ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

กระทรวงไอซีที ร่วมกับ ITU จัดประชุมเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย

วันที่ลงข่าว: 24/08/15

วันนี้ (22 สิงหาคม 2558) สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU (International Telecommunication Union) ซึ่งเป็นองค์กรชำนาญพิเศษภายใต้สหประชาชาติและมีความเชี่ยวชาญในเรื่องโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จัดการประชุมในหัวข้อเรื่อง เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย เพื่อเรียนรู้จากประสบการณ์ของต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียน ในการผลักดันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล หรือสังคมดิจิทัล ในประเทศนั้นๆ รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างทั้งในและต่างประเทศเกี่ยวกับนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย และเสริมสร้างเครือข่ายเพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างหน่วยงานและองค์กรต่างๆในประเทศไทย และสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศ

 

สำหรับนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy) เป็นนโยบายที่สำคัญเกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม และการขับเคลื่อนเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาธุรกิจการสื่อสารของประเทศไทยในอนาคต ที่จำเป็นต้องมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล* โดยมีเป้าหมาย การครอบคลุมทุกพื้นที่ การมีขนาดที่พอเพียงกับการใช้งาน มีเสถียรภาพที่มั่นคง ในราคาที่เหมาะสม เพื่อเป็นพื้นฐานไปสู่การต่อยอดกิจกรรมการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

 

นโยบายของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2557 ในส่วนของนโยบายในการสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลได้กำหนดนโยบายให้มีการส่งเสริมภาคเศรษฐกิจดิจิทัล และวางรากฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศอย่างจริงจัง ซึ่งจะทำให้ทุกภาคเศรษฐกิจก้าวหน้าไปได้ทันโลกและสามารถแข่งขันในโลกสมัยใหม่ได้ ทั้งด้านการผลิต และการค้าผลิตภัณฑ์ดิจิทัลโดยตรง และการใช้ดิจิทัลให้รองรับการให้บริการของภาคธุรกิจการเงินและธุรกิจบริการอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคสื่อสาร และบันเทิง ตลอดจนการใช้ดิจิทัลรองรับการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์

 

กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้เริ่มดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้สอดคล้องกับกรอบแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลที่ได้กำหนดเบื้องต้นเป็น 5 ด้าน ได้แก่ 

1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ (Hard Infrastructure) ให้มีความทันสมัย มีคุณภาพ มีเสถียรภาพ และมีขนาดเพียงพอสามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่องคลอบคลุมทุกพื้นที่ในระดับราคาที่เหมาะสมเอื้อต่อการเข้าถึงและใช้งานของประชาชนในทุกชุมชน และภาคธุรกิจกลุ่มต่างๆ

 

2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรฐาน (Soft Infrastructure) เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัย และความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับผู้ประกอบการ และผู้ทำงาน ซึ่งถือได้ว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล และเป็นบทบาทหน้าที่หลักของภาครัฐในการอำนวยความสะดวกให้กับภาคส่วนต่างๆ

 

3. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการบริการ (Service Infrastructure) เป็นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างแพลตฟอร์มการให้บริการ (Service Platform) และนวัตกรรมการบริการ (Service Innovation) ของภาครัฐและเอกชน

 

4. การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Economy Promotion) โดยมุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศสำหรับธุรกิจดิจิทัล (Digital Business Ecosystem) ควบคู่กับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในเชิงธุรกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล โดยเป้าหมายในระยะสั้น คือ การยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทย และในระยะยาว คือการขยายฐานเศรษฐกิจ และอัตราการจ้างงานของไทยอย่างยั่งยืน

 

5. การส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากดิจิทัล (Digital Society) โดยมุ่งหวังที่จะสร้างสังคมดิจิทัลให้เกิดขึ้นในประเทศไทยโดยเร็วเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางโอกาสของประชาชนที่เกิดจากการเข้าไม่ถึงโครงสร้างพื้นฐานด้วยความห่างไกล การขาดการออกแบบระบบที่เหมาะสมตามหลักการออกแบบที่เป็นสากลสำหรับผู้พิการ การขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยี หรือการไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านเทคโนโลยีที่มีราคาสูงเกินเป้าหมายเมื่อเข้าสู่ยุค Digital Economy

 

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก