ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

การประชุมวิชาการนานาชาติด้านการศึกษาพิเศษ

วันที่ลงข่าว: 06/08/15

 ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ - ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านการศึกษาพิเศษ ครั้งที่ 1 เรื่อง “นวัตกรรมเสริมสร้างการเรียนรู้และการจัดการเรียนการสอนนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ” (The 1st International Conference on Special Education : Innovation to Enhance Learning Initiatives and Practices) เมื่อวันพุธที่ 29 กรกฎาคม 2558 ณ ห้องประชุมแกรนบอลรูม โดยมีพลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งผู้บริหาร นักการศึกษาพิเศษ นักวิจัย ผู้กำหนดนโยบาย นักเรียนนักศึกษา และผู้มีส่วนในการจัดการศึกษาพิเศษจาก 24 ประเทศ เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมในครั้งนี้

 

 พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมว่า ในนามของกระทรวงศึกษาธิการและคณะผู้จัดการประชุม รู้สึกเป็นเกียรติที่จะขอกล่าวต้อนรับทุกท่านที่เข้าร่วมการประชุมครั้งสำคัญนี้ และขอขอบพระคุณ รองนายกรัฐมนตรี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ที่กรุณาให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านการศึกษาพิเศษ ครั้งที่ 1 เรื่อง “นวัตกรรมเสริมสร้างการเรียนรู้และการจัดการเรียนการสอนนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ” ในวันนี้

 

 สำหรับที่มาของการจัดประชุมครั้งนี้ จากรายงานด้านคนพิการขององค์การอนามัยโลกและธนาคารโลก พบว่ามีประชาการมากกว่า 1 พันล้านคน หรือร้อยละ 15 ของประชากรโลก ประสบปัญหาความพิการรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง และจากการประมาณการของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่ามีประชากร 16.5 ล้านคน หรือร้อยละ 2.64 มีปัญหาความพิการ นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกคาดว่าภายใน 10 ปีข้างหน้า ประชากรกลุ่มนี้อาจเพิ่มจำนวนขึ้น โดยคนพิการยังเป็นกลุ่มคนที่ถูกละเลยในสังคม และขาดโอกาสในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานหลายประการ รวมถึงการศึกษาด้วย

 

 ด้วยความตระหนักถึงปัญหาความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEC) ครั้งที่ 44 จึงมีมติให้ก่อตั้งองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้านการศึกษาพิเศษ (SEAMEO-SEN) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งในการจัดการศึกษาพิเศษในกลุ่มประเทศสมาชิกซีมีโอ เพื่อสร้างความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงบริการด้านการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษและนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

 ในโอกาสพิเศษที่ปี 2558 นี้ เป็นปีเริ่มต้นของการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และครบรอบ 50 ปีแห่งการก่อตั้งองค์การซีมีโอ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ องค์การซีมีโอ และซีมีโอ-เซ็น ได้ร่วมกันจัดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านการศึกษาพิเศษ ครั้งที่ 1 ขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การต่างๆ คือ กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF), สภาระหว่างประเทศเพื่อการศึกษาของคนพิการทางการเห็น (ICEVI), สถาบันด้านความพิการและนโยบายสาธารณะ (IDPP), เพอร์กินอินเตอร์เนชั่นแนลโปรแกรม, วิทยาลัยการศึกษาฮ่องกง, สถาบันออร์ตัน-กิลลิงแฮม, สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สปน.), สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)

 

 การประชุมกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-31 กรกฎาคม 2558 ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมเสริมสร้างการเรียนรู้และการจัดการเรียนการสอนนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ” ซึ่งประกอบด้วยประเด็นย่อย 9 ข้อ คือ 1) นวัตกรรมเสริมสร้างการเรียนรู้สำหรับนักเรียนผู้มีความต้องการจำเป็นพิเศษ 2) นวัตกรรมสำหรับให้บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม 3) นวัตกรรมในการจัดการเรียนรวม 4) นวัตกรรมการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนหูหนวกตาบอดและพิการซ้ำซ้อน 5) การเปลี่ยนผ่านจากโรงเรียนสู่การทำงาน 6) การฝึกอาชีพและอาชีวศึกษาสำหรับเด็กผู้มีความต้องการจำเป็นพิเศษ 7) การสร้างเครือข่ายงานการศึกษาพิเศษ 8) นโยบายด้านความพิการ 9) นักเรียนอัจฉริยะและมีความสามารถพิเศษ

 

 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ครู ผู้บริหาร นักการศึกษาพิเศษ นักวิจัย ผู้กำหนดนโยบาย นักเรียนนักศึกษา และผู้มีส่วนในการจัดการศึกษาพิเศษ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประมาณ 1,200 คนจาก 24 ประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมฉลองปีแห่งการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการศึกษาพิเศษ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิชาการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนาการศึกษาพิเศษของกลุ่มประเทศสมาชิกซีมีโอและภูมิภาคอื่นๆ

 

 นอกจากการประชุมวิชาการนานาชาติด้านการศึกษาพิเศษครั้งนี้ จะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการศึกษาและนวัตกรรมสำหรับนักเรียนผู้มีความต้องจำเป็นพิเศษ ยังมีการจัดประชุมโต๊ะกลมในหัวข้อ “การศึกษาพิเศษ 2015 สู่อนาคต” ซึ่งเป็นเวทีที่ผู้ประชุมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือในกลุ่มประเทศสมาชิกซีมีโอ เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ สังคมที่อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ไร้อุปสรรค และยึดตามสิทธิขั้นพื้นฐาน สำหรับนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ

 

 ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

 ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านการศึกษาพิเศษ ครั้งที่ 1 ว่าด้วยเรื่อง “นวัตกรรมเสริมสร้างการเรียนรู้และการจัดการเรียนการสอนนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ หรือ ICSE 2015 ที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ

 

 ขอต้อนรับแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน และขอขอบคุณคณะผู้จัดงานสำหรับการเตรียมการต่างๆ รวมทั้งการรับรองเป็นอย่างดี ผมรู้สึกยินดีที่ได้ทราบว่าการประชุมครั้งนี้ มีการประชุมคู่ขนานที่สำคัญยิ่ง คือ การประชุมโต๊ะกลมภายใต้หัวข้อ "การศึกษาพิเศษ 2015 สู่อนาคต (Special Educatino, 2015 and Beyond)" โดยการนำของซีมีโอ-เซ็น (SEAMEO-SEN) ซึ่งจะเป็นการเริ่มต้นของความร่วมมือกันทั้งในและนอกกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในด้านการจัดบริการการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษในอนาคต เราจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกำหนดนโยบาย และทิศทางในอนาคตทางด้านการศึกษาพิเศษในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในทุกภูมิภาคร่วมกัน

 

 ในการนี้ผมเล็งเห็นว่าซีมีโอ-เซ็นจะเป็นกลไกสำคัญสำหรับประเทศสมาชิกในการพัฒนาคุณภาพและความเท่าเทียมทางการศึกษาทรัพยากรมนุษย์ และนวัตกรรมที่สามารถตอบสนองความหลากหลายของนักเรียน

 

 ปัจจุบันนวัตกรรมมีบทบาทสำคัญเพิ่มมากขึ้นในเกือบทุกมิติของชีวิตเราทุกคน การเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ สำหรับนักเรียนที่มีความจำเป็นพิเศษก็เช่นกัน นวัตกรรมเป็นสิ่งที่ช่วยให้เขาสามารถเข้าถึงการศึกษาและการดำรงชีวิตในสังคมอย่างเท่าเทียม ดังนั้น งานวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมจึงนับว่าเป็นสิ่งสำคัญและควรได้รับการสนับสนุน อันจะนำไปสู่การขยายการให้บริการ และการผลิตอุปกรณ์ใหม่ๆ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักเรียนกลุ่มนี้ได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ และสามารถพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิตได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของไทยอีกด้วย

 

 ประเทศไทยมีความภาคภูมิใจยิ่ง ที่ได้ทำงานใกล้ชิดกับองค์การระหว่างประเทศต่างๆ ในการร่วมกันจัดการประชุมครั้งนี้เพื่อสร้างความเสมอภาคและการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือกันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคอื่นๆ

 

 ท่านผู้มีเกียรติ ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษทุกท่าน ตลอดการประชุมใน 4 วันนี้ ผมขอให้ทุกท่านได้เรียนรู้ให้มากที่สุด ซึ่งไม่เฉพาะเกี่ยวกับประเทศไทย แต่ให้ทุกท่านได้ร่วมกันอภิปราย และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแง่มุมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ซึ่งจะก่อให้เกิดความร่วมมืออย่างจริงจังต่อไปในอนาคต เพื่อช่วยกันพัฒนาความก้าวหน้าในการสร้างสรรค์สังคมที่อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ทำให้ภูมิภาคของเรา ตลอดจนสังคมโลกเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และสุดท้าย ผมหวังว่าการประชุมจะบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

 

นวรัตน์ รามสูต

บัลลังก์ โรหิตเสถียร

สรุป/รายงาน

ที่มาของข่าว กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก