ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

การดูแลผู้ป่วยติดเตียงกับทีมหมอครอบครัว

วันที่ลงข่าว: 01/07/15

จากการที่กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเด่นชัดที่จะช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ และผู้สูงอายุ ถือเป็นภารกิจสำคัญยิ่ง ทั้งนี้ เพื่อมุ่งเน้นให้พี่น้องประชาชนอยู่ดีมีสุข โดยส่งทีมหมอครอบครัวลงพื้นที่ทุกชุมชนทุกตำบล และทุกหมู่บ้าน

“ผู้ป่วยติดเตียง พิการ หรือสูงอายุ ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เราจะนำทีมใหญ่ลงไปทุกตำบล เยี่ยมจนอาการดีขึ้น จากนั้นจะส่งเป็นลำดับต่อไป และหากผู้ป่วยดีขึ้น จะส่งให้ทีมครอบครัวระดับชุมชนเพื่อลงไปดูได้ละเอียดมากขึ้น ซึ่งเป็นชาวบ้านจะช่วยดูแลกัน”

<

คำบอกเล่าของนายแพทย์ฐาปกรณ์ จิตตนูนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นความปลาบปลื้มที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ และผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นความร่วมมือจากหลายฝ่าย นอกจากแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักกายภาพบำบัด นักการแพทย์แผนไทย ยังมีชาวบ้านจิตอาสา เข้ามาช่วยเหลืออีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งตามปกติแล้วการดูแลสุขภาพประชาชนในระดับอำเภอ จะมีโรงพยาบาลอำเภอหรือโรงพยาบาลชุมชนจะดูแลผู้ป่วยเป็นหลัก ปัจจุบันในพื้นที่อำเภอภาชีมีผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว 20-30 ราย

ขณะเดียวกัน ยังมีผู้นำท้องถิ่นเข้ามาดูแลส่งต่อผู้ป่วยอีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละรายมีรายได้น้อย ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญนอกเหนือจากงานประจำ ดังที่ นายสุรกิจ สุวรรณแกม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนหญ้านาง

“ท้องถิ่นเข้าไปดูแลเรื่องของรถรับส่งไปโรงพยาบาล โดยจะดูแลพี่น้องเอื้อเฟื้อ มีรถรับส่งผูป่วยกรณีแพทย์นัดหมาย รวมถึงทีมหมอครอบครัวก็เข้ามาดูแลการทำงานเชื่อมโยงกัน ระดับท้องถิ่นกับโรงพยาบาล เราทำอยู่จะดูแลทุกสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหลักประกันสุขภาพ ที่ดอนหญ้านางทำมาเป็น 10 ปี การดูแลผู้ป่วยที่หมอนัดไปโรงพยาบาล ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2548 ใช้จ่าย รายละ 2,000 บาท ใช้รถของ อบต. ท้องถิ่นต้องดูแล เป็นการให้บริการชาวบ้าน”

นางพิไลลักษณ์ จุลหิรัญ อายุ 41 ปี เป็นผู้ป่วยติดเตียงมากว่า 10 เดือนแล้ว เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ชนกับเสาไฟฟ้า ขณะเดินทางกลับจากทำงาน ทำให้เธอต้องนอนติดเตียง ซึ่งมีนายเฉลิม จุลหิรัญ สามีคอยดูแล “ออกมาจากโรงงานเกิดอุบัติเหตุรถชนเสาไฟฟ้า ขณะที่สวมใส่หมวกกันน็อค เป็นมา 10 เดือน ปัจจุบันภรรยามีรายได้เดือนละ 18,000 บาท ผมมีอาชีพรับจ้างทั่วไป ได้บ้างไม่ได้บ้าง จะมาดูแลทุก 2 ชั่วโมง คอยพลิกตัว ดูดเสมหะ ขอบคุณทีมแพทย์”

ทีมหมอครอบครัว หรือ Family Care Team มีเป้าหมายให้ประชาชนและชุมชน สามารถพึ่งตนเองได้และไม่ทอดทิ้งกัน โดยมีเครือข่ายบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ นั่นหมายความว่าคนไทยมีทีมหมอครอบครัวประจำตัวทุกครัวเรือน มีการดูแลผู้สูงอายุติดเตียง คนพิการที่ต้องได้รับการดูแลและผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก