ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ขยายโรงงานทำขาเทียมใน รพ.ชุมชน อีก จังหวัดละ 1 แห่ง

วันที่ลงข่าว: 21/07/15

มูลนิธิขาเทียมฯ เล็งขยายโรงงานทำขาเทียมใน รพ.ชุมชน อีกจังหวัดละ 1 แห่ง จากเดิมมี 37 แห่ง หวังช่วยคนพิการขาขาดตามชนบทได้รับขาเทียมรวดเร็ว

       

       วันนี้ (20 ก.ค.) ที่สถาบันบำราศนราดูร ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กล่าวถึงการดำเนินงานของมูลนิธิฯ ประจำปี 2558 ว่า แต่ละปีมีผู้ป่วยถูกตัดขารายใหม่มากกว่า 12,000 ราย จํานวนนี้ต้องใส่ขาเทียม 3,500 ราย มากสุด คือ ผู้ป่วยเบาหวานที่ตัดขา ขาขาดจากอุบัติเหตุ โรคเส้นเลือดตีบ รวมทั้งขาเทียมที่ชำรุด ต้องเปลี่ยนใหม่ทุก 2 ปี แต่คนพิการขาขาดส่วนใหญ่อยู่ในชนบทห่างไกล ขณะที่โรงงานทำขาเทียมอยู่ในตัวจังหวัด มูลนิธิฯ จึงร่วมกับ สธ. ตั้งโรงงานทำขาเทียมในโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ตั้งแต่ปี 2551 โดยคัดเลือกคนพิการขาขาดที่ร่างกายแข็งแรงจากชุมชน แห่งละ 2 - 3 คน เข้าฝึกอบรมเป็นช่างทำขาเทียม ปัจจุบันมี 37 แห่ง ผลดำเนินงานที่ผ่านมาได้ผลดี ปีนี้จึงตั้งเป้าขยาย รพช.เพิ่มขึ้นจังหวัดละ 1 แห่ง เพื่อให้คนพิการตามชนบท ได้รับขาเทียมอย่างรวดเร็ว

       

       ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม กล่าวว่า สำหรับผลการดำเนินงานรอบ 22 ปี ให้บริการร่วมกับโรงพยาบาลสังกัด สธ. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชน ทำขาเทียมให้คนพิการชาวไทยและต่างชาติที่ยากจนมากกว่า 27,000 คน รวม 36,000 ขา ศึกษาวิจัยและพัฒนาคุณภาพของขาเทียมอย่างต่อเนื่อง ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ ช่างทำขาเทียม นักกายภาพบำบัด เพื่อไปปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอื่น ๆ กว่า 53 แห่งทั่วประเทศ อบรมแพทย์และช่างทำ ขาเทียมชาวต่างประเทศ ที่มูลนิธิฯไปตั้งโรงงานอยู่ เช่น พม่า มาเลเซีย และบังกลาเทศ ร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานพัฒนาหลักสูตรช่างเครื่องช่วยคนพิการให้ได้มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ และร่วมผลิตช่างเทคนิคกายอุปกรณ์ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่

       

       อนึ่ง มูลนิธิฯ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2535 โดยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นประธาน ปัจจุบันสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่งองค์นายกกิตติมศักดิ์ โดยจัดทำขาเทียมให้แก่คนพิการขาขาดยากจน ทุกเชื้อชาติ ศาสนา โดยไม่คิดมูลค่า ผลิตชิ้นส่วนขาเทียม จัดทำอุปกรณ์เพิ่มเพื่อให้ผู้ใส่ขาเทียมแล้วมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถประกอบอาชีพได้

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 21 กรกฎาคม 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก