ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สร้างสรรค์งานทัศนศิลป์สู่อาเซียนหวังเป็นตัวเชื่อมทางวัฒนธรรม

วันที่ลงข่าว: 08/07/15

สร้างสรรค์งานทัศนศิลป์สู่อาเซียน หวังเป็นตัวเชื่อมทางวัฒนธรรม : ฉวีวรรณ มะโนปารายงาน

               “รู้สึกประทับใจมากที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ นอกจากได้เห็นผลงานด้านศิลปะจากประเทศอื่นๆ ยังทำให้รู้จักเพื่อนจากหลากหลายประเทศ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมซึ่งกันและกัน” Neneng Sia Ferrier ผู้เข้าร่วมโครงการสร้างสรรค์งานทัศนศิลป์สู่อาเซียน ประเทศอินโดนีเซีย กล่าว

 

               ศิลปะเป็นงานที่บอกเล่าถึงเรื่องราววิถีชีวิต ศาสนา วัฒนธรรม ได้เป็นอย่างดี สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยจึงสนับสนุนการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเพื่อเพิ่มพูนปัญญาและนำมาประยุกต์ใช้ในสังคม อีกทั้งเป็นการสร้างอัตลักษณ์อาเซียนให้ดำรงอยู่ร่วมกันของประชาคมอาเซียนผ่านมิติด้านศิลปวัฒนธรรม โดยจัดโครงการสร้างสรรค์งานทัศนศิลป์สู่อาเซียน เพื่อเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างศิลปินและองค์กรเครือข่ายศิลปะร่วมสมัยในกลุ่มประชาคมอาเซียนและเชื่อมประชาชนผ่านตัวแทนศิลปินทั้ง 10 ประเทศ ที่ร่วมสร้างสรรค์ผลงาน การบรรยายและทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรม ณ จังหวัดน่าน

 

               “Neneng Sia Ferrier” เล่าต่อว่า จากการที่ได้มา จ.น่าน ครั้งนี้ทำให้เห็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน วัฒนธรรมที่เก่าแก่และแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งส่วนตัวประทับใจเสาดินนาน้อย เป็นสถานที่ที่มีความสวยงามเป็นธรรมชาติ และทำให้นึกถึงสถานที่หนึ่งที่เคยไปท่องเที่ยวในอดีต แต่สถานที่นี้พิเศษกว่าเมื่อมองผ่านกล้องพบว่ามีลักษณะคล้ายเศียรช้าง จึงทำให้รู้สึกตื่นเต้นมากขึ้นและเกิดภาพวาดเสาดินนาน้อย โดยการเน้นลงสีที่หลากหลายเพื่อแสดงถึงความหลากหลายทางเชื้อชาติ แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน นอกจากนี้เพื่อนๆ ศิลปินท่านอื่นยังเสนอความคิดร่วมมือกันสร้างสรรค์ภาพวาดที่ตนเองประทับใจลงไปในกระดาษแผ่นเดียวกัน เพื่อแสดงถึงพลังความสามัคคีของประชาคมอาเซียน ส่วนครั้งต่อไปที่จะจัดโครงการนี้ขึ้นอีกอยากให้ขยายเขตความร่วมมือไปยังประเทศอื่นๆ นอกเหนือประเทศอาเซียนและอยากให้มีระยะเวลาในการสร้างสรรค์งานมากกว่านี้

 

               ด้าน “ธงชัย รักปทุม” ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์และตัวแทนศิลปินประเทศไทย กล่าวว่า การจัดโครงการครั้งนี้มีศิลปินอาเซียนเข้าร่วมจำนวนมาก ซึ่งแต่ละท่านสร้างสรรค์งานผ่านความประทับใจที่แตกต่างกัน โดย จ.น่าน เป็นเมืองเล็กแต่มีความหลากหลายทางศิลปะ วัฒนธรรม ซึ่งจากการเที่ยวชมเมืองเพื่อหาแรงบันดาลใจ ชอบวัดในเมืองน่านเพราะมีการดูแลและรักษาความสะอาดเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีธรรมชาติที่สวยงามโดยเฉพาะเสาดินนาน้อยซึ่งเป็นสถานที่ทำให้มีแรงบันดาลใจนำมาวาด โดยเน้นสีที่หลากหลายให้คนเห็นอารมณ์ความรู้สึกของตัวผู้วาด อยากให้โครงการนี้จัดขึ้นทุกๆ ปี ซึ่งช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีงามของคนในวงการศิลปะและช่วยกันเผยแพร่งานศิลปะเหล่านี้ออกไปสู่คนในสังคม

 

               ขณะที่ “ชาย นครชัย” ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เราได้เดินทางไปประเทศเวียดนามโดยได้นำคณะศิลปินไทยและศิลปินเวียดนามศึกษาดูงานศิลปวัฒนธรรม แลกเปลี่ยนแนวคิดด้านศิลปะร่วมสมัย จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ผลงาน กระชับความสัมพันธ์กับองค์กรเครือข่ายศิลปะของประเทศเวียดนาม และแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานศิลปะร่วมสมัยร่วมกับตัวแทนศิลปินของประเทศเวียดนาม ผ่านการทำกิจกรรมเวิร์กช็อป สร้างสรรค์ผลงานตามเทคนิค ความถนัด และแรงบันดาลใจที่ได้รับจากการเดินทางหรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรม

 

               ซึ่งผลงานที่ออกมาจะนำมาจัดแสดงนิทรรศการ ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน โดยก่อนการจัดแสดงนิทรรศการ เราได้เชิญศิลปินอาเซียนอีก 9 ประเทศ มาร่วมสร้างสรรค์ผลงานในโครงการสร้างสรรค์งานทัศนศิลป์สู่อาเซียนอีกครั้ง เพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม เชื่อมโยงความสัมพันธ์ ความรู้ ความเข้าใจระหว่างประชาชนโดยอาศัยศิลปะและวัฒนธรรมเป็นสื่อกลาง

 

               ทั้งนี้ ศิลปะจึงเป็นส่วนเชื่อมหนึ่งที่จะถ่ายทอดศาสนา วัฒนธรรม ให้คนในประชาคมอาเซียนได้รับรู้ แต่หากมีการนำเยาวชนที่สนใจด้านศิลปะเข้าร่วมงานครั้งนี้ด้วยน่าจะดีไม่น้อย เพราะเยาวชนในปัจจุบันถือเป็นกำลังหลักของประเทศในการขับเคลื่อนวัฒนธรรมให้คงอยู่สืบไป โดยผลงานศิลปะทั้งหมดมาจัดแสดงนิทรรศการ ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ระหว่างวันที่ 26 มิถุนายน – 26 กรกฎาคม 2558

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์คมชัดลึกออนไลน์ วันที่ 8 กรกฎาคม 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก