ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

“ทิพย์ภาพร เนตรแก้ว” แม่ครูของเด็กผู้พิการ

วันที่ลงข่าว: 17/08/15

ปิดทองหลังพระ มุมานะสร้างคนดีกลับคืนสู่สังคม

 

หากเราต้องอยู่ในสภาวะพิการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เราจะต้องใช้พลังกายพลังใจ ความอดทนมากขนาดไหนที่จะใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างปกติโดยพึ่งพาผู้อื่นให้น้อยที่สุด? ซึ่งการที่จะทำให้ผู้พิการสามารถยืนหยัดในสังคมได้อย่างเข้มแข็ง นอกจากต้องได้รับกำลังใจอันเต็มเปี่ยมครอบครัวแล้ว ทักษะความรู้และความสามารถต่างๆ ที่ได้รับจากสถานศึกษาที่ดูแลผู้พิการ ก็เป็นหัวใจสำคัญจะช่วยทำให้พวกเขาเหล่านั้นสามารถนำความรู้ความสามารถมาช่วยเหลือดูแลตัวเอง และสังคมได้อย่างภาคภูมิใจ

 

“ครูโป้” หรือ “ทิพย์ภาพร เนตรแก้ว” ครูผู้ดูแลเด็กพิการด้านแขนขาและกล้ามเนื้ออ่อนแรงจาก โรงเรียนศรีสังวาลย์ มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการ ในพระราชูปถัมภ์ ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ผู้มุ่งมั่นดูแลลูกศิษย์ที่ด้อยโอกาสด้านร่างกาย จนเป็นอีกหนึ่งในผู้ได้รับการเสนอชื่อครูผู้สมควรได้รับพระราชทาน “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” 

 

“สมเด็จย่าทรงเป็นครูแห่งชีวิต” ครูโป้เล่าถึงแรงบันดาลใจจนเป็นจุดหักเหของชีวิตในการเป็นครู พร้อมกับเล่าย้อนชีวิตวัยเด็กว่า “...ตอนเด็กๆ เป็นคนไม่เอาถ่าน เกเร ไม่ชอบเรียนหนังสือ เรียนจบ ปวช. ก็ถูกส่งมาฝึกงานที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ ก็ทำไปตามหน้าที่แบบไม่มีจุดหมายในชีวิต จนวันหนึ่งได้เข้าไปในห้องสมุดตามลำพัง และได้เห็นพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จย่าฯ ที่ทรงกำลังก้มหยิบว่าวหรืออะไรสักอย่างในมือเด็กพิการ ในวินาทีนั้นทำให้เราคิดว่า ขนาดพระองค์มีภาระมากมาย ท่านยังให้ความรักความสนใจดูแลเด็กพิการอย่างดี แล้วทำไมเราถึงจะทำไม่ได้”

 

 

 วินาทีนั้น “ครูโป้” ตั้งปณิธานไว้อย่างหนักแน่นว่า จะทำตัวให้เป็นประโยชน์ จะตั้งใจทำงาน และจะต้องเป็นครูที่ดีให้ได้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเหลือพระองค์ท่านไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ตอนนั้นทำให้ตัดสินใจเรียนต่อด้านวิชาชีพครู และสอบชิงทุนเรียนต่อระดับปริญญาโท ด้านจิตวิทยาการศึกษาพิเศษ เพื่อนำวิชาความรู้เหล่านั้นมาใช้กับเด็กพิการให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

 

 

 “...ในการทำงานจะคิดอยู่เสมอว่า จะทำอย่างไรให้คนพิการเหล่านี้ได้ใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเป็นสุข โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น ไม่เป็นภาระต่อสังคมและประเทศชาติ ดังนั้นการสอนเด็กเหล่านี้ไม่ใช่มุ่งแต่จะให้วิชาความรู้ แต่จำเป็นต้องพัฒนาพฤติกรรมและศักยภาพของเขาควบคู่กันไปด้วย” 

 

ในการสอนของครูโป้มีวิธีการประเมินผลเด็กๆ เป็นรายบุคคลตามศักยภาพและความแตกต่างของเด็กๆ เพราะแต่ละคนจะมีความผิดปกติที่แตกต่างกัน จึงต้องค้นคว้าหาเทคนิค อุปกรณ์ นวัตกรรมใหม่ๆ มาปรับใช้เพื่อความเหมาะสม และต้องสอนย้ำทวนซ้ำๆ เพื่อให้เด็กจดจำและนำไปปฏิบัติได้

 

 “...ลูกศิษย์ทุกคนเป็นครูที่ดีของเรา เป็นแบบฝึกหัดที่ดีที่ทำให้ครูต้องทำการบ้านอย่างหนักก่อนทำการสอน ทำให้เราต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เราจะได้หาวิธีการถ่ายทอดให้พวกเขาเข้าใจและปฏิบัติได้ง่ายที่สุด”

 

นอกจากสอนหนังสือแล้ว ครูท่านนี้ก็ยังทำหน้าที่เป็นหมอคอยดูแลฝึกให้เด็กทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพ และยังเป็นนักจิตวิทยาที่คอยดูแลแก้ไขปัญหาเพื่อปรับพฤติกรรม พร้อมยังจัดทำ “โครงการศรีสังวาลย์สร้างคนดีสู่สังคม” ออกแบบพัฒนากิจกรรมเสริมเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเด็กๆ อาทิ นิทานสนามหญ้า ที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกพูด กล้าแสดงออกต่อที่สาธารณะ ธนาคารโรงเรียน ฝึกให้เด็กออมเงิน ตลาดนัดอาชีพ ฝึกค้าขายไม่อายทำกินอย่างซื่อสัตย์สุจริตด้วยลำแข้งตัวเอง รวมไปถึง โครงการธนาคารจิตประภัสสร ฝึกให้เด็กรู้จักแบ่งปัน โดยการนำของเหลือใช้ หรือที่ได้รับบริจาคมาไปมอบให้กับนักเรียนที่ด้อยโอกาส ที่ทำให้เด็กๆ ได้รู้ว่ายังมีคนที่ลำบากกว่าตนเองอีกมากมายที่ต้องการการช่วยเหลือ

 

“บางคนบอกครูโป้ทำงานปิดทองหลังพระ ซึ่งครูคิดเสมอว่า ถ้าไม่มีใครช่วยปิดทองหลังพระแล้ว พระจะสวยสมบูรณ์ได้อย่างไร และจะตั้งใจปิดทองหลังพระไปแบบนี้จนกว่าชีวิตจะหาไม่ เพราะค้นพบแล้วว่า การที่ได้มีโอกาสดูแลทำให้เด็กเหล่านี้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นี่คือความสุขอย่างแท้จริง” ครูทิพย์ภาพร กล่าวทิ้งท้าย

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์บ้านเมืองออนไลน์ วันที่ 17 สิงหาคม 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก