ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ผ่ายุทธศาสตร์พัฒนาอินโดจีน เร่งการเติบโตรับกระแสเออีซี

วันที่ลงข่าว: 06/07/15

คอลัมน์ Asean Secret

 

โดย ดุลยภาพ ปรีชารัชช อาจารย์สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

 

 

นับแต่การสิ้นสุดสงครามเย็น รัฐอินโดจีนอย่าง กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ได้เร่งปฏิรูปนโยบายทางเศรษฐกิจการเมืองอย่างกว้างขวาง พร้อมพัฒนาประเทศเพื่อปรับตัวให้เข้ากับกระแสรวมกลุ่มบูรณาการภายในภูมิภาค

 

สำหรับกัมพูชา มรดกพัฒนารัฐนับแต่ยุคบูรณะประเทศจากสงครามกลางเมือง ได้กำกับให้แผนพัฒนารัฐตั้งอยู่บนฐานของการพึ่งพาความช่วยเหลือจากนานาชาติ โดยมีทั้งกลุ่มองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือแบบพหุภาคี เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย และกลุ่มรัฐที่ให้ความช่วยเหลือแบบทวิภาคี อาทิ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน ญี่ปุ่น สหรัฐ

 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกัมพูชาก็ผลิตแผนยุทธศาสตร์ชาติตามแบบฉบับตน โดยเน้นไปที่การรักษาอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจและลดทอนปัญหาความยากจน ซึ่ง สมเด็จฮุน เซน ได้คิดค้นยุทธศาสตร์สี่เหลี่ยม หรือ "จัตุโกน" ที่ให้ความสำคัญกับกรอบพัฒนาประเทศ 4 สาขาหลัก ได้แก่ การเกษตร โครงสร้างพื้นฐาน ภาคเอกชนและการสร้างงาน และทรัพยากรมนุษย์

 

ส่วนลาว นับแต่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเป็นระบบตลาดเสรีในช่วงปลายสงครามเย็น รัฐบาลลาวได้ตั้งเป้าหลุดพ้นจากสถานะกลุ่มประเทศที่มีระดับการพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries : LDCs) โดยมุ่งเพิ่มมูลค่าการลงทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ขณะเดียวกันระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2553-2558 รัฐบาลเวียงจันทน์ได้วางวิสัยทัศน์ให้ลาว สลัดจากสภาพรัฐที่ไม่มีทางออกทะเล (Landlocked Country) เข้าสู่รัฐชุมทางอินโดจีน ผ่านการปฏิรูประบบคมนาคมขนส่งทั้งการพัฒนาทางหลวงสายเอเชีย การขยายจำนวนสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำโขง และการสร้างรถไฟความเร็วสูง 

 

พร้อมกันนั้น แผนยุทธศาสตร์แบตเตอรี่เอเชีย ที่ขยายโครงข่ายผลิตกระแสไฟฟ้าผ่านการลงทุนสร้างเขื่อนพลังน้ำร่วมกับบริษัทต่างชาติ ยังคงได้รับการขับเคลื่อนอย่างแข็งขัน ด้วยเชื่อว่าการกระจายไฟฟ้าครอบคลุมชนบท และทอดข้ามพรมแดนเชื่อมโยงเพื่อนบ้าน จะทำให้ลาวรุดหน้าในการพัฒนาประเทศ

 

ด้านเวียดนาม พรรคคอมมิวนิสต์ได้กำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ. 2554-2563) โดยกำหนดเป้าหมายไว้หลายมิติ อาทิ การพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด การสร้างสภาพแวดล้อมการแข่งขันทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม การสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาคและควบคุมเงินเฟ้อ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนการเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมและภาคบริการระยะสั้น พร้อมเน้นปฏิรูปภาคเกษตรระยะยาวเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยทิศทางดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า รัฐเวียดนามมีวิสัยทัศน์จะทะยานขึ้นสู่สภาวะเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านฐานเทคโนโลยีและทรัพยากรบุคคลระดับสูง

 

นอกเหนือจากแผนยุทธศาสตร์พัฒนารัฐ ทั้งกัมพูชา ลาว เวียดนาม ต่างเร่งทยอยปรับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการลงทุนภายในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง

 

ในกัมพูชา รัฐบาลฮุน เซน ได้กำหนดบทบาทเมืองเศรษฐกิจอย่างเด่นชัด อาทิ การปั้นให้พนมเปญเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และศูนย์กระจายสินค้าทั่วประเทศ ส่วนเสียมเรียบถูกวางให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ ขณะที่พระตะบอง และกัมปงจาม ถูกพัฒนาให้เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ส้ม เงาะ มังคุด ยางพารา ส่วนสีหนุวิลล์ถูกสถาปนาขึ้นเป็นท่าเรือน้ำลึกเพื่อรองรับเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่

 

 

ในลาว รัฐบาลกลางได้สร้างรูปแบบการลงทุนที่แปลกใหม่ เช่น ธุรกิจร่วมตามสัญญา (Business Cooperation by Contract) ซึ่งหมายถึงการร่วมลงทุนระหว่างนักลงทุนลาวกับนักลงทุนต่างชาติโดยไม่ต้องจัดตั้งนิติบุคคลขึ้นใหม่ หรือวิสาหกิจร่วมทุนระหว่างนักลงทุนต่างชาติกับนักลงทุนลาว (Join Venture between Foreign and Democratic Investor) โดยมีการจัดตั้งนิติบุคคลขึ้นมาใหม่ พร้อมกำหนดอัตราส่วนนักลงทุนต่างชาติไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด

 

ส่วนที่เวียดนาม การปฏิรูปภาคธนาคารและโทรคมนาคมถือเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามอง เช่น การผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ ซึ่งครอบคลุมทั้งสถาบันการเงินที่เป็นของรัฐ และสถาบันการเงินที่เป็นการร่วมทุนระหว่างธนาคารกลางเวียดนามกับธนาคารต่างประเทศ หรือการก่อตัวของรัฐวิสาหกิจและบริษัทบริการโทรคมนาคมอย่าง VNPT ซึ่งมีบริษัทแยกย่อยในรูปแบบรัฐวิสาหกิจอีก 8 บริษัท พร้อมครองส่วนแบ่งสูงสุดในตลาดโทรคมนาคมเวียดนาม

 

จากยุคสนามรบอินโดจีนสู่ยุคสนามการค้าเออีซี กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ได้ค่อย ๆ ทะยานสู่การเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจสังคม โดยมีแผนยุทธศาสตร์พัฒนาชาติเป็นพลังขับเคลื่อนหลักที่ส่งผลต่อทิศทางการเติบโตรุ่งเรืองของประเทศ ฉะนั้น รัฐไทยซึ่งกำลังอยู่ในช่วงเศรษฐกิจขาลง พร้อมถอยกลับสู่ยุคฟื้นฟูบูรณะชาติ คงต้องหันกลับมามองเพื่อนบ้าน พร้อมพยายามรักษาระดับสัมพันธ์เพื่อพยุงรักษาผลประโยชน์ชาติภายใต้กระแสอาเซียนภิวัตน์

 

 

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์ วันที่ 6 กรกฎาคม 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก