไว้ให้ ได้แก่ โต๊ะทำงานขนาด 0.65 X 0.80 เมตร เก้าอี้ ขนาดปกติทั่วไป คัตเตอร์ ปืนกาว กรรไกร กาวติดกระจก กาวอเนกประสงค์ กาวสำหรับติดกระดาษ และวัสดุเหลือใช้สำหรับการตกแต่ง และผู้เข้าร่วมการแข่งขันยังสามารถเตรียมวัสดุเหลือใช้มาเอง โดยต้องใช้ไม่น้อยกว่า 8 ชนิด วัสดุที่เตรียมไปได้แก่ แก้วพลาสติก ช้อนพลาสติก ช้อนกาแฟพลาสติก กระป๋องน้ำอัดลม ไม้เสียบลูกชิ้น ขอนไม้ ดอกไม้พลาสติกที่เหลือใช้ และกระดาษสา

 

“ใต้ท้องน้ำ” ภาพติดฝาผนังจากเศษวัสดุเหลือใช้ สร้างสรรค์ด้วยเทคนิค การตัด การติด ตัวปลาจากขวดพลาสติก และกระป๋องน้ำอัดลม ดอกบัว จากช้อนและช้อนกาแฟพลาสติก ก้านบัวด้วยไม้เสียบลูกชิ้น ประดับตกแต่งด้วยขอนไม้ เศษดอกไม้พลาสติกที่เหลือใช้ ความพลิ้วไหวของน้ำใต้ท้องน้ำด้วยกระดาษสา ลักษณะเป็นภาพ มองดูแล้วมีมิติ

 

ภูมิใจที่ได้รับรางวัลและดีใจที่ได้เข้าร่วมการแข่งขัน มีเวทีให้ตนเองได้แสดงความสามารถ ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมแข่งขันมีแต่คนเก่งๆ เป็นการเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ และได้นำวิชาความรู้ที่เรียนไปใช้ในการแข่งขันด้วย ชอบเรียนงานทางด้านคหกรรมศาสตร์ หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 โรงเรียนเขตการทางสงเคราะห์ 5 (ไตรคามสิทธิศิลป์) เข้าเรียนที่วิทยาลัยสารพัดช่างบุรีรัมย์ จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพด้วยเกรดเฉลี่ย 3.64 จึงตัดสินใจที่จะเรียนต่อ อยากทำงานเปิดร้านดอกไม้ เป็นธุรกิจของบ้าน นำความรู้ที่ได้จากการเรียนไปใช้ให้เกิดประโยชน์ หาเงินเลี้ยงพ่อแม่ จึงเลือกเรียน สาขาวิชาเทคโนโลยีและงานประดิษฐ์สร้างสรรค์

 

เมื่อเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยฯ ชีวิตในการเรียนไม่เหมือนกับเรียนที่วิทยาลัยสารพัดช่าง เพราะว่า ที่วิทยาลัยจะเน้นในเรื่องการปฏิบัติมากกว่าเรียน แต่ตอนที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย ต้องไปนั่งเรียนรวมกับเพื่อนสาขาวิชาอื่น เช่น วิชาภาษาอังกฤษ ที่ต้องออกเสียง โชคดีที่อาจารย์ให้โอกาส และมีเพื่อนๆ ช่วย ทำให้ผ่านมาได้ อาจารย์และเพื่อนๆ เป็นกันเองมาก โดยคอยให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริมแนะนำกระตุ้นให้พัฒนาตนเอง ในเรื่องของความเป็นตนเองออกมา ตนเองจะทำอะไรช้า เพราะว่าได้ยินเสียงเบากว่าคนอื่น ต้องอ่านปาก “มีบ้างที่เพื่อนแกล้ง” แต่ไม่เคยโกรธเพื่อน เพราะว่า ถ้าไม่มีเพื่อน ตนเองคงไม่ได้มานั่งเรียนในห้องเรียนในมหาวิทยาลัยฯ รวมไปถึงครูอาจารย์ทุกท่าน เวลาที่อาจารย์ดุ เพราะว่า อาจารย์อยากให้ความรู้แก่ตนเอง และอาจารย์ไม่ได้สอนนักศึกษาเพียงคนเดียว ขอบคุณเพื่อนในห้อง ที่มีน้ำใจกับตนเอง คอยให้ความช่วยเหลือ

 

นายรัฐ ชมภูพาน อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ และหนึ่งในอาจารย์ผู้ดูแลฝึกสอน เล่าว่า ตัวนักศึกษาเองเป็นเด็กที่มีอาการบ่งพร่องทางการได้ยิน ซึ่งสามารถสื่อสารได้พอเข้าใจไม่เป็นอุปสรรคในการฝึกซ้อม และยังเป็นนักศึกษาที่มีความตรงต่อเวลา ซึ่งมีไหวพริบในการแก้ปัญหาด้านต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ที่สำคัญยังมีความสามารถทางด้านงานคหกรรมศาสตร์ โดยเฉพาะสาขาวิชาเทคโนโลยีงานประดิษฐ์สร้างสรรค์เป็นอย่างดี ในช่วงที่ฝึกซ้อมมีความกระตือรือร้น และที่สำคัญยังเป็นนักศึกษาที่อารมณ์ดี “อยากให้นักศึกษาหรือวัยรุ่นสมัยนี้เอาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต”

 

“บ้านทำงานรับจ้างติดกระจก ครอบครัวมีลูกทั้งหมด 3 คน ซึ่งตนเองเป็นลูกคนโตของบ้าน จึงอยากจะเรียนสูงๆ นำความรู้ที่เรียนไปประกอบอาชีพ ซึ่งร้านดอกไม้เป็นความฝันของตนเองและครอบครัว ตั้งแต่ตนเองเป็นคนที่มีความบ่งพร่องทางการได้ยิน ตนเองไม่เคยน้อยใจ เรื่องโชคชะตา แต่ถ้ามีโอกาสในการรักษาหายก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าไม่หายตนเองก็ยอมรับ ในสิ่งที่ตนเองเป็น แค่ทุกคนมีความตั้งใจและมีเป้าหมายในการดำเนินชีวิต” น้องแน๊กกล่าวทิ้งท้าย

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์บ้านเมืองออนไลน์ วันที่ 2 กันยายน 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก