ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

อาชีวะไทย-ลาวปั้นเด็กช่างสู่ตลาดแรงงานอาเซียน

วันที่ลงข่าว: 29/07/15

 

             สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) หนึ่งในเพื่อนบ้านใกล้เคียง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีพันธสัญญาร่วมพัฒนาจัดการศึกษาอาชีวศึกษาในทุกด้าน อาทิ หลักสูตรการเรียนการสอน วัสดุ สื่อ การพัฒนาครู นักเรียน นักศึกษา ฯลฯ เมื่อเร็วๆ นี้ นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) นำคณะผู้บริหารวิทยาลัยเทคนิค (วท.) น่าน วท.กุมภวาปี และวท.ลำปาง เดินทางไปติดตามความก้าวหน้าที่วิทยาลัยเทคนิควิชาชีพหลวงพระบาง สปป.ลาว รวมถึงเยี่ยมและพูดคุยกับนักศึกษาอาชีวศึกษาที่ปฏิบัติงาน ณ โรงไฟฟ้าหงสา แขวงไซยะบุรี

 

             นายชัยพฤกษ์ เปิดเผยว่า อีกประมาณ 6 เดือน ไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างสมบูรณ์ ที่ผ่านมา สอศ.เตรียมพร้อมให้เด็กอาชีวะมาต่อเนื่อง และยังร่วมมือกลุ่มประเทศอาเซียนในการเตรียมพร้อมพัฒนากำลังคนด้วย ในส่วนที่ร่วมกับลาวเดินหน้าด้วยดี มีวิทยาลัยในสังกัด สอศ.ที่มีศักยภาพ 25 แห่ง จับคู่กับ 16 สถานศึกษาของลาวที่มีชายแดนใกล้กันร่วมกันพัฒนาการจัดการศึกษาตามกรอบที่วางไว้ มีการแลกเปลี่ยนนักเรียน นักศึกษาลาวมาเรียนที่ในวิทยาลัยของไทยด้วย และจากที่ได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการที่ วท.วิชาชีพหลวงพระบางพบว่า อุปกรณ์ต่างๆ ทั้งที่รัฐบาลไทยและ สอศ.สนับสนุนก็ถูกนำมาช่วยให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพขึ้น

 

             อย่างไรก็ตาม เวลานี้ลาวกำลังต้องการแรงงานสาขาช่าง อาทิ สาขาช่างไฟฟ้า ช่างยนต์ ช่างเชื่อม ฯลฯ เพื่อป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าหงสาที่เพิ่งเริ่มเฟสแรกได้เพียง 1 เดือน แต่มีเป้าหมายว่า 25 ปีข้างหน้าโรงไฟฟ้าต้องมีแรงงานลาวในสัดส่วน 80% เพื่อให้ประชากรลาวมีรายได้ไม่ละทิ้งถิ่นฐาน แต่ปัจจุบันแรงงานส่วนใหญ่มาจากประเทศอื่น รวมถึงเด็กอาชีวะไทย เพราะวิทยาลัยผลิตบุคลากรได้เพียงพอ ฉะนั้น สอศ.ก็ได้หารือกับทาง วท.วิชาชีพหลวงพระบาง จะช่วยพัฒนากำลังคนสาขาที่เป็นความต้องการหลัก รวมถึงสาขาอื่นๆ ต่อไป

 

             “ตอนนี้มีเด็กอาชีวะไทยรุ่นแรกที่ได้ทำงานในโรงไฟฟ้า 20 คน จบระดับ ปวส.ในหลายสาขา อาทิ ช่างยนต์ ช่างกลโรงงาน ช่างเชื่อม ช่างไฟฟ้า จาก วท.น่าน และ วท.ลำปาง ซึ่งทุกคนผ่านการทดสอบโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และการอบรมจากวิทยากรของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และเร็วๆ นี้จะคัดเลือกเด็ก ปวส.ปี 2 อีก 80 คน ให้มาเรียนและฝึกปฏิบัติจริงที่นี่ เรียนจบทำงานต่อทันที แต่ระหว่างฝึกงานก็ได้รับเงินเดือนด้วย ซึ่งความร่วมมือนี้ได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย ไทยได้ความมั่นคงเรื่องกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจำหน่ายให้สูงถึง 1,473 เมกะวัตต์ เชื่อมความสัมพันธ์แน่นแฟ้น เด็กอาชีวะในพื้นที่แนวชายแดนได้ทำงานใกล้บ้าน ได้สัมผัสระบบงานที่เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งจะเป็นใบเบิกทางไปสู่การสร้างรายได้ที่ดีในอนาคต” เลขาธิการ กอศ.กล่าว

 

             ขณะที่ “บุญเที่ยง ทิบสะหวัน” ผอ.วท.วิชาชีพหลวงพระบาง กล่าวว่า เวลานี้รัฐบาล สปป.ลาวมีนโยบายจะเพิ่มผู้เรียนสายอาชีพระดับ ปวช.มากขึ้น โดยมีการให้ทุนการศึกษาเรียนฟรีเพื่อจูงใจให้เด็กที่จบระดับมัธยมต้นหันมาเรียนสายอาชีพมากขึ้น ซึ่งได้รับการตอบสนองดีมาก โดยปีนี้มีผู้สมัครเรียนถึง 2,600 คน แต่รับได้เพียง 1,904 คน ส่วนปีการศึกษา 2557 ที่ผ่านมามีผู้เรียน 1,850 คน

 

             โดยเวลานี้สาขาที่เราเร่งผลิตเพิ่มคือ ช่างเชื่อม ช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า เพื่อป้อนเข้าสู่โรงงานไฟฟ้า เพราะที่ผลิตอยู่เวลานี้ยังไม่เพียงพอ ซึ่งตลอดมาจนถึงเวลานี้ก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากรัฐบาลไทย สอศ.ทั้งด้านหลักสูตร อุปกรณ์และสื่อการสอน อบรมพัฒนาครู แลกเปลี่ยนการเรียนการสอนพัฒนานักเรียน นักศึกษา เพราะเป้าหมายของเราเด็กทุกคนจบไปต้องทำงานได้

 

             เพราะอยากสั่งสมประสบการณ์คือคำตอบของ นายธีรพงศ์ ก้อนคำ นักศึกษา ปวส.2 สาขาช่างยนต์ วท.น่าน และบอกว่า รู้จากอาจารย์ วท.น่าน ว่าจะมีการรับสมัครคนมาทำงานที่นี่ ก็ยื่นสมัครเข้ารับคัดเลือกด้วย ส่วนหนึ่งมองว่าใกล้บ้าน แถมมีรายได้ 2 หมื่นบาท มีสวัสดิการที่พักฟรี จ่ายเพียงค่าอาหาร ถือเป็นโอกาสให้เราได้เก็บออมเงิน และที่สำคัญเป็นโอกาสได้สะสมประสบการณ์ทำงาน การทำงานเบื้องต้นได้รับมอบหมายให้ทำงานในหมวดประสิทธิภาพและเคมี จะรับผิดชอบในการตรวจสอบอุปกรณ์โรงไฟฟ้าทั้งหมด ประเมินการทำงานว่าใช้แล้วกี่เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น

 

             ทั้งนี้ ฝากถึงรุ่นน้องที่สนใจหากมีโอกาสที่จะได้ร่วมทำงานในองค์กรใหญ่ที่มีมาตรฐานสากล ไม่ว่าที่ใดขออย่าละเลยแต่ให้คว้าไว้และใช้โอกาสนี้เพื่อเรียนรู้และพัฒนาฝีมือตนเอง

 

 

 

: เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ /รายงาน

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์คมชัดลึกออนไลน์ วันที่ 28 กรกฎาคม 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก