ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

“โยชิมิ โฮริอูชิ” สาวตาบอดชาวญี่ปุ่น จัดคาราวานหนอนหนังสือ แก้เด็กไทย “อ่านเขียนไม่ออก”

วันที่ลงข่าว: 03/08/15
“โยชิมิ โฮริอูชิ” สาวตาบอดชาวญี่ปุ่น โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์
       
       ผลสำรวจการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนไทยชั้น ป.1 ที่ผ่านมาจะพบว่ายังมีจำนวนหนึ่งที่ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ถือเป็นปัญหาสำคัญของระบบการศึกษาไทย เพราะหากรากฐานทางภาษาไม่แน่นพอ การเรียนในระดับชั้นที่สูงขึ้นก็ย่อมส่งผลกระทบตามมา
 
       
       “ปัญหาเด็กไทยอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ มักจะพบมากในพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะชาวเขาชาวดอย เนื่องจากในชุมชนไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก ดังนั้น เมื่อเด็กเหล่านี้ลงมาเรียนหนังสือในโรงเรียนบนที่ราบด้านล่าง จึงเรียนไม่ทันเพื่อน เพราะภาษาไทยยังไม่แข็งแรง ไม่เหมือนเด็กในเมืองที่พ่อแม่สอนอ่านเขียนภาษาไทยมาตั้งแต่ก่อนเข้าเรียน” โยชิมิ โฮริอูชิ สาวชาวญี่ปุ่นผู้พิการทางสายตา สะท้อนมุมมองปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของเด็กไทย 
 
“โยชิมิ โฮริอูชิ” สาวตาบอดชาวญี่ปุ่น จัดคาราวานหนอนหนังสือ แก้เด็กไทย “อ่านเขียนไม่ออก”
 
        เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาดังกล่าว โยชิมิ ได้ก่อตั้งสมาคมคาราวานหนอนหนังสือ (Always Reading Caravan : ARC) เพื่อที่จะสนับสนุนการอ่านและการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ รวมถึงบริการห้องสมุดเคลื่อนที่ให้แก่คนทุกเพศ ทุกวัย ทั้งคนปกติ รวมถึงคนพิการในพื้นที่ห่างไกลด้วย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนบนเขาบนดอย ก็ได้ขึ้นไปทำกิจกรรม เพื่อปูพื้นฐานภาษาให้เด็กเหล่านี้อ่านออกเขียนได้ ก่อนที่จะลงมาเรียนในโรงเรียน
       
       โยชิมิ เล่าว่า องค์กรได้ขึ้นไปเปิดศูนย์การเรียนรู้ 2 แห่งบนดอย เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่เด็กชาวเขาให้ได้รู้ภาษาก่อนเข้าเรียน คือ ศูนย์การเรียนรู้บ้านพระอาทิตย์ สำหรับเด็กชาวเขาเผ่าอาข่า อ.เวียงปาเป้า จ.เชียงราย สอนอ่านเขียนและคณิตแก่เด็กวัย 2-6 ขวบ สัปดาห์ละ 5 วัน และศูนย์การเรียนรู้บ้านผึ้งน้อย สำหรับเด็กๆ เผ่าปกากาญอ หรือกะเหรี่ยง ในบ้านแม่สูน ต.แม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ สอนการอ่านเขียนเบื้องต้นและคณิตแก่เด็กวัย 2-4 ขวบ สัปดาห์ละ 5 วัน
       
       “ผลการดำเนินการพบว่า เด็กในศูนย์การเรียนรู้เมื่อลงไปเรียนร่วมกับเพื่อนบนที่ราบก็เรียนทันเพื่อนมากกว่าเดิม ซึ่งตรงนี้ถือเป็นผลในระยะสั้น แต่จริงๆ แล้วการรณรงค์เรื่องการอ่านต้องวัดผลกันในยุคหน้า ซึ่งเป็นผลระยะยาวว่า เมื่อเด็กเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่เขาใส่ใจกับเรื่องการอ่านหรือไม่ มีลูกแล้วพาลูกมาเข้าห้องสมุด อ่านเขียนหนังสือหรือไม่ และสามารถคิดวิเคราะห์การใช้ชีวิตของตนเองได้อย่างดีหรือไม่มากกว่า”
       
       แม้โยชิมิจะพิการทางสายตามาตั้งแต่กำเนิด แต่เธอก็ให้ความสำคัญกับการอ่านมากที่สุด โดยโยชิมิ เล่าว่า ตั้งแต่ 2-3 ขวบ เธอหลงใหลเข้าไปในโลกของหนังสือจากการที่ญาติๆ ของเธออ่านหนังสือให้เธอฟัง จนเมื่อเติบโตขึ้นได้เรียนอักษรเบลล์ จึงเริ่มอ่านหนังสือด้วยตนเอง และรู้สึกชื่นชอบการอ่านหนังสือมาก และเมื่อได้เจอกับคนไทยระหว่างไปเรียนที่สหรัฐอเมริกาก็มีความสนใจในภาษาไทย เพราะรู้สึกว่ามีความเพราะ ทั้งวัฒนธรรมต่างๆ ก็ใกล้เคียงกัน เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยทำงานจึงทำตามความฝันตนเองว่าอยากเข้ามาทำงานในเมืองไทย ด้านสังคม
       
       “การเข้ามาทำงานด้านสังคมแบบเอ็นจีโอไม่ใช่ว่าจะเข้ามาทำงานได้เลย แต่ต้องมีการศึกษาก่อน โดยก่อนเข้ามาทำงานได้ไปเรียนรู้ที่อินเดียเป็นเวลา 1 ปี ถึงวิธีการบริหารองค์กรแบบไม่แสวงผลกำไร เพื่อจะเรียนรู้วิธีการหาทุน การประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ การเขียนโครงการ การบริหารงบประมาณ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นต้องใช้ เมื่อเรียนจบแล้วจึงเข้ามาตั้งองค์กรทำงานที่ประเทศไทย โดยมุ่งเน้นในเรื่องของการอ่านหนังสือ เพราะเราคนหนึ่งเป็นคนที่ได้รับโอกาสจากผู้อื่นมามาก จึงอยากเป็นผู้ให้แก่คนอื่นบ้าง”
       
       เมื่อเริ่มแรกที่เข้ามาทำงาน โยชิมิ บอกว่า ได้เข้าไปทำกิจกรรมด้วยตนเอง เช่น อ่านหนังสือให้เด็กฟัง โดยต้องแปลงหนังสือปกติให้กลายเป็นอักษรเบลล์เพื่อจะได้ไปอ่านให้เด็กคนอื่นฟัง ซึ่งขั้นตอนถือว่ายากมากกว่าคนสายตาปกติทั่วไป รวมไปถึงจัดทำห้องสมุดเคลื่อนที่ไปตามสวนสาธารณะวันเสาร์ อาทิตย์ จากนั้นจึงขยับขยายโครงการ เช่น ทำห้องสมุดที่มีชีวิต ศูนย์การเรียนรู้บนดอย ซึ่งตัวเธอให้ความสำคัญพอๆ กันทั้งในเรื่องการส่งเสริมการอ่านของเด็กและคนทั่วไปที่อ่านออกเขียนได้อยู่แล้ว และการสร้างพื้นฐานอ่านออกเขียนได้บนดอย ซึ่งปัจจุบันเธอพลิกบทบาทจากคนลงไปทำกิจกรรมเองมาเป็นผู้บริหารการจัดการทั้งหมด
       
       โยชิมิ ยังฝากทิ้งท้ายอีกว่า ค่านิยมเรื่องการอ่านหนังสือของไทยต่างจากญี่ปุ่น โดยคนญี่ปุ่นมองว่าการอ่านเป็นงานอดิเรก เป็นความสนุก มีหนังสือหลากหลายที่ให้อ่าน แต่คนไทยมักมองว่าการอ่านหนังสือจะต้องเป็นการอ่านหนังสือสอบ ขณะที่หนังสือทั่วๆ ไปในประเทศไทยมีราคาแพงมาก ทำให้คนไม่นิยมซ้อหนังสืออ่าน เมื่อเทียบกับราคาอาหารจะพบว่าแพงกว่าหลายเท่า แต่สำหรับญี่ปุ่นราคาหนังสือแพงกว่าราคาอาหารไม่มากนัก ทำให้คนเข้าถึงหนังสือได้มาก จึงมองว่าหากจะส่งเสริมการอ่านในไทย ก็ต้องปรับแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วย
ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 3 สิงหาคม 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก