ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

‘กองทุนคนพิการ 7 พันล้าน’ใช้ทำอะไร?

วันที่ลงข่าว: 22/06/15

โดย : ทีมข่าวรายงานพิเศษ
 

               ปัจจุบันไทยมีคนพิการลงทะเบียนทั้งหมด 1.66 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นความบกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหวมากถึงร้อยละ 48 จำนวน 8 แสนคน อันดับ 2 ด้านการได้ยินหรือสื่อความหมาย ร้อยละ 16 จำนวน 2.7 แสนคน และอันดับ 3 ด้านการมองเห็น ร้อยละ 11 หรือประมาณ 1.8 แสนคน อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุมากที่สุด สำหรับกลุ่มคนพิการตั้งแต่กำเนิดร้อยละ  8.4 ประมาณ 1.4 แสนคน 

               ข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พบว่า ส่วนใหญ่คนพิการกว่าครึ่งหนึ่งไม่ได้เรียนหนังสือ และหากได้เรียนหนังสือก็จบเพียงชั้นประถมศึกษาร้อยละ 42 ผู้จบระดับปริญญาตรีมีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

 

               ปัญหาเด็กพิการไม่ได้เรียนหนังสือนั้น เนื่องจากการเดินทางไปโรงเรียนเป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะในต่างจังหวัด แม้ว่าประเทศไทยจะมี “พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ” ตั้งแต่ปี 2550 และปรับปรุงเพิ่มเติมปี 2556 ที่กำหนดไว้ในมาตรา 20 สรุปใจความได้ว่า

 

               “ให้มีสถานศึกษาเฉพาะ หรือสถานศึกษาทั่วไปที่เหมาะสม หรือการศึกษาทางเลือก หรือการศึกษานอกระบบ โดยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบอำนวยความสะดวก สื่อ บริการและความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษาสำหรับคนพิการ”

 

               แต่ข้อเท็จจริงนั้น เด็กพิการส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงระบบการศึกษา โดยเฉพาะครอบครัวที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ หลายคนจึงมีความหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะช่วยให้คนพิการมีโอกาสดีขึ้น โดยใช้เงินกองทุนสำหรับคนพิการที่สะสมได้มากถึง 7,000 ล้านบาท

 

               พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ผลักดันนโยบายเงินอุดหนุนคนพิการรายเดือนเพิ่มจาก 500 เป็น 800 บาท แม้ว่ายังไม่ได้ครบทั่วประเทศ เพราะยังติดปัญหาเรื่องการเบิกจ่าย แต่อีกไม่กี่เดือนคนพิการจะได้ 800 บาทอย่างแน่นอน

 

               สำหรับปัญหาเด็กพิการไม่ค่อยได้ไปโรงเรียนนั้น พล.ต.อ.อดุลย์ ยอมรับว่า เป็นเพราะการเดินทางไม่สะดวก โดยกระทรวงกำลังมีโครงการส่งเสริมให้คนพิการออกจากบ้าน และเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ โดยเฉพาะเส้นทางการเดินเท้า การสร้างทางลาดขึ้นลงเรือหรือท่าเรือ ส่วนรถโดยสารประจำทางได้ร่วมมือกับ กทม.และกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย เทศบาล รวมถึงมหาวิทยาลัยกว่า 10 แห่ง ให้ช่วยออกแบบเส้นทางให้คนพิการเดินทางได้สะดวก

 

               “มีโครงการนำร่องในพื้นที่เกาะเกร็ด แล้วขยายไปอีก 6 จังหวัดรอบนอกกรุงเทพฯ กำลังจัดหารถเมล์ชานต่ำให้รองรับคนพิการขึ้นลงได้สะดวก ปีนี้จะมีมาประมาณ 400 คัน พร้องกับปรับเส้นทางการเดินรถเมล์ 20 สาย เพิ่มป้ายสัญลักษณ์คนพิการ 1,000 จุด ปรับปรุงสะพานทางเดินสำหรับคนพิการ 11 แห่งขึ้นลงสะดวก และต่อยอดไปถึงแท็กซี่สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุด้วย เหมือนที่ประเทศอังกฤษ สามารถเข็นรถวีลแชร์ขึ้นแท็กซี่ได้เลย นอกจากนี้ยังมีเงินให้ปรับปรุงบ้านคนพิการ โดยเฉพาะพื้นบ้านและห้องน้ำ ตั้งเป้าหมายปีนี้ 2,498 หลัง ประมาณหลังละ 2 หมื่นบาท ใช้งบประมาณ 40 ล้านบาท" พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าว

 

               นอกจากนี้ ยังมีการใช้เงินกองทุนฯ เพื่อจัดฝึกอบรมอาชีพอีก 129 ล้านบาท ปี 2558 มีผู้รับการฝึก 6,000 ราย เช่น โครงการเพาะเห็ด สานตะกร้า ทำขนม นวดแผนโบราณ ฯลฯ พร้อมด้วยเปิด “ศูนย์ออนไลน์” หรือตลาดอาชีพคนพิการ ให้ผู้พิการสามารถค้นหาอาชีพที่เหมาะสมกับตัวเองได้  โดยไม่ต้องเดินทาง

 

               “สุชาติ  โอวาทวรรณสกุล” สมาคมเพื่อคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย เสนอความเห็นในฐานะ “คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตและคนพิการแห่งชาติ” (กพช.) ว่า ประเทศไทยมีกฎหมายช่วยให้พัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการหลายฉบับโดยเฉพาะเด็กที่พิการตั้งแต่กำเนิด และปัจจุบันมีเงินสะสมให้ช่วยเหลือคนพิการไม่ต่ำกว่า 7,000 ล้านบาท จาก “กองทุนกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ” ที่ตั้งแต่ปี 2550 ตามมาตรา 23 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

 

               “ปัญหาคือเงินกองทุนฯ มีข้อจำกัดในการใช้ เน้นเพื่อให้กู้ยืมเงินรายละไม่เกิน 4 หมื่นบาทเท่านั้น มีเงื่อนไขต้องมีคนค้ำประกัน ผ่อนชำระ 5 ปี ไม่มีดอกเบี้ย หรือบางครั้งก็เอาไปฝึกสอนอาชีพ จัดซ้ำๆ กันทุกปี ทั้งที่ความจริงแล้ว ควรเปิดกว้างให้เอาเงินก้อนนี้มาพัฒนาคนพิการอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเด็กๆ ที่มีอนาคตอีกยาวไกล เช่น ให้อุปกรณ์การศึกษา อุปกรณ์ไอทีต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้ฝึกฝนอาชีพที่อยากทำในอนาคต ผมอยากเสนอให้กำหนดกติการะเบียบการใช้กองทุนใหม่ เช่น บางครอบครัวสามารถฝึกตัดเย็บเสื้อผ้าครบวงจร แล้วให้ลูกช่วยติดสติกเกอร์หรือตัดด้าย ใส่ถุง ติดกระดุม ฯลฯ แต่พอทำเสร็จไม่มีที่วางขาย เพราะไม่มีเงินไปเช่าโลเกชั่นดีๆ บางครั้งห้างสรรพสินค้าจัดที่ให้ แต่ก็เป็นมุมที่ไม่มีคนเดินผ่าน หรือหน้าห้องน้ำไกลๆ"

 

               สุชาติ แสดงความเห็นทิ้งท้ายว่า เงินกองทุน 7,000 ล้านบาท ขณะนี้เน้นไปที่การฝากสถาบันการเงินหรือลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่มีความเสี่ยง เพื่อหวังได้ดอกเบี้ยให้เงินกองทุนเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่เงินก้อนนี้ควรนำมาลงทุนอย่างจริงจัง เพื่อให้คนพิการได้พัฒนาตนเองมากกว่า

 

               “อยากให้ลองทำโครงการไปเลย เช่น ปีนี้ลงทุน 3,000 ล้านบาท กระจายให้คนพิการทั่วประเทศเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดูว่ากลุ่มคนพิการหรือครอบครัวคนพิการได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน เด็กพิการกี่หมื่นคนจะได้มีโอกาสอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น จ้างครูผู้ช่วยในโรงเรียน สนับสนุนการรวมตัวของครอบครัวคนพิการให้มีอาชีพ ที่สามารถให้คนพิการช่วยทำได้ด้วย ไม่อยากให้คิดแค่ผลกำไรจากดอกเบี้ยของกองทุน”

 

               ล่าสุด กลุ่มรับผิดชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้เพิ่มเติมเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสิทธิคนพิการ โดยเฉพาะเด็กพิการไว้อย่างน้อย 3 มาตรา ถือเป็นอีกหนึ่งความหวังว่า คนพิการ 1.6 ล้านคนทั่วประเทศไทยจะได้รับสิทธิและมีโอกาสได้พัฒนาตัวเอง เพื่อดำรงชีวิตอย่างเท่าเทียมผู้อื่นในสังคมอย่างแท้จริง ไม่ได้เป็นเพียงนโยบายในแผ่นกระดาษเหมือนที่ผ่านมา...

สิทธิคนพิการใน “ร่าง รธณ.ฉบับใหม่”

 

               มาตรา 34 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ เพศสภาพ อายุ ความพิการ สภาพทางกาย สุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้

 

               มาตรา 46 ครอบครัวย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองและช่วยเหลือจากรัฐให้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นปึกแผ่นและเป็นสุข และมีมาตรฐานการดำรงชีวิตที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย...เด็ก เยาวชน สตรี บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ และบุคคล ซึ่งพิการหรือทุพพลภาพ ย่อมมีสิทธิได้รับสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ และความช่วยเหลือ ที่เหมาะสมจากรัฐ

                

มาตรา 52...ผู้พิการหรือทุพพลภาพ ผู้ยากไร้ หรือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาโดยทัดเทียมกับบุคคลอื่น…

 

“สิทธิคนพิการ”

 

               1.สิทธิรับการศึกษาฟรีตั้งแต่แรกเกิดจนตลอดชีวิต

              

               2.การรักษาพยาบาล-ฟื้นฟูร่างกายฟรี 

 

               3.สิทธิมีงานทำ

 

               4.สิทธิการใช้ประโยชน์สาธารณะ เช่น รถเมล์ รถไฟ ฯลฯ

  

               5.สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้

 

               6.สิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

 

               7.สิทธิรับเบี้ยพิการเดือนละ 800บาท 

   

               8.สิทธิการใช้ล่ามภาษามือ

  

               9.สิทธิด้านที่อยู่อาศัยรายละไม่เกิน 20,000 บาท

   

               10.สิทธิในการไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม

 

               11.สิทธิได้รับคำปรึกษาทางกฎหมายและเงินประกันศาลฟรี

 

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก