ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ประชาชนพอใจการดำเนินงานตามนโยบาย 6 ด้านของกรุงเทพมหานคร

วันที่ลงข่าว: 19/06/15

น.ส.ตรีดาว อภัยวงศ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงผลการสำรวจความพึงพอใจของประชาชนชาวกรุงเทพมหานครที่มีต่อการบริหารงานของกรุงเทพมหานคร ประจำปีงบประมาณ 2557 ภายใต้การบริหารงานของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยกรุงเทพมหานครร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ศึกษาระดับการรับรู้/รับทราบผลงานที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับนโยบาย/โครงการต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร และศึกษาระดับความพึงพอใจ ปัญหา และความต้องการของประชาชนชาวกรุงเทพฯ ที่มีต่อนโยบายและโครงการต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร ตามนโยบายร่วมสร้างกรุงเทพมหานคร 6 นโยบาย ได้แก่ มหานครแห่งความปลอดภัย มหานครสีเขียว มหานครแห่งความสุข มหานครแห่งการเรียนรู้ มหานครแห่งโอกาสของทุกคน และมหานครแห่งอาเซียน โดยสำรวจจากการสอบถามประชาชน จำนวน 10,000 คน ด้วยวิธีวิจัยผสมผสานทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ คือการสำรวจกับตัวอย่างซ้ำ (Panel Survey) และการสัมภาษณ์กลุ่มแบบเจาะจง (Focus Group Discussion)

 

ปรากฏว่า ชาวกรุงเทพฯ มีทัศนคติในเชิงบวกต่อผลการดำเนินงานในภาพรวมของกรุงเทพมหานคร และมากกว่าร้อยละ 80 ของชาวกรุงเทพฯ มีความพึงพอใจในนโยบาย/โครงการร่วมสร้างกรุงเทพมหานคร ทั้ง 6 นโยบาย คือ “มหานครสีเขียว” การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การเพิ่มถังขยะ 50,000 ใบ ใน 50 เขต “มหานครแห่งความปลอดภัย” การขยายเครือข่ายกล้อง CCTV การติดตั้งไฟส่องสว่างในพื้นที่เสี่ยง “มหานครแห่งความสุข” การเพิ่มเส้นทางรถไฟฟ้า 5 เส้นทาง การเพิ่มเส้นทางจักรยานอีก 30 เส้นทาง “มหานครแห่งการเรียนรู้” นักเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครเรียนฟรี “อิ่มท้อง สมองดี มีวินัย ปลอดภัย โตไปไม่โกง” การส่งเสริมการอ่านเมืองหนังสือโลกตามโครงการ Unesco “มหานครแห่งโอกาสของทุกคน” ส่งเสริมความสามารถคนรุ่นใหม่โดยสร้างโรงเรียนดนตรี/กีฬา การอำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุ พิการ หรือมีความต้องการพิเศษ และ “มหานครแห่งอาเซียน” การฝึกอบรมภาษาอังกฤษให้เจ้าหน้าที่ คนขับแท็กซี่/รถสาธารณะ การฝึกอบรมผู้เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวให้สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้

 

สำหรับสิ่งที่ชาวกรุงเทพฯ มีความต้องการและให้ความสำคัญมาก 5 เรื่อง ได้แก่ 1. การวางระบบและการบริหารจัดการการจราจร 2. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 3. การดูแลอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตให้กับผู้สูงอายุและผู้พิการ 4. การรักษาความสะอาดของพื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ และ 5. การส่งเสริมให้มีโอกาสในการพัฒนาตนเองให้มีความเข้มแข็งและมั่นคงทางเศรษฐกิจ เช่น การฝึกอบรมทักษะอาชีพ และการจัดพื้นที่ให้ขายของ เป็นต้น ซึ่งชาวกรุงเทพฯ ที่อาศัยอยู่ในแต่ละเขตมีความพึงพอใจต่อคุณภาพการดำเนินงานเกี่ยวกับนโยบาย/โครงการร่วมสร้างกรุงเทพมหานครในเขตของตนในระดับที่ใกล้เคียงกัน

 

ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวว่า ผลการสำรวจที่ออกมาถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี เมื่อประชาชนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจ เป็นการยืนยันว่ากรุงเทพมหานครได้ดำเนินการด้านต่างๆ มาถูกทาง ที่สำคัญ ผลสำรวจจะเป็นกำลังใจต่อการทำงานต่อไป นอกจากนี้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ในด้านลบก็จะเป็นแรงผลักดันให้กรุงเทพมหานครทุ่มเทแรงกายแรงใจทำงานอย่างเต็มที่ต่อไป

 

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก