ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

อาชีวะไทย-ลาวปั้นเด็กช่างสู่ตลาดแรงงานอาเซียน

วันที่ลงข่าว: 21/08/15

ไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ร่วมมือกันผลิตแรงงานช่างเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะมาถึงในอีกประมาณ ๖ เดือนข้างหน้า โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีพันธสัญญาร่วมพัฒนาจัดการศึกษาอาชีวศึกษาในทุกด้าน อาทิ หลักสูตรการเรียนการสอน วัสดุ สื่อ การพัฒนาครู นักเรียน นักศึกษา ฯลฯ

 

เมื่อเร็วๆ นี้ นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ซึ่งนำคณะผู้บริหารวิทยาลัยเทคนิค (วท.) น่าน วท.กุมภวาปี และวท.ลำปาง เดินทางไปติดตามความก้าวหน้าที่วิทยาลัยเทคนิควิชาชีพหลวงพระบาง สปป.ลาว รวมถึงเยี่ยมและพูดคุยกับนักศึกษาอาชีวศึกษาที่ปฏิบัติงาน ณ โรงไฟฟ้าหงสา แขวงไซยะบุรี เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา สอศ.เตรียมพร้อมให้เด็กอาชีวะมาต่อเนื่อง และยังร่วมมือกลุ่มประเทศอาเซียนในการเตรียมพร้อมพัฒนากำลังคนด้วย ในส่วนที่ร่วมกับลาวเดินหน้าด้วยดี มีวิทยาลัยในสังกัด สอศ.ที่มีศักยภาพ ๒๕ แห่ง จับคู่กับ ๑๖ สถานศึกษาของลาวที่มีชายแดนใกล้กันร่วมกันพัฒนาการจัดการศึกษาตามกรอบที่วางไว้ มีการแลกเปลี่ยนนักเรียน นักศึกษาลาวมาเรียนที่ในวิทยาลัยของไทยด้วย และจากที่ได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการที่ วท.วิชาชีพหลวงพระบางพบว่า อุปกรณ์ต่างๆ ทั้งที่รัฐบาลไทยและ สอศ.สนับสนุนก็ถูกนำมาช่วยให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพขึ้น

นายชัยพฤกษ์กล่าวว่า เวลานี้ลาวกำลังต้องการแรงงานสาขาช่าง อาทิ สาขาช่างไฟฟ้า ช่างยนต์ ช่างเชื่อม ฯลฯ เพื่อป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าหงสาที่เพิ่งเริ่มเฟสแรกได้เพียง ๑ เดือน แต่มีเป้าหมายว่า ๒๕ ปีข้างหน้าโรงไฟฟ้าต้องมีแรงงานลาวในสัดส่วนร้อยละ ๘๐ ปัจจุบันแรงงานส่วนใหญ่มาจากประเทศอื่น รวมถึงเด็กอาชีวะไทย เพราะวิทยาลัยผลิตบุคลากรได้เพียงพอ ฉะนั้น สอศ.ก็ได้หารือกับทาง วท.วิชาชีพหลวงพระบาง จะช่วยพัฒนากำลังคนสาขาที่เป็นความต้องการหลัก รวมถึงสาขาอื่นๆ ต่อไป

“ตอนนี้มีเด็กอาชีวะไทยรุ่นแรกที่ได้ทำงานในโรงไฟฟ้า ๒๐ คน จบระดับ ปวส.ในหลายสาขา อาทิ ช่างยนต์ ช่างกลโรงงาน ช่างเชื่อม ช่างไฟฟ้า จาก วท.น่าน และ วท.ลำปาง ซึ่งทุกคนผ่านการทดสอบโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และการอบรมจากวิทยากรของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และเร็วๆ นี้จะคัดเลือกเด็ก ปวส.ปี ๒ อีก ๘๐ คน ให้มาเรียนและฝึกปฏิบัติจริงที่นี่ เรียนจบทำงานต่อทันที แต่ระหว่างฝึกงานก็ได้รับเงินเดือน ซึ่งความร่วมมือนี้ได้ประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย ไทยได้ความมั่นคงเรื่องกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจำหน่ายให้สูงถึง ๑,๔๗๓ เมกะวัตต์ เชื่อมความสัมพันธ์แน่นแฟ้น เด็กอาชีวะในพื้นที่แนวชายแดนได้ทำงานใกล้บ้าน ได้สัมผัสระบบงานที่เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งจะเป็นใบเบิกทางไปสู่การสร้างรายได้ที่ดีในอนาคต” เลขาธิการ กอศ.กล่าว

ขณะที่ “บุญเที่ยง ทิบสะหวัน” ผอ.วท.วิชาชีพหลวงพระบาง กล่าวว่า เวลานี้รัฐบาล สปป.ลาวมีนโยบายจะเพิ่มผู้เรียนสายอาชีพระดับ ปวช.มากขึ้น โดยมีการให้ทุนการศึกษาเรียนฟรีเพื่อจูงใจให้เด็กที่จบระดับมัธยมต้นหันมาเรียนสายอาชีพมากขึ้น ซึ่งได้รับการตอบสนองดีมาก โดยปีนี้มีผู้สมัครเรียนถึง ๒,๖๐๐ คน แต่รับได้เพียง ๑,๙๐๔ คน ส่วนปีการศึกษา ๒๕๕๗ ที่ผ่านมามีผู้เรียน ๑,๘๕๐ คน

 

“สาขาที่เราเร่งผลิตเพิ่มคือ ช่างเชื่อม ช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า เพื่อป้อนเข้าสู่โรงงานไฟฟ้า เพราะที่ผลิตอยู่เวลานี้ยังไม่เพียงพอ ซึ่งตลอดมาจนถึงเวลานี้ก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากรัฐบาลไทย สอศ.ทั้งด้านหลักสูตร อุปกรณ์และสื่อการสอน อบรมพัฒนาครู แลกเปลี่ยนการเรียนการสอนพัฒนานักเรียน นักศึกษา เพราะเป้าหมายของเราเด็กทุกคนจบไปต้องทำงานได้” นายบุญเที่ยงกล่าว

 

 

ที่มาของข่าว http://dlfeschool.in.th
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก