ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

อ้อมกอดด้วย'รัก' จากใจครูสู่ 'เด็กบกพร่องการเรียนรู้' 'สุลีกาญ ธิแจ้' ท่องคาถา '5อ.2 ท. ' พัฒนาคนดีสู่สังคม

วันที่ลงข่าว: 01/09/15
ครูสุลีกาญ ธิแจ้ ครูผู้สอนคนพิการและเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
“ให้ความอบอุ่นกับเขาเหมือนแม่รักลูก เด็กจะมีความรู้สึกว่าสมองเขาเปิดเวลาเราสัมผัสจับต้องตัวเขา ต้องให้ความอบอุ่นกับเขา เขาก็เหมือนเราถ้าใครมาจับมากอดเราก็รู้สึกอบอุ่น รู้สึกดี เมื่อเด็กรู้สึกดีเขาก็จะรู้สึกอยากที่จะเรียน”
 
เป็นเทคนิคที่ง่ายๆ แต่สำคัญมากในการสอนเด็กบกพร่องการเรียนรู้ของ “ครูแจ้” นางสุลีกาญ ธิแจ้ จากโรงเรียนวัดช่างเคี่ยน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อครูผู้สมควรได้รับพระราชทาน “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” และผ่านการพิจารณาให้ได้รับรางวัลในระดับ “ครูยิ่งคุณ” ประจำปี 2558 ของ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และ กระทรวงศึกษาธิการ
 
จากเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่กล้ามเนื้ออ่อนแรง เดินเหินเดินไม่คล่อง ต้องขี่หลังพ่อไปโรงเรียน ทำให้เด็กหญิงแจ้เป็นที่รักและสงสารของครูผู้สอนในชั้น ป.1 ที่คอยดู
ป้อนข้าวให้นั่งตัก ความอบอุ่นที่ได้รับในครั้งนั้นเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เธออยากเป็นครู เพื่อที่จะได้ให้ความรักความอบอุ่นแก่เด็กๆ เหมือนที่เคยได้รับ
 
 
 
หลังจากเรียนจบ “ครูแจ้” ก็เริ่มอาชีพด้วยการเป็น “ครูอาสา” สอนเด็กบนดอย จนกระทั่งได้รับการบรรจุเป็นครูสมอย่างที่ตั้งใจที่จังหวัดน่าน และที่นั่นเองทำให้ได้เจอกับเด็กบกพร่องทางสติปัญญา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เริ่มหันมาสนใจวิธีการจัดการเรียนการสอนให้แก่เด็กพิเศษกลุ่มนี้
 
“ไปบรรจุครั้งแรกที่น่าน ก็เจอเด็กเอ๋อ เป็นเด็กที่เขามัดเอาไว้ที่บ้าน เวลาหลุดออกมาเขาก็จะมาเกาะหน้าต่างเพราะเราสอนเด็กเล็กๆ อยู่ เขามาเกาะหน้าต่างบ่อยๆ มองมาที่เราเหมือนเขาอยากเรียน เหมือนเขาอยากทำ ก็เลยชวนเขามานั่งในห้อง แล้วก็ยื่นกระดาษยื่นอะไรให้เขา พอเขาก็เห็นคนอื่นทำเขาก็ทำได้เขาก็เรียนรู้ได้ แล้วทำไมต้องมัดไว้”
 
ด้วยประสบการณ์สอนในหลายๆ โรงเรียน เพราะต้องย้ายตามครอบครัว ทำให้ “ครูแจ้” สังเกตเห็นว่า ในทุกๆ ที่ล้วนมีเด็กบกพร่องทางการเรียนรู้อยู่ทั้งนั้น บางคนอาจมีลักษณะให้เห็นได้ชัด แต่บางคนก็อาจมองไม่ออก ซึ่งเด็กเหล่านี้กลายเป็น “เด็กขี้เกียจ” ในสายตาครูและคนทั่วไป แต่ในความเป็นจริงแล้วเด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กที่เรียนรู้ได้ช้า ซึ่งเขาได้รับความใส่ใจ สนใจ ให้ความรัก ความอบอุ่นพวกเขาก็สามารถที่จะเรียนรู้ได้เหมือนกับเด็กคนอื่นๆ และอยากที่จะมาโรงเรียนเพื่อเรียนหนังสือมากขึ้น
 
กระทั่งในปี 2532 เมื่อย้ายมาสอนที่โรงเรียนวัดช่างเคี่ยน ณ ที่แห่งนี้มี “เด็กพิเศษ” ที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้เข้าเรียนอยู่ในชั้นร่วมกับเด็กทั่วไป “ครูแจ้” จึงได้มีโอกาสได้สอนเด็กเหล่านี้อย่างจริงจัง จนกระทั่งปี 2542 ได้มีนโยบายในการรับเด็กออทิสติกเข้ามาเรียนร่วมกับเด็กทั่วไปจนเกิดการสอนที่เป็นรูปธรรมสำหรับเด็กพิเศษ ส่งผลให้ “ครูแจ้” เกิดความสนใจในเด็กกลุ่มนี้มากยิ่งขึ้น
 
โดยได้ไปศึกษาต่อเพิ่มเติมด้านการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษจนกระทั่งสามารถพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กพิเศษโดยเฉพาะขึ้นมาที่เรียกว่า แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (Individualize Education Program : IEP)ใช้กระบวนการจัดการเรียนการสอน 6 ขั้นตอน ภายใต้สโลแกนว่า “ความบกพร่องของเด็กเป็นตัวตั้ง บุคลากรที่เกี่ยวข้องเป็นตัวหาร นวัตกรรมเป็นตัวดำเนินการ ผู้เชี่ยวชาญคือครูเป็นตัวช่วย เสร็จสรรพด้วยการส่งต่อ”
 
“แผนการสอนที่ครูจะนำใช้กับเด็กเหล่านี้ ถ้ามันจะได้ผล มันไม่ได้เกิดจากที่เราใช้หรือมีสื่อราคาแพงแต่อย่างใด สิ่งที่สำคัญคือเราต้องเปิดใจ ถ้าใจเราไม่เปิดรับเขาก็ไม่มีทางที่จะประสบผลสำเร็จในการเรียนการสอน ฉะนั้นใจเราจะต้องเปิดมาก่อนเลย” ครูแจ้กล่าวถึงหัวใจสำคัญของการจัดการเรียนการสอน
 
โดย “ครูแจ้” เป็นนักออกแบบและพัฒนาสื่อที่สามารถสร้างสรรค์สื่อให้จากวัสดุที่หยิบหาได้ทั่วไปและมีราคาถูกมาใช้สอนเด็ก ทำให้ท้ายรถของ “ครูแจ้” จะมีสื่อการสอนที่สร้างไว้มากมายเพราะนอกจากที่ใช้เป็นตัวอย่างสื่อประกอบการบรรยายในฐานะวิทยากรที่ต้องตระเวนบรรยายแทบทุกสัปดาห์อยู่แล้ว และยังใช้โอกาสนี้นำสื่อที่ผลิตขึ้นไปทดสอบใช้กับเด็กๆ ที่ขับรถไปพบเจอ
 
“ตอนนี้สื่อของครูมีเต็มรถ เด็กบางครั้งอาจจะไม่พร้อมที่มาหาเรา ด้วยความยากจน ด้วยความลำบาก เลยความคิดที่อยากเปิดท้ายรถ เห็นเขาเปิดท้ายขายของเราเปิดท้ายรถสอนเด็กดีไหม” ครูแจ้เล่าถึงโครงการในอนาคตซึ่งยังอยากช่วยเหลือสอนเด็กกลุ่มนี้ต่อไปเรื่อยๆ ให้ได้รับอากาสในการพัฒนาตัวเอง
 
จากประสบการณ์ที่ทำงานกับเด็กพิเศษมายาวนาน “ครูแจ้” ได้สังเคราะห์บทเรียนออกมาเป็นเทคนิคและกลยุทธ คือ “เปิดใจ” และ “คาถา 5 อ. 2 ท.” ที่สามารถใช้ได้กับการจัดการเรียนการสอนเด็กพิเศษอย่างแท้จริง ประกอบไปด้วย “โอกาส” ให้เด็กทุกคนได้โอกาสได้เรียนได้รู้ “อบอุ่น” ให้ความรักความอบอุ่นเขาเหมือนแม่สอนลูก “อดทน” อดทนในการรอคอย อดทนในการเด็กเขียนช้า อ่านช้า อดทนในพฤติกรรมที่เขาก้าวร้าวทำร้ายเรา “อภัย” ให้อภัยพฤติกรรมก้าวร้าวอ่านช้า เรียนรู้ช้า “อ่อนโยน” ใช้ความอ่อนโยนกับเด็กในการวางข้อกำหนดข้อตกลงต่างๆ โดยทำแบบ 2 ท. คือ “ทำด้วยใจ” และ “ทำต่อเนื่อง”
 
จากการสอนดังความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับลูกศิษย์ “นายทศพล แสนกอ” เด็กออทิสติกผู้ก้าวร้าวที่ได้รับความรักและเอาใจใส่จนได้รับรางวัล “เด็กออทิสติกพัฒนาการดีเด่น” ที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษและเยอรมัน ได้อย่างดีมากจนเป็นตัวแทนไปแข่งขันทักษะวิชาการระดับประเทศได้
 
“ถ้าอยากถามว่าลูกศิษย์ครูแจ้คนไหนก่อนหน้านั้นก้าวร้าว ควบคุมอารมณ์ยาก พฤติกรรมรุนแรงแล้วพัฒนาตนเอง ควบคุมตนเองจนเป็นคนที่สร้างชื่อเสียงทางวิชาการได้ ก็ผมนายทศพล นี่แหละครับ” “น้องพึ่ง” นายทศพล แสนกอ ลูกศิษย์ครูแจ้ ซึ่งปัจจุบันศึกษาอยู่ที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว
 
 
โดย “ครูสุลีกาญ ธิแจ้” ยังได้ฝากข้อคิดทิ้งท้ายต่างๆ ให้กับครูรุ่นใหม่ที่จะก้าวเข้ามาทำงานกับเด็กพิเศษนี้ว่า “การทำงานกับคนพิการหรือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ต้องเปิดใจรับข้อบกพร่อง เปิดใจรับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ ถ้าเราเปิดใจตรงนี้เราจะจัดการทุกๆ เรื่องในตัวเด็กได้ และยอมรับถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ที่มีการเรียนรู้และลีลาในการเรียนต่างกัน”
 
ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์บ้านเมืองออนไลน์ วันที่ 1 กันยายน 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก