ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

จังหวัดสุราษฎร์ธานี เดินหน้าขับเคลื่อนแผนพัฒนาปฏิรูปการเรียนรู้ สร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

วันที่ลงข่าว: 17/07/15

บ่ายวันนี้ (16 ก.ค. 58) ที่ โรงแรมนิภาการ์เด้น อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี นายทนงศักดิ์ ทวีทอง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยหัวหน้าคณะทำงานจังหวัดปฎิรูปการเรียนรู้จังหวัดสุราษฎร์ธานี และหัวคณะทำงานสารสนเทศทางการเรียนและเด็กมีงานทำ ตลอดจนนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมแถลงผลการดำเนินงานการขับเคลื่อนแผนพัฒนาจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้จังหวัดสุราษฎร์ธานีในห้วงที่ผ่านมา โดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) พิจารณาให้จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็น 1 ใน 10 จังหวัดนำร่อง ในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยส่งเสริมให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและมีพัฒนากระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

นายทนงศักดิ์ ทวีทอง นายก องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า จากข้อมูลการศึกษาทั้งจังหวัดสุราษฎร์ธานีในปีการศึกษา 2557 มีนักเรียนในระดับปฐมวัยและระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งสิ้น 191,264 คน ระดับอุดมศึกษา 23,049 คน โดยมีเด็กพิการร่วมเรียน 4,971 คน เด็กด้อยโอกาส 52,588 คน และพบว่ามีนักเรียนที่ออกกลางคัน จำนวน 736 คน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเด็กด้อยโอกาสพบว่า มีเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD) มากถึง 2,447 คน เป็นกลุ่มที่มีความต้องการการศึกษาพิเศษ แต่กลับไม่ได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ถูกละเลย ไม่ได้รับการป้องกันแก้ไขอย่างจริงจัง สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งในห้วงที่ผ่านมา องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในฐานะผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินโครงการจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ ได้แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในรูปแบบต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การจัดทำคู่มือและสื่อสำหรับเด็กบกพร่องทางการเรียนรู้ หรือ LD เพื่อกำหนดกรอบของคู่มือและสื่อเพื่อให้สถานศึกษา และนักเรียนที่มีความบกพร่องด้านการเรียนรู้ นำไปใช้ในการเป็นกรอบและเป็นสื่อสำหรับการเรียนการสอน ที่จะพัฒนาการคุณภาพการศึกษาของเด็กกลุ่มดังกล่าวให้มีความเท่าเทียมกัน

นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวด้วยว่า จากการประชุมระดมสมองของคณะทำงานและผู้ทรงคุณวุฒิทุกภาคส่วน พบปัญหาด้านการศึกษาของจังหวัดสุราษฎร์ธานี 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.ปัญหาด้านความเป็นธรรม อาทิ เด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษาไม่ได้รับการดูแล ปัญหาเด็กบกพร่องการเรียนรู้เป็นเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องคำนึงถึง และยังพบเด็กเด็กด้อยโอกาสเป็นจำนวนมากที่มีปัญหาการขาดแคลน 2.ปัญหาด้านคุณภาพ อาทิ ผู้ปกครองนิยมส่งบุตรหลานเข้าเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนมากกว่าโรงเรียนของรัฐ และเป้าหมายด้านการศึกษาไม่ชัดเจน ครูสอนให้เด็กทำข้อสอบ ไม่ได้สอนชีวิตจริง และ 3.ปัญหาด้านข้อมูลและการบริหารจัดการ อาทิ เสนอให้จัดทำระบบฐานข้อมูลที่ชัดเจน เป็นศูนย์รวมข้อมูลด้านการศึกษาของจังหวัด และจังหวัดสุราษฎร์ธานีควรมีองค์กรกลางของจังหวัด ในการจัดระบบการศึกษา โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพื่อจัดการศึกษาในภาพรวมของจังหวัด

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก