ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

รมว.แรงงาน ปราศรัย'ความมุ่งมั่น'การดำเนินงาน 'ด้านแรงงาน' ของไทย

วันที่ลงข่าว: 11/06/15

รมว.แรงงาน กล่าวปราศรัยการดำเนินงานด้านแรงงานของไทย พร้อมสนับสนุนวิสัยทัศน์ ILO แจง!! ไทยดำเนินการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย กว่า 1.6 ล้านคน ระบุตระหนักถึงความสำคัญของการให้สัตยาบันอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศเพื่อนำไปสู่ความก้าวหน้าทางสังคมและเศรษฐกิจ 

พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวปราศรัยในการประชุมใหญ่ประจำปีขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ สมัยที่ 104 ณ ห้องประชุมสมัชชาใหญ่ สหประชาชาติ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ว่า ประเทศไทยสนับสนุนวิสัยทัศน์ของผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ โดยหวังจะได้เห็นอนาคตของงานที่จะเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่สองขององค์การแรงงานระหว่างประเทศทั้งนี้ ประเทศไทยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่มีจำนวนกว่า 1.6 ล้านคน โดยได้ผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศและทำงานเป็นการชั่วคราวหลังการจดทะเบียนในฐานะแรงงานต่างด้าว ซึ่งการดำเนินการข้างต้นทำให้แรงงานต่างด้าวได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับที่แรงงานไทยได้รับ เช่น กฎกระทรวงแรงงานฉบับใหม่ที่ออกมาเพื่อสอดคล้องตามอนุสัญญาฉบับที่ 188 ว่าด้วยแรงงานประมง พ.ศ.2550 ซึ่งมีสาระสำคัญ เช่น การให้ลูกจ้างมีเวลาพักที่เพียงพอ การห้ามบุคคลอายุต่ำกว่า 18 ทำงานบนเรือ การได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ รวมทั้งการจัดทำทะเบียนลูกจ้าง อันเป็นผลให้งานในภาคประมงมีจำนวนเพิ่มขึ้นและคนงานมีความมั่นคงในการทำงานมากขึ้น

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ประกาศความตั้งใจในการขจัดการค้ามนุษย์ให้เป็นวาระแห่งชาติ และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ประเทศไทยได้มุ่งบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและมีบทลงโทษที่รุนแรงต่อผู้กระทำผิดข้อหาการค้ามนุษย์ไม่ยกเว้นแม้แต่ผู้กระทำผิดที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ในส่วนของแนวคิดว่าด้วย “งานและสังคม” นับแต่การจ้างงานได้ช่วยให้เกิดการพัฒนาบุคคลและการมีส่วนร่วมในสังคม รัฐบาลไทยจึงมีนโยบายเพื่อยืนยันว่า“คนไทยทุกคนต้องมีงานทำ” โดยการจัดตั้งศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทยทั่วประเทศ เพื่อให้บริการจัดหางานให้แก่ประชาชนและยังสนับสนุนแนวคิด “งานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน” ด้วยการสนับสนุนสร้างโอกาสการมีงานทำที่เท่าเทียมแก่คนพิการและการมีชีวิตอย่างมีความสุขในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม แนวทางหนึ่งคือ ร่วมมือกับสถานประกอบการหลายแห่งดำเนินการส่งเสริมการจ้างงานที่ยั่งยืนแก่คนพิการเพื่อได้ทำงานในชุมชน ให้มีรายได้ที่มั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า ประเทศไทยก็เหมือนกับประเทศสมาชิกอื่นๆ ที่มีจำนวนคนทำงานในเศรษฐกิจนอกระบบเป็นจำนวนมาก ต่อกรณีนี้ รัฐบาลไทยอยู่ระหว่างการดำเนินการขยายการคุ้มครองทางสังคมให้ครอบคลุม เพื่อช่วยให้คนทำงานในเศรษฐกิจนอกระบบปรับเปลี่ยนสถานะไปสู่เศรษฐกิจในระบบ โดยมีคณะกรรมการระดับชาติว่าด้วยการจัดการแรงงานนอกระบบได้ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินการตามแผนปฏิบัติการนี้อย่างมีประสิทธิผล

 

สำหรับแนวคิดว่าด้วย “ธรรมาภิบาลของงาน” ก็ถือเป็นอีกประเด็นหนึ่งในการหารือในโอกาสครบรอบหนึ่งศตวรรษ โดยรัฐบาลไทยตระหนักถึงความสำคัญของการให้สัตยาบันอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศเพื่อนำไปสู่ความก้าวหน้าทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยในวันแรงงานปีนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติของประเทศไทยได้เห็นชอบต่อการให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล ค.ศ. 2006 และเห็นชอบต่อร่างพระราชบัญญัติแรงงานประมง พ.ศ. .... ซึ่งจะถือเป็นการออกกฎหมายเรื่องนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยนอกจากนี้ การดำเนินงานเพื่อการให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 111 ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ พ.ศ.2501 และอนุสัญญาฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบงานเชิงส่งเสริมการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย พ.ศ.2549 ก็อยู่ระหว่างดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จ

 

?รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในตอนท้ายว่า ประเทศไทยมีความเชื่อมั่นบนหลักตรรกะพื้นฐานที่ว่าอนาคตของงานมีความเชื่อมโยงกับอนาคตของความยุติธรรมในสังคม ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงตั้งใจดำเนินตามเสียงเอกฉันท์ของประเทศสมาชิกเพื่อนำไปสู่การทำงานในช่วงศตวรรษที่สองขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ภายใต้อาณัติของประเทศเพื่อความยุติธรรมสำหรับทุกคน ทั้งนี้ ประเทศไทยยังเชื่อว่าการบรรลุความสำเร็จในเรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยการได้รับความสนับสนุนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศเช่นกัน

 

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก