ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สภาวิศวกรไทยเตรียมเพิ่มวิศวกร ๑๗ สาขารองรับการแข่งขันในอาเซียน

วันที่ลงข่าว: 01/09/15

การเปิดเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี ๗ วิชาชีพ และ ๑ กลุ่มวิชาชีพ ทำให้กลุ่มแรงงานในแต่ละวิชาชีพและหน่วยงานที่ควบคุมดูแลวิชาชีพเหล่านั้นต้องเร่งปรับตัวเพื่อความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

 

สภาวิศวกรซึ่งควบคุมดูแลวิชาชีพวิศวกรได้ดำเนินการเร่งแก้ไขกฎหมายหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมเพิ่มเติมอีก ๑๗ สาขา ในขณะที่เร่งดำเนินการขึ้นทะเบียนวิศวกรอาเซียนให้แก่วิศวกรไทย

แต่เดิม การกำหนดวิชาชีพวิศวกรรม เป็นไปตามตามมาตรา ๔ พระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. ๒๕๔๒ กำหนดวิชาชีพวิศวกรรมไว้ ๕ สาขา คือ โยธา เหมืองแร่ เครื่องกล ไฟฟ้า อุตสาหการ ต่อมาได้ออกกฎกระทรวง พ.ศ. ๒๕๕๐ กำหนดเพิ่มอีก ๒ สาขา คือ สิ่งแวดล้อมและเคมี

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สภาวิศวกรได้เปิดประชาพิจารณ์ร่างกฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมเพิ่มเติม อีก ๑๗ สาขา ได้แก่ (๑) อากาศยาน (๒) ชีวการแพทย์ (๓) อาหาร (๔) เกษตร (๕) บำรุงรักษาอาคาร (๖) อัคคีภัย (๗) สารสนเทศ (๘) คอมพิวเตอร์ (๙) ปีโตรเลียม (๑๐) สำรวจ (๑๑) แหล่งน้ำ (๑๒) ชายฝั่ง (๑๓) แมคคาทรอนิกส์ (๑๔) ยานยนต์ (๑๕) ต่อเรือ (๑๖) พลังงาน และ(๑๗) ระบบราง

นายกมล ตรรกบุตร นายกสภาวิศวกร ระบุว่า ปลายปี ๒๕๕๘ อาเซียนจะเปิดเสรีด้านบริการทางวิศวกรรม จึงต้องสร้างความชัดเจนว่าวิชาชีพวิศวกรรมของไทยมีสาขาใดบ้างเพื่อสภา ฯ จะได้กำหนดแนวทางด้านการส่งเสริม คุ้มครองและควบคุม อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจและการแข่งขันในอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์มีวิศวกรถึง ๑๒ สาขา

นายกสภาวิศวกรเปิดเผยว่า สภาวิศวกรมีแผนที่จะเร่งรัดและสนับสนุนการขึ้นทะเบียนวิศวกรอาเซียน เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในช่วงสิ้นปีนี้ และรองรับการเข้ามาแข่งขันของวิศวกรจากชาติอื่นในอาเซียน ปัจจุบันมีวิศวกรไทยที่ขึ้นทะเบียนเป็นวิศวกรอาเซียนแล้ว ๔๐ ราย

ที่มาของข่าว http://dlfeschool.in.th
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก