ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

'เมม'นวัตกรรมเพื่อผู้พิการฯสร้างโอกาสทางการเรียนรู้

วันที่ลงข่าว: 03/08/15
 
               “ประทับใจเครื่องเมมนี้เป็นอย่างมาก นอกจากจะใช้งานง่ายและทำงานสะดวกขึ้นแล้ว ยังช่วยให้เราก้าวทันเทคโนโลยี สามารถแชทคุยกับเพื่อนได้ทันทีโดยไม่ต้องกังวลถึงการค้นหาตัวอักษร เพราะเครื่องนี้มีลักษณะปุ๋มกดแบบอักษรเบรลล์ เพียงเชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์ไอทีสามารถใช้งานได้ทันที” สุปราณี ศรีสวัสดิ์ หรือชมพู่ นักวิชาการศึกษาปฏิบัติงานอักษรเบรลล์ วิทยาลัยราชสุดาและผู้ทดลองใช้เครื่องเมม กล่าว
 
               เนื่องจากประเทศไทยมีผู้พิการจำนวนไม่น้อยที่ขาดโอกาสในการมองเห็นโลกกว้างและรับรู้เรื่องราวต่างๆ ด้วยตาของตนเอง สิ่งเดียวที่พวกเขาจะได้เห็นชั่วชีวิตก็คือภาพสีดำเท่านั้น
 
               แต่เทคโนโลยีกับการศึกษาในปัจจุบันถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ผู้พิการทางสายตามีสิทธิและความสามารถเท่าเทียมกับคนปกติ อาทิ ฟังก์ชันบนโทรศัพท์มือถือที่สั่งการโดยเสียง เครื่องบันทึกข้อความอย่างสเลทและสไตลัส แต่อุปกรณ์เหล่านี้ยังไม่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้เท่าที่ควร ดังนั้นทางมหาวิทยาลัยมหิดลและภาคเอกชน จึงร่วมกันสนับสนุนการพัฒนาอุปกรณ์จดจำ (MeM) หรือ My Eye Memory
 
               เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2558 ณ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา จ.นครปฐม ได้จัดพิธีส่งมอบเครื่องนำร่อง 100 เครื่อง แก่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และวิทยาลัยราชสุดา จำนวนที่ละ 50 เครื่อง หวังช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถติดต่อสื่อสารกับคนในสังคมได้อย่างสะดวก รวดเร็ว อีกทั้งยังเชื่อว่าอุปกรณ์ชิ้นนี้จะสร้างประโยชน์และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น
 
               ชมพู่ เล่าว่า เริ่มใช้เครื่องสเลทและสไตลัสจดบันทึกการเรียนตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงปัจจุบัน โดยทุกๆ วันจะต้องพกกระดาษเปล่าจำนวนมากเพื่อสำรองไว้ อีกทั้งยังใช้เวลาจดบันทึกค่อนข้างนานและส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น แต่หลังจากทดลองใช้อุปกรณ์จดจำ หรือเมม ที่มีน้ำหนักเบา เล็กกะทัดรัด สามารถบันทึกจดบันทึกได้มากกว่า 2,000 หน้า พร้อมแสดงข้อมูลด้วยเสียงทีละอักษรจึงทำให้คำผิดน้อยลง หลังจากบันทึกข้อความเสร็จสิ้นสามารถส่งข้อมูลเหล่านี้ลงอุปกรณ์ไอทีและส่งต่อให้เพื่อนผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กได้ทันที นอกจากนี้เครื่องเมมยังสามารถประมวลจากอักษรเบรลล์ให้เป็นตัวอักษรปกติได้เมื่อต้องการปริ๊นท์ให้คนปกติอ่าน โดยที่ไม่ต้องเสียเวลามานั่งพิมพ์ในคอมพิวเตอร์ใหม่
 
               ด้าน “เซง เลิศมโนรัตน์” อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากปัญหาข้างต้นทำให้มีแนวคิดจะพัฒนาเครื่องมือเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการทางสายตา โดยนำผลงานนวัตกรรมอุปกรณ์จดจำ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทเมล็ดพันธุ์ความคิด จากโครงการประกวด ทรู อินโนเวชั่น อวอร์ดส์ เดอะ เรียลิตี้ 2012 มาพัฒนาอุปกรณ์ให้สามารถบันทึกข้อมูลด้วยวิธีการกดปุ่มตามอักษรเบรลล์และแสดงข้อมูลด้วยเสียงทีละอักษร ทำให้ย้อนกลับไปฟังความถูกต้องของข้อมูลที่จดบันทึกได้ นอกจากนี้ยังส่งข้อมูลที่บันทึกไปยังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาทิ โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ ผ่านทางบลูทูธ และยังสามารถสื่อสารกับคนปกติได้เหมือนการพิมพ์คุยกัน
 
               เซง กล่าวต่อว่า ส่วนประกอบหลักๆ ของเครื่องนี้ ได้แก่ แป้นพิมพ์อักษรเบรลล์เพื่อให้ผู้พิการใช้สำหรับพิมพ์ บลูทูธเพื่อใช้ส่งและเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆ โดยอุปกรณ์ลักษณะนี้ในต่างประเทศก็มีใช้งานเรียกว่าเบรลล์ โน้ตเทคเกอร์ส ซึ่งในเมืองไทยมีอยู่ไม่ถึง 100 เครื่อง เพราะมีราคาแพง ถึงหลักแสนและมีขนาดใหญ่พกพาไม่สะดวก แต่เครื่องเมมที่พัฒนาขึ้นใช้งบประมาณประมาณเพียงพันกว่าบาทต่อเครื่องเท่านั้น
 
               “ทิพพาภรณ์ (เจียรวนนท์) อริยวรารมย์” ประธานกรรมการมูลนิธิพุทธรักษา กล่าวว่า ทางมูลนิธิมีนโยบายจะช่วยเหลือผู้ขาดโอกาสทางสังคม จึงสนับสนุนการศึกษาที่มีคุณภาพแก่เด็กผู้ขาดโอกาสและสงเคราะห์ผู้ป่วยที่ขัดสนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเติมเต็มโอกาสในด้านต่างๆ เพื่อการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพ ทางมูลนิธิจึงร่วมสนับสนุนการผลิตอุปกรณ์จดจำ (เมม) นำร่องจำนวน 100 เครื่องแรก เพื่อส่งมอบให้ สพฐ. และวิทยาลัยราชสุดา สถาบันอุดมศึกษาสำหรับผู้พิการของมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อใช้ในการเรียนการสอนของวิทยาลัยและช่วยเพิ่มสมรรถนะในการติดต่อสื่อสารให้แก่ผู้พิการทางสายตา ทั้งนี้เราหวังว่าอุปกรณ์จดจำนี้จะช่วยลดข้อจำกัดและเพิ่มขีดความสามารถของผู้พิการในการสื่อสาร อันเป็นการเพิ่มโอกาสและช่องทางในการประกอบอาชีพในสังคมได้อีกด้วย
 
               ขณะที่ “ศุภชัย คันทรง” หัวหน้าฝ่ายประสานงานกิจกรรมพิเศษ สำนักงานการศึกษาพิเศษ (สพฐ.) กล่าวว่า ปัจจุบัน สพฐ. มีโรงเรียนสำหรับผู้บกพร่องทางสายตาหลักๆ อยู่ 2 แห่ง  คือ โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือ และโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคใต้ ซึ่งทางเราจะแบ่งให้ทั้งสองสถานศึกษานำไปให้นักเรียนได้ใช้ประโยชน์ในการเรียน โดยจะจัดอบรมการใช้งานพร้อมกับการดูแลรักษา และหวังว่าเครื่องเมมนี้จะช่วยต่อยอดทางความคิดของเยาวชนยุคใหม่
 
               ทั้งนี้ความพิการไม่สามารถปิดกั้นการเรียนรู้ได้ หากมีความมุ่งมานะและพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา หากสนใจรายละเอียดสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 0-2644-7800
 
ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์คมชัดลึกออนไลน์ วันที่ 5 กรกฎาคม 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก