ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

คนต่างชาติเข้าประเทศไทยเพิ่มหลังเปิดเออีซี เพื่อนบ้านอาเซียนมากที่สุด

วันที่ลงข่าว: 21/08/15

การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปี ๒๕๕๘ ย่อมส่งผลให้การโยกย้ายถิ่นฐานไปมาระหว่างประเทศในภูมิภาคมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งในแง่การเคลื่อนย้ายการลงทุนและวิชาชีพ ๗ ประเภท

 

ข้อมูลจากรายงานการย้ายถิ่นของประเทศไทยปี ๒๕๕๗ จัดทำโดยคณะทำงานเฉพาะเรื่องแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการย้ายถิ่นของประเทศไทย ประมาณการว่าในปี ๒๕๕๖ มีชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในไทย ๓.๕ – ๔ ล้านคน เป็นแรงงานที่มีงานทำราว ๓.๒๕ ล้านคน ในจำนวนดังกล่าว ราว ๒.๖๗ ล้านคน มาจากแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน ๓ สัญชาติคือ กัมพูชา ลาว และเมียนม่า

แรงงานต่างชาติที่ถือใบอนุญาตทำงานในอาชีพที่ใช้ทักษะฝีมือมีจำนวน ๙.๒ หมื่นคน ราว ๘ หมื่นคน เป็นแรงงานระดับผู้จัดการ เจ้าหน้าที่อาวุโส และผู้ประกอบวิชาชีพ โดยกลุ่มผู้จัดการและเจ้าหน้าที่อาวุโสส่วนใหญ่เป็นชาวญี่ปุ่นและอินเดีย ขณะที่ผู้ประกอบวิชาชีพส่วนใหญ่เป็นชาวฟิลิปปินส์

ขณะที่จำนวนนักศึกษาต่างชาติในไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนักศึกษาจีนเพิ่มขึ้น ๒ เท่า ระหว่างช่วงปี ๒๕๕๐ – ๒๕๕๓ ขณะเดียวกันในปี ๒๕๕๓ ก็มีนักศึกษาจากแถบอาเซียนเข้ามาศึกษาในไทยจำนวนมาก จากเมียนมา ๑,๓๑๐ คน เวียดนาม ๑,๑๐๐ คน และกัมพูชา ๙๔๔ คน แม้อัตราการเปลี่ยนแปลงจะช้ากว่าสิงคโปร์และมาเลเซีย ก็ถือเป็นแนวโน้มของการเคลื่อนย้ายหลังเปิดประชาคมอาเซียน

ไทยต้องการแรงงานจากต่างประเทศเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและธุรกิจ ทดแทนแรงงานไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทั้งนี้นายจ้างอาจเรียกร้องให้มีการเปิดเสรีในวิชาชีพอื่นๆ นอกเหนือจาก ๗ วิชาชีพ และ ๑ กลุ่มวิชาชีพที่ได้จัดทำเอ็มอาร์เอไปแล้ว

ที่ผ่านมานโยบายการรองรับการย้ายถิ่นของประเทศไทยถือว่าประสพความสำเร็จในการจัดระบบลงทะเบียนแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างเป็นมาตรฐาน ทำให้แรงงานเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ถูกต้องตามกฎหมาย นอกเหนือจากแรงงานกัมพูชา ลาวและพม่าแล้ว ปัจจุบันไทยได้ลงนามกับประเทศเวียดนามรับแรงงานเข้ามาทำงานได้เช่นกัน

ที่มาของข่าว http://dlfeschool.in.th
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก