ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ค่ายทักษะชีวิตนร.-นศ.พิการเรียนร่วมเท่าเทียมมีความสุข

วันที่ลงข่าว: 21/07/15

             วิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล ให้ความสำคัญกับผู้มีความบกพร่องทางการได้ยินได้รับการศึกษาหรือการเรียนเต็มที่และเท่าเทียมกับคนปกติทั่วไปได้รับ จึงจัดการเรียนการสอนในระดับ ปวส. ในระบบทวิภาคี ที่สามารถให้นักศึกษาปกติและนักศึกษาที่บกพร่องทางการได้ยินได้เรียนร่วมกับอย่างเท่าเทียม ล่าสุดได้จัดค่ายเสริมสร้างทักษะชีวิตนักเรียนนักศึกษาพิการ วันที่ 5-7 มิถุนายน 2558 ณ ผึ้งหวานรีสอร์ท จ.กาญจนบุรี เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมระหว่างนักเรียนนักศึกษาพิการและนักศึกษาปกติ ให้นักศึกษาพิการและนักศึกษาปกติเรียนรู้การอยู่ร่วมกันและมีการพัฒนาการในการปรับตัวเข้ากับสังคมปกติและใช้ชีวิตอย่างเป็นสุข

 

             โดยกิจกรรมภายในค่ายวันแรกจะเป็นการสอนภาษามือเพื่อเปิดใจเด็กปกติให้รู้ว่า การใช้ภาษามือคืออีกภาษาหนึ่งของเด็กหูหนวก การใช้ภาษามือไม่ใช่เรื่องที่แปลก ภาษามือคืออีกภาษาหนึ่งที่มีวัฒนธรรมมีรากเหง้าเหมือนกับภาษาไทย ช่วงบ่ายเป็นกิจกรรมนันทนาการสันทนาการ การเข้าฐานเพื่อให้นักศึกษาทั้งสองกลุ่มอยู่ในกลุ่มเดียวกันและคละกันแบ่งออกเป็น 5-6 กลุ่ม ภายในกลุ่มจะมีทั้งนักศึกษาพิการและนักศึกษาปกติทำกิจกรรมร่วมกัน

 

             วันที่สอง เน้นไปทางเพศศึกษา วิธีการป้องกันเรื่องเพศ เนื่องด้วยเด็กพิการทางการได้ยินจะมีปัญหาเรื่องเพศศึกษา กระบวนการป้องกัน การรู้เท่าไม่ถึงการณ์ การคิดที่ไม่รอบคอบ การอบรมเพศศึกษา การปฏิบัติและแนวทางที่ถูกต้อง วันที่สาม นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ เข้ามาประเมินพฤติกรรมนักศึกษาแต่ละคนว่าเด็กแต่ละคนมีพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้นหรือไม่ นักศึกษาคนไหนที่มีปัญหาในเรื่องของการปรับตัว นักศึกษาปกติคนไหนที่มีมุมมองทางด้านทัศนคติที่ไม่ดีต่อนักศึกษาพิการจะให้นักจิตวิทยากับนักสังคมสงเคราะห์ประเมินเพื่อพัฒนาและแก้ไขต่อไป

 

             กัลยา อ่อนจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกองทุน ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการกองทุนฯ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ. กล่าวว่า การจัดค่ายครั้งนี้ต้องการให้เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินได้มีที่ยืนในสังคมและอยู่ร่วมกับคนปกติในสังคมได้ เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินถึงหูไม่ได้ยินแต่การรับรู้ทางสายตาเขาเต็มร้อย เรามีความคิดว่า ถ้าเน้นการเรียนทฤษฎีเน้นการเรียนวิชาการมากเกินไปการรับรู้ก็จะไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นหลักสูตรที่เหมาะกับนักเรียนคือการเรียนทวิภาคี เนื่องจาก 1 ปีทีได้เรียนสามารถนำความรู้เต็มที่หรือไม่เต็มที่ ตรงนี้เข้าไปทำงานทางสถานประกอบการ ซึ่งสถานประกอบการคือการทำงานกับคนพิการจริง ซึ่งจะต้องให้เด็กปฏิบัติการซ้ำๆ งานเหมือนเดิม ค่อยๆ วนไปวนมา และค่อยๆ เพิ่มระดับความยากเข้าไปที่ละนิด

 

             ดังนั้นเด็กพิการเมื่อได้ทำงานประจำแล้วจะรู้สึกว่าทำได้และมีกำลังใจภาคภูมิใจในตัวเอง ซึ่งก่อนที่จะไปทำงานจะต้องผ่านกระบวนการจากค่ายก่อน โดยจะต้องปรับตัวเข้ากับสังคมให้ได้ จะต้องเรียนรู้วัฒนธรรมให้ได้ ซึ่งในค่ายจะสอนภาษามือ การสอนภาษามือไม่ใช่เน้นเพื่อจะให้เด็กปกติได้ภาษามือเลยเหมือนล่ามภาษามือในทีวี แต่ที่สอนคือสอนเพื่อเปิดใจเด็กปกติให้รู้ว่า การใช้ภาษามือคืออีกภาษาหนึ่งของเด็กหูหนวก การใช้ภาษามือไม่ใช่เรื่องที่แปลกไปจากเรา ภาษามือคืออีกภาษาหนึ่งที่มีวัฒนธรรมมีรากเหง้าเหมือนกับภาษาไทยเปิดใจให้เขายอมรับให้ได้

 

             ครูเศรษฐิพงษ์ พุฒขวัญ หัวหน้าศูนย์บริการสนับสนุนนักเรียนนักศึกษาพิการ กล่าวว่า การจัดการอาชีวศึกษาเรื่องคนพิการ ทางวิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑลเปิดการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาพิการ ตั้งแต่ปี 2554 ถึงปัจจุบัน มียอดนักศึกษา ปวส.2 และ ปวส.1 รวมทั้งสิ้นเด็กพิการทางการได้ยิน 60 คน เรียนเต็มหลักสูตรเทียบเท่ากับเด็ก ปวส.ที่เรียนปกติ แต่เป็นทวิภาคี เพื่อให้เด็กปกติกับเด็กพิการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุขและไม่รู้สึกแบ่งแยก จะเน้นการศึกษาแบบเรียนร่วมคือ ในห้องเรียนจะมีทั้งเด็กพิการและเด็กปกติจะเรียนด้วยกันอย่างมีความสุขและไม่แบ่งแยก เด็กพิการทุกคนสามารถนั่งรวมกันได้ เป็นเพื่อนกันได้ มีการอบรมภาษามือพื้นฐานให้แก่ครูผู้สอนภาษามือ หรือมีล่ามภาษามือประจำห้องเรียน ครูสอนปกติ และจะมีล่ามคอยแปลเป็นภาษามือให้เพื่อช่วยในการเรียนการสอนให้ได้เกิดการเรียนรู้มากที่สุด

 

             ด้าน ณัฐพนธ์ สมชัยยา นักเรียนพิการทางการได้ยิน ที่กำลังศึกษาอยู่สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ วิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล กล่าวว่า เหตุผลที่ได้เข้าเรียนที่วิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล เพราะเปิดโอกาสให้คนหูหนวกได้เข้ามาเรียนร่วมกับคนปกติ ทำให้ได้อาชีพติดตัวไปทำงาน และยังได้ฝึกงานในสถานประกอบการ และระหว่างการฝึกงานได้ค่าตอบแทนอีกด้วย ได้สัมผัสกับการทำงานร่วมกับคนปกติ เรียนรู้วิถีชีวิตการทำงาน วิถีชีวิตของการอยู่ร่วมกับคนปกติการปรับตัวเข้ากับคนปกติในสถานการณ์จริง

 

             “สิ่งแรกที่ผมได้รับคือความสุข ความสุขทั้งสังคม ทั้งสิ่งแวดล้อม ทั้งกลุ่มเพื่อน เพื่อนปกติสามารถเข้าใจ และยอมรับคนหูหนวกอย่างผมได้ เพื่อนปกติน่ารักทุกคนครับ ผมเห็นภาพที่ทุกคนใส่ใจการฝึกภาษามือ อยากใช้ภาษามือในการสื่อสารกับพวกผม เห็นพวกผมเป็นเพื่อนคนหนึ่งที่ไม่แปลกไปจากคนปกติเลย ขอบคุณเพื่อนๆ คนปกติทุกคนที่เข้าใจ และยอมรับในความแตกต่างของเราได้ แค่นี้ผมก็รู้สึกภูมิใจแล้วครับ” ณัฐพนธ์ กล่าว

 

             ปัจจุบันทางวิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑลได้เปิดการเรียนการสอนสำหรับผู้มีความบกพร่องทางการได้ยินทั้งหมด 5 สาขา ได้แก่ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ และช่างไฟฟ้ากำลัง ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาเทคโนโลยีสำนักงาน ติดตั้งไฟฟ้า และธุรกิจค้าปลีก โดยสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ www.biac.ac.th หรือ โทร.0-3424-6194-5

 

โดย:  : นิรชา ทูลประสิทธิ์

 

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์คมชัดลึกออนไลน์ วันที่ 21 กรกฎาคม 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก