ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

กศน.ส่งเสริมคนไทย ‘รู้หนังสือ’ปูรากฐานสังคมยั่งยืน

วันที่ลงข่าว: 01/09/15

           วันที่ 8 กันยายนของทุกปี องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้กำหนดให้เป็น “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” (International Literacy Day : ILD) และเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลองเพื่อระลึกถึงวันดังกล่าว โดยประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกก็ได้จัดกิจกรรมเนื่องโอกาสวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ นับแต่ปี พ.ศ.2510 จนถึงปัจจุบัน

 

           “สังคมใดเป็นสังคมแห่งการรู้หนังสือแล้ว จะทำให้เกิดการพัฒนาในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สุขภาพอนามัย ฯลฯ จุดนี้ถือเป็นหลักการสำคัญที่ยูเนสโกและกลุ่มประเทศสมาชิกเชื่อมั่น ซึ่งในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักบริหารงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เป็นหน่วยงานหลักที่มีบทบาทและหน้าที่ส่งเสริมการรู้หนังสือให้แก่คนไทยทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และเชื่อว่าการส่งเสริมให้คนรู้หนังสือสามารถฟัง อ่าน เขียนได้ ก็จะทำให้เกิดการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ นำไปสู่การพัฒนามนุษย์และสังคมได้ยั่งยืน” นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการ กศน.บอกอย่างเชื่อมั่น

 

           ส่วนบทบาทของสำนักงาน กศน.ในโอกาส “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” นายการุณ เล่าว่า สำนักงาน กศน.เป็นเจ้าภาพขับเคลื่อนกิจกรรมดังกล่าวมาต่อเนื่อง ซึ่งแนวคิดการจัดงานแต่ละปีจะสอดรับกับสารผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก ที่มุ่งหวังให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกเกิดความตระหนักในประเด็นปัญหาเร่งด่วน ที่ประชากรยากจนและด้อยโอกาสส่วนใหญ่ในสังคมโลกกำลังเผชิญ และต้องการได้รับความช่วยเหลือ หรือข้อเสนอแนะทางแก้ปัญหา โดยในปี 2558 นี้ สารของ น.ส.อิรินา โบโกวา ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก ให้ความสำคัญเรื่องการรู้หนังสือเป็นหัวใจหลักที่จะทำสตรีและบุรุษได้รับการพัฒนาที่เข้มแข็งนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกเรื่อง

 

           เพราะฉะนั้นในโอกาส “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ประจำปี 2558 8 กันยายน 2558 นี้ กศน.จึงกำหนดจัดงานภายใต้แนวคิด “การรู้หนังสือกับการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน” (Literacyand Sustainble Societies) โดยส่วนกลางจัดที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต จ.ปทุมธานี และจะจัดในทุกภูมิภาคด้วย มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนของสังคม บุคลากรของสำนักงาน กศน. ภาคีเครือข่าย และประชาชน ได้ตระหนักรู้ถึงความสำคัญ มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและส่งเสริมการรู้หนังสือ เกิดความเข้าใจว่า การรู้หนังสือนั้นเป็นรากฐานของการนำไปใช้แสวงหาความรู้อันจะนำไปสู่การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

 

           “ครั้งนี้จะต่างจากทุกปี เพราะ กศน.ไม่ได้จัดงานแค่เพียงส่วนกลางเท่านั้น แต่จะให้สำนักงาน กศน.จังหวัดเป็นแกนนำจัดกิจกรรมในระดับภูมิภาค โดยร่วมกับสถานศึกษาในสังกัด เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนในภูมิภาค เห็นความสำคัญการรู้หนังสือและช่วยรณรงค์ให้เกิดกระแสการรู้หนังสือของคนไทยทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กปฐมวัยไปจนผู้สูงอายุ ขณะที่กิจกรรมที่เป็นไฮไลท์ประจำทุกปีคือ การอ่านสารผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก สารนายกรัฐมนตรี โดยปีนี้จะอ่านสารพร้อมกันทั่วประเทศ และมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ด้วย" เลขาธิการ กศน.สะท้อนภาพความพิเศษของกิจกรรม

 

           ขณะที่กิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจ นายการุณอธิบายว่า กศน.ได้จัดนิทรรศการทั้งส่วนกลางและภูมิภาค สะท้อนภาพภารกิจของ กศน.และสอดรับกับแนวคิดหลักโดยแบ่งออกเป็น  4ฐาน ได้แก่ 1.กศน.สร้างชาติ แสดงนิทรรศการด้านอาชีพ ซึ่งเป็นฐานในการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ 2.กศน.กับการรู้หนังสือ เน้นการส่งเสริมการอ่านและการจัดทวิศึกษา 3.กศน.ลดความเหลื่อมล้ำ แสดงกิจกรรมด้านการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ไอที การใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน 4.กศน.กับการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และ 5.กศน.กับการจัดการศึกษาเพื่อผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเสวนาวิชาการ การแสดง การประกวดแข่งขัน ทั้งการอ่านหนังสือ การรักการอ่าน และอาชีพ เป็นต้น

 

           “จะมีตัวอย่างกิจกรรมที่ได้อานิสงส์มาจากการอ่านที่นำไปสู่การสร้างอาชีพมาจัดแสดงด้วย โดยเฉพาะกล่องสุดยอดอาชีพที่รวบรวมหนังสือ การประกอบอาชีพต่างๆ อาทิ ทำอาหาร ขนม ทำการเกษตร ซึ่งสำนักงาน กศน.จังหวัดหลายแห่งนำไปดำเนินการและพบว่าประชาชนที่เข้ารับบริการให้ความสนใจ หลายคนมาอ่านก็เกิดไอเดียไปต่อยอดทำอาชีพหลัก อาชีพเสริมได้” นายการุณ กล่าว

 

           ยังมีอีกหนึ่งความตั้งใจที่จะให้เกิดขึ้นผ่านกิจกรรมดังกล่าว เลขาธิการ กศน.ชี้แจงว่า ตั้งใจจะใช้โอกาสพิเศษ “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ประจำปี 2558 ประกาศนโยบายให้ปี 2558 สำนักงาน กศน.จะมุ่งส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนรู้หนังสือไทย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่ไม่รู้หนังสือไทย ลืมหนังสือไทย โดยจะดำเนินการผ่านกิจกรรมการศึกษานอกระบบและกิจกรรมการศึกษาตามอัธยาศัย เน้นจัดการศึกษาแบบขั้นพื้นฐานและการศึกษาแบบต่อเนื่อง โดยจะนำหลักสูตรการรู้หนังสือไทย พ.ศ.2557 มาใช้ประโยชน์ให้เข้มข้นขึ้น รวมไปถึงจะส่งเสริมการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้แก่เด็กปฐมวัยทุกคนผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ เล่นเกม เล่านิทาน เป็นต้น เหล่านี้จะเป็นทักษะพื้นฐานนำไปสู่การพัฒนาตนเองและสังคมได้ต่อเนื่องและยั่งยืน

 

สารจาก น.ส.อิรินา โบโกวา ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก เนื่องในโอกาส “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” 8 กันยายน 2558

 

           วันที่ 8 กันยายนของทุกปี เราชูธงการรู้หนังสือในฐานะที่การรู้หนังสือเป็นสิทธิมนุษยชน เป็นพลังแห่งศักดิ์ศรี และเป็นพื้นฐานของสังคมที่มีความเหนียวแน่น รวมถึงเป็นพื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

           สารปีนี้ นับเป็นสารที่มีความสำคัญยิ่งเป็นพิเศษ เมื่อนานาประเทศจะรับวาระใหม่ว่าด้วยแนวทางการศึกษา และการพัฒนาในอีก 15 ปีข้างหน้า ซึ่งการส่งเสริมการรู้หนังสือต้องเป็นหัวใจหลักของวาระใหม่นี้ โดยทำให้สตรีและบุรุษแต่ละคนมีความเข้มแข็ง ช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและมีความรุดหน้าในทุกเรื่อง นับตั้งแต่เรื่องการดูแลสุขภาพ ความปลอดภัยในโภชนาการที่ดีขึ้น ตลอดจนถึงเรื่องการขจัดความยากจนและการส่งเสริมการมีงานทำที่เหมาะสม

 

           ทั่วโลกมีความก้าวหน้าด้านการรู้หนังสือ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 เป็นต้นมา แต่กระนั้นการรู้หนังสือก็ยังคงเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เนื่องจากปัจจุบัน ผู้ใหญ่จำนวน 757 ล้านคน ยังขาดทักษะการรู้หนังสือขั้นพื้นฐาน โดยสองในสามของจำนวนนี้เป็นสตรี นอกจากนั้นจำนวนเด็กและวัยรุ่นที่อยู่นอกระบบโรงเรียนทั่วโลกกำลังเพิ่มจำนวนสูงขึ้นถึง 124 ล้านคน และยังพบว่า เป็นเด็กวัยประถมศึกษาจำนวนถึง 250 ล้านคน ขาดทักษะการรู้หนังสือขั้นพื้นฐานที่ดีพอ แม้จะยังอยู่ในระบบโรงเรียนก็ตาม เราไม่สามารถให้เรื่องเช่นนี้ดำเนินต่อไปได้อีก เนื่องจากการรู้หนังสือจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเข้าถึงเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนตามที่กำหนดไว้ เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อปวงชนอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพ

 

           ทั้งหมดนี้คือสารยูเนสโก เนื่องในวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ และเพื่อให้สตรีและบุรุษได้มีส่วนร่วมในสังคมอย่างเต็มที่ เราจึงจำเป็นต้องลงทุนให้มากขึ้น พร้อมทั้งนำนโยบายสู่การปฏิบัติด้านการรู้หนังสือที่มีประสิทธิผลยิ่งขึ้น ภายใต้นโยบายการพัฒนาที่กว้างขึ้น โดยใช้กลไกเชิงนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดการผนึกกำลังในเชิงสร้างสรรค์ของนโยบายในทุกด้านที่สำคัญต่อการสร้างสังคมที่เป็นธรรม และมีความเหนียวแน่นมากยิ่งขึ้น ด้วยสิ่งนี้จำเป็นอย่างยิ่งต่อความพยายามทั้งมวลในการสร้างอนาคตเพื่อปวงชนให้ดีขึ้น บนพื้นฐานของสิทธิและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์

 

โดย: : เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์มคมชัดลึกออนไลน์ วันที่ 1 กันยายน 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก