ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

รองผู้ว่าฯ สงขลา เปิดการประชุมชี้แจงโครงการระดับชาติพัฒนาต้นแบบจังหวัดและอำเภอ เพื่อวางแผนป้องกันและดูแลรักษาความพิการแต่กำเนิดในประเทศไทศไทย ระยะที่สอง (พ.ศ. 2558-2560)

วันที่ลงข่าว: 14/08/15

วันนี้ (13 ส.ค. 58) ที่ ห้องประกายเพชร 2 โรงแรมไดมอนด์ พลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นายอนุชิต ตระกูลมุทุตา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงโครงการระดับชาติพัฒนาต้นแบบจังหวัดและอำเภอ เพื่อวางแผนป้องกันและดูแลรักษาความพิการแต่กำเนิดในประเทศไทย ระยะที่สอง (พ.ศ. 2558-2560) โดยมี นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล รอง ผอ.สปสช. เขต 12 สงขลา พร้อมด้วย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ.พรสวรรค์ วสันต์ นายกสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด (ประเทศไทย) และหัวหน้าคณะทำงานโครงการฯ ชี้แจงโครงการระดับชาติพัฒนาต้นแบบจังหวัดและอำเภอ เพื่อป้องกันและดูแลรักษาความพิการแต่กำเนิดในประเทศไทย , นพ.อมร รอดคล้าย ตัวแทนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา , ศ.พญ.อุ่นใจ กออนันตกูล ภาควิชาสูติ-นรีเวชศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ , ผศ.นพ.ธนะรัตน์ บุญเรือง ผอ.รพ.สงขลานครินทร์ , ศ.พญ.สมจิตร จารุรัตนศิริกุล ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์, และ นพ.เทอดพงศ์ ทองศรีราช ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ และผู้เข้าร่วมประชุมจาก 7 จังหวัด ประกอบด้วย สงขลา ตรัง พัทลุง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กว่า 90 คน ให้การต้อนรับ

นายอนุชิต ตระกูลมุทุตา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า สมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด (ประเทศไทย) เป็นองค์กรที่เล็งเห็นความสำคัญของการจดทะเบียนความพิการแต่กำเนิด มีความพยายามผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ โดยมีการบันทึกการลงนามความร่วมมือ (MOU) เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2555 ระหว่าง 4 กระทรวง 2 องค์กรและ 1 สมาคม ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคสและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด (ประเทศไทย) ซึ่งการจัดทำฐานข้อมูลความพิการแต่กำเนิด ระดับประเทศ (Thailand Birth Registry) ถือเป็นฐานข้อมูลสำคัญ เพราะจะสามารถช่วยให้ทราบว่า ณ ปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนผู้พิการเท่าใดที่เราต้องให้การช่วยเหลือ และส่งต่อในระบบของการรักษา ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ก็ได้ดำเนินการจดทะเบียนคนพิการไว้ระดับหนึ่งแล้ว แต่จะต้องเพิ่มการจัดทำทะเบียนความพิการแต่กำเนิดในเด็กทารกแรกเกิดช่วง 0-7 ปี

ดังนั้น การดำเนิน “โครงการระดับชาติพัฒนาต้นแบบจังหวัดและอำเภอ เพื่อวางแผนป้องกันและดูแลรักษาความพิการแต่กำเนิดในประเทศไทย” ระยะที่สอง (พ.ศ. 2558-2560) จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรภาครัฐ ซึ่งจะทำให้การจดทะเบียนความพิการแต่กำเนิดเกิดความเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

สำหรับการจัดงานดังกล่าว เพื่อวางแผนป้องกันและดูแลรักษาความพิการแต่กำเนิดในประเทศไทย ระยะที่สอง (พ.ศ. 2558-2560) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีกิจกรรมประกอบด้วย การบรรยายเรื่องความพิการแต่กำเนิด 5 โรค โดย ศ.พญ.สมจิตร จารุรัตนศิริกุล อาจารย์ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ , การสาธิตการใช้งานระบบการลงทะเบียนความพิการแต่กำเนิด 5 โรค โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 12 สงขลา , การายงานผลการทำงานของคณะทำงาน 3 จังหวัด (สงขลา ตรัง พัทลุง) การอภิปรายกลุ่มโดยวิทยากร และการตอบข้อซักถามจากผู้เข้าร่วมประชุม

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก