ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

...อายทำไม?‘เราไม่แตกต่าง’... :

วันที่ลงข่าว: 19/06/15

ปฏิญญา เอี่ยมตาล :โดยทีมข่าวรายงานพิเศษ
 

               “ฝันอยากเป็นนักร้อง หรือเป็นนักประชาสัมพันธ์ก็ได้ หนูว่าหนูเป็นได้ เพราะหนูชอบพูดชอบคุย ชอบถามชอบสงสัย ชอบบอกชอบแนะนำคนนั้นคนนี้ มีอยู่ครั้งหนึ่งเพื่อนหนูในเฟซบุ๊กเขาเป็นแบบเดียวกัน หนูก็เอารูปที่ถ่ายด้วยกันมาโพสต์ลง เขาโกรธใหญ่เลยว่าเอารูปเขาไปลงทำไม อายคนอื่น หนูตอบว่า จะไปอายทำไม เราไม่แตกต่าง ไม่เห็นต้องอายเลย”

 

               “น้องฝ้าย” ด.ญ.บุญธิดา ชินวงษ์ นักเรียนชั้น ม.3 วัย 14 ปี เล่าถึงความฝันในอนาคต แม้ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายเหมือนเด็กคนอื่น แต่ในวันนี้น้องฝ้ายพร้อมแล้วที่จะใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไป

 

               ตอนเป็นเด็กเล็กเคยเฝ้าถามแม่ทุกวันๆ ว่า เมื่อไหร่แขนและขาของหนูจะงอกออกมาเสียที แม่ตอบว่า เดี๋ยวมันก็งอกเอง

 

               “วันนี้หนูรู้แล้ว มันจะไม่งอกออกมาอีก แรกๆ ก็เศร้าใจเหมือนกันนะ แต่พอมาโรงเรียนเห็นเพื่อนคนอื่นๆ เป็นแบบเรา ก็เลยไม่ได้คิดอะไร เพราะหนูมีครอบครัวที่อบอุ่น พ่อแม่ไม่เคยเก็บหนูไว้ในบ้าน พาไปเดินห้าง ไปโน่นไปนี่เหมือนเด็กปกติทั่วไป หนูไม่เคยคิดน้อยเนื้อต่ำใจที่เกิดมาเป็นแบบนี้ ภูมิใจด้วยซ้ำ เพราะทำอะไรได้หลายอย่าง หนูทำคอมพิวเตอร์เป็น ทำโปรแกรมโฟโต้ช็อป โฟโต้สเคป ฯลฯ หนูชอบไปโรงเรียน มีกิจกรรมให้ทำเยอะแยะ หนูไม่เหงา และไม่คิดมากเหมือนเด็กคนอื่น”

 

               น้องฝ้ายพยายามช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายครอบครัว ด้วยการรับจ้างระบายสีภาพกระเป๋าผ้าบาติกช่วงปิดเทอม รับมา 50 ใบ ได้ค่าจ้างใบละ 10 บาท ใช้วิธีออกแบบรูปภาพเอง หรือเลือกรูปที่ชอบจากอินเทอร์เน็ต หากมีเวลาว่างจะฝึกร้องเพลงและเต้นรำ ตามความฝันที่อยากเป็นนักร้อง ระหว่างระบายสีกระเป๋าผ้าน้องฝ้ายก็ร้องเพลงไปด้วย ส่วนใหญ่เป็นเพลงของนักร้องในดวงใจ คือ “พี่ตูน บอดี้สแลม” หากเป็นไปได้อยากเจอตัวเป็นๆ พี่ตูนสักครั้งหนึ่ง อยากไปดูคอนเสิร์ตหน้าเวที

 

               อยากบอกเพื่อนๆ ที่พิการว่า ต้องพอใจในสิ่งที่เกิดมาพร้อมกับตัวเรา ถึงมันจะไม่ครบก็ตาม จงใช้สิ่งที่หลงเหลืออยู่ให้ได้ประโยชน์ที่สุด ใครจะมองเรายังไงก็ปล่อยให้เขามองไป ขอแค่เราอย่าท้อก็พอ ให้ใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ แล้วเวลาไปไหนเราไม่เคยอายใคร อย่าไปคิดว่าตัวเองแตกต่างจากคนอื่น เราแค่ใช้อุปกรณ์ช่วยเท่านั้น

 

               แม้รัฐบาลพยายามออกนโยบายส่งเสริมเด็กพิการได้ออกจากบ้านไปเรียนหนังสือ แต่ระหว่างการเดินทางมาโรงเรียนของ “น้องฝ้าย” ไม่ใช่เรื่องง่าย...บ้านน้องฝ้ายอยู่ซอยแจ้งวัฒนะ 14 ทุกเช้าแม่จ้างน้าชายขับรถไปส่งที่ ร.ร.ศรีสังวาลย์ แถวปากเกร็ด ตอนเย็นต้องมารับกลับบ้าน หากคิดเฉพาะค่ารถก็ไม่ต่ำกว่าวันละ 200 บาท ทำให้เงินเบี้ยเลี้ยงคนพิการที่ได้รับเดือนละ 500 บาท ไม่เพียงพอค่าใช้จ่ายส่วนนี้

 

               “รัฐบอกจะเพิ่มให้เป็น 800 บาท ตั้งแต่ปีที่แล้ว ก็ยังไม่ได้ แม่บอกได้แค่ 500 บาท บางทีก็สงสารแม่นะ สิ้นเปลืองค่ารถมารับส่ง แต่แม่บอกว่าไม่เป็นไร อยากให้หนูได้เรียนหนังสือ โตขึ้นจะได้ไม่ลำบาก หนูเลยตั้งใจเรียนและบอกแม่ว่า อยากเรียนสูงๆ จนจบปริญญาตรี จะได้มีงานทำดีๆ มีเงินเดือนมาให้แม่”

 

               เนื่องจากโรงเรียนมี “โครงการไอทีเด็กพิการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ทำให้น้องฝ้ายได้รับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก 1 เครื่อง สำหรับฝึกใช้ที่บ้าน น้องฝ้ายใช้คอมพิวเตอร์ตัวนี้รับจ้างพิมพ์รายงานให้พี่ๆ และญาติๆ รวมถึงคนในละแวกบ้าน และเอาเงินที่ได้มาเก็บใส่กระปุกออมสินไว้ช่วยแม่จ่ายค่าเล่าเรียนเทอมละ 4,000 บาท แต่ตอนนี้เครื่องปริ๊นเตอร์เสีย ทำให้ขาดรายได้ส่วนนี้ไป

 

               “ตอนนี้เรียนอีกเทอมเดียวจบ ม.3 แม่อยากให้เรียน กศน. หนูบอกไม่เอา อยากเรียนต่อ ม.4 แต่แม่บอกว่า กลัวมีปัญหาในการเดินทาง ค่าใช้จ่ายเยอะ ตอนนี้คงดูก่อนว่าแม่จะส่งหนูเรียนไหวไหม” น้องฝ้าย กล่าวอย่างมีความหวัง

-คนพิการจดทะเบียนทั่วประเทศไทย      1.66 ล้านคน

-เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี               1.4 แสนคน

-วัยแรกเกิด - 6 ปี                             2.1 หมื่นคน

-7-14 ปี                                         5.9 หมื่นคน

-15-20 ปี                                        6 หมื่นคน
 

ขอบคุณ: กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์คมชัดลึกออนไลน์ วันที่ 11 มิถุนายน 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก