ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

"เด็ก กศน." สุดเจ๋ง! สอบติดแพทย์พระมงกุฎฯ

วันที่ลงข่าว: 10/06/15

 สวัสดีค่ะน้อง กลับมาเจอกันในคอลัมน์ Admission Idol สุดยอดบุคคลที่เป็นไอดอลในเรื่องแอดมิชชั่น  วันดีๆ แบบนี้ พี่เมษ์ได้ชวนไอดอลอีกคน “พี่วิทย์” วรวิทย์ คงปอ เด็ก กศน. กับประสบการณ์กว่าจะได้เป็นหมอ!! จะง่ายหรือยากสุดหินยังไง ต้องมาดูกัน

แนะนำตัว

            สวัสดีครับ ชื่อ วรวิทย์ คงบางปอ ครับ นิสิตเตรียมแพทย์ชั้นปีที่1 วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ครับ จบการศึกษาเทียบเท่าชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจาก ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ครับ ต้องเล่าว่าตอนม.4- ม.5 เรียนสายสามัญครับ แต่มีเหตุให้ต้องย้ายที่เรียน แล้วไม่สามารถไปเข้าเรียนได้ ทำให้ตัดสินใจเรียน กศน. แล้วเทียบโอนวิชาที่เรียนมาแล้ว ทำให้สามารถจบพร้อมๆ กับเพื่อนๆ ในหลักสูตรได้ 
            (นิสัยส่วนตัวเป็นคนยังไง) โดยปกติแล้วถ้ากับคนที่ไม่รู้จักกันจะคิดว่าผมเป็นคนเงียบๆ พูดน้อยครับ เพราะเป็นคนเริ่มคุยก่อนไม่ค่อยเก่ง แต่ถ้ารู้จักหรือสนิทแล้วจะพูดมากครับ
 

เรียน กศน. ส่งผลต่อการสอบมากกว่าเด็กสายสามัญ?

            ถ้าถามว่าส่งผลมั้ย ก็มีบ้างที่ส่งผลครับ เพราะการเรียนนอกระบบถ้าอยากรู้หรืออยากเรียนอะไรต้องขวนขวายหาเองหมด ไม่มีเพื่อนให้ปรึกษา ไม่มีอาจารย์ให้ถาม ไม่มีสังคมกับเพื่อนๆ ในโรงเรียนที่จะทำให้เรารู้สึกว่าเห้ย เรามีคนที่ร่วมชะตากรรมนะ เลยทำให้บางครั้งก็มีท้อครับแต่ต้องสู้ต่อไป แล้วผมอยู่ต่างจังหวัดด้วยทำให้ไม่ค่อยมีที่ติวดัง ก็เรียกว่าลำบากพอตัวเลย
 
ความพยายามทำให้มีวันนี้! ตามรอย "พี่วิทย์" เด็ก กศน. คนแรกของไทย ที่สอบติดหมอ!

เตรียมตัว หนัก ทำข้อสอบซ้ำๆ จนกว่าจะได้!!

            ตัวผมเองไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด หรือ เก่งกว่าใคร ผมเลยต้องเตรียมตัวให้มากโดยเริ่มอ่านหนังสืออย่างจริงจัง ประมาณ 1 ปีครึ่ง ก่อนสอบครับ (เอาแบบละเอียดๆ รายวิชาเลย)
วิชาคำนวณพวกฟิสิกส์ เคมี คณิต
- ผมจะอ่านเนื้อหาทีละบทก่อน
- พอจบเนื้อหาหนึ่งบทก็จะไปทำโจทย์ของบทนั้นๆ
- พอครบทุกบทก็จะไปทำโจทย์ข้อสอบรวมย้อนหลัง
- พอทำเสร็จหนึ่งชุดเอามาตรวจแล้วก็ทำซ้ำ ข้อที่ทำได้แล้วทำซ้ำ 1 รอบ
- ข้อที่ยังทำไม่ได้ทำซ้ำ 3 รอบ ครับ
วิชาจำอย่างชีวะ 
- พออ่านจบหนึ่งหน้าก็จะปิดสมุดแล้วก็อธิบายคอนเซปให้ตัวเองฟัง
- ถ้าอธิบายได้เข้าใจและได้ทั้งหมดถึงจะขึ้นหน้าต่อไป มันอาจจะช้าหน่อยแต่ชัวร์ครับ
- พอจบหนึ่งบทก็จะไปทำสรุปและโจทย์บทนั้นๆครับ
- พอจบทุกบทค่อยขึ้นข้อสอบรวมครับ
- ทุกครั้งที่เฉลยข้อสอบแล้วรู้ว่าเราผิดตรงไหนผมจะมีสมุดเล่มเล็กๆ ไว้จดข้อผิดพลาดเสมอครับ เพราะมันเป็นจุดที่ข้อสอบมักใช้หลอกเราบ่อย
ภาษาอังกฤษ
- ผมอ่านแกรมม่าแล้วก็ท่องศัพท์ซะส่วนใหญ่ครับ
- ช่วงก่อนสอบก็พยายามดูหนังก็จะฟังเป็นภาษาอังกฤษ อ่านนิยายภาษาอังกฤษ ฟังเพลงภาษาอังกฤษครับ
ไทย - สังคมฯ
- อ่าน 1 เดือนสุดท้ายก่อนสอบครับ 
 
            ส่วนช่วงเวลาที่ผมอ่านหนังสือ วันนึงผมจะเลือกอ่านแค่ 3 วิชาครับ วิชาละ 2 ชม. สลับๆ กันไป ทริคสำคัญสำหรับผม คือ ผมชอบอ่านช่วงกลางคืนมากกว่าช่วงกลางวันครับเพราะรู้สึกว่าทุกอย่างมันเงียบสงบและอากาศก็สบาย
            อีกอย่างที่สำคัญคือ ลักษณะการอ่านของผม ผมจะวางแผนก่อนเสมอเริ่มตั้งแต่แผนระยะสั้นไประยะยาว เช่น อาทิตย์นี้ต้องอ่านจบบทไหน เดือนนี้ต้องอ่านจบบทไหน แล้วก่อนสอบ 2 เดือนจะต้องจบทุกบท เพื่อให้สองเดือนที่เหลือใช้ทวนจุดยิบย่อยที่ข้อสอบอาจจะหลอกเราครับ ประมาณนี้ครับ
 

"ติว" ไม่ใช่แค่ใช้เงิน ใช้ใจล้วนๆ

            อย่างที่ผมได้บอก จังหวัดที่ผมอยู่ไม่ได้มีที่ติวมากมาย บ้านผมอยู่ที่จังหวัดระนองนะครับ แต่ต้องไปติวที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ไปเรียนได้แค่เนื้อหา ไม่สามารถเรียนต่อพวกตะลุยโจทย์หรือทำโจทย์ต่างๆ ได้เพราะจะไม่มีรถกลับบ้าน รีบเรียน แล้วก็ต้องรีบกลับบ้าน ทำอย่างนี้ตลอดช่วงเลา 1 ปี ที่เรียน กศน. ไปด้วย เตรียมตัวสอบไปด้วย ไม่ง่ายเลยครับ ผมเคยมองตัวเองเทียบกับหลายๆ คนที่มีที่ติวใกล้ๆ มีที่เรียนพิเศษไม่ไกลบ้าน เค้าโชคดีครับ ผมไม่มีอะไรไปสู้ นอกจากความพยายาม
 
ความพยายามทำให้มีวันนี้! ตามรอย "พี่วิทย์" เด็ก กศน. คนแรกของไทย ที่สอบติดหมอ!
            (แล้วผลออกมาเป็นยังไง) ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย สำหรับผม อยากเป็นหมอ ก็ต้องผ่านระบบรับตรงของ กสพท. ครับ ใช้คะแนน 7 วิชาสามัญ + วิชาเฉพาะแพทย์ ซึ่งผมได้คะแนนน่าพอใจ เรียกว่าคุ้มค่ากับที่พยายาม (เท่าไหร่บ้าง)
คณิตศาสตร์ 60 คะแนน 
สังคมศึกษา 40 คะแนน 
ภาษาไทย 78 คะแนน 
ภาษาอังกฤษ 55 คะแนน 
เคมี 70 คะแนน 
ชีววิทยา 65 คะแนน 
ฟิสิกส์ 64 คะแนน 
คะแนนวิชาเฉพาะ กสพท. ได้ 20.6111 % 
รวมได้ 63.5444 %
            (ปลื้มวิชาไหนที่สุด) สำหรับคะแนน ผมปลื้มวิชาเคมีเพราะตอนแรกรู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยชอบวิชานี้ เลยเริ่มฟิตด้วยการปูพื้นฐานเนื้อหา แล้วทุกครั้งที่อ่านจบ 1 บทก็จะทำโจทย์บทนั้นๆเพื่อให้เข้าใจครับ พอจบทุกบทก็จะตะลุยโจทย์รวมข้อสอบเก่าครับ
 

รอบสัมภาษณ์ผิดคาดจากที่เตรียมมา

            ด้วยความที่ผมตั้งใจ พอถึงตอนสัมภาษณ์เข้าเรียน ผมก็ไปหาข้อมูล แล้วก็ท่องข้อมูลเกี่ยวกับวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าไปพอสมควรครับ แต่อาจารย์ท่านไม่ถามเลย ท่านกลับถามเรื่องเหตุผลที่ทำให้ผมเรียน กศน. และถามถึงช่วงชีวิตตอนเรียน กศน. ครับ เป็นคำถามที่ทำให้รู้สึกว่าอบอุ่นกับความใส่ใจต่อตัวนักศึกษาตัวเล็กๆ อย่างเรา
 

เรื่องยากๆ ในรั้วมหาวิทยาลัย

            ตัวผมเองไม่ได้มองว่าการเรียนเป็นสิ่งที่ยากที่สุดในรั้วมหาลัย สำหรับผมไม่ใช่เลยครับ แต่ผมกลับมองว่าเรื่องที่ยากที่สุดกลับเป็นการปรับตัวเข้าให้กับคนหลายรูปแบบ สังคมใหม่ๆ คนใหม่ๆ เพื่อนใหม่ ทุกอย่างใหม่หมดเลย และอีกอย่างที่ผมมองว่ายากก็คือ การบริหารเวลาทำงานกับเรียน ให้ไปด้วยกันได้ เนื่องจากผมเป็นประธานรุ่นนิสิตเตรียมแพทย์ชั้นปีที่1 ทำให้ต้องทำงานต่างๆ เพิ่มขึ้นและติอต่อสื่อสารกับหลายๆ คนครับ ทำให้ผมคิดว่าเนี่ยแหละเรื่องยากสำหรับผม แต่ตอนนี้ก็เป็นไปได้ด้วยดีครับ มีความสุขในรั้วมหาวิทยาลัย และก้รู้สึกคุ้มค่าที่ทุ่มเทมา
 

ฝากถึงเด็กแอด

            สำหรับผม ผมอยากฝากถึงน้องๆ ที่กำลังรอแอดมิดชั่นนะครับ คนเราถ้ายังไม่ตายความหวังมันก็ยังมีเสมอครับ เมื่อถึงวันประกาศจะมีทั้งคนสมหวังและผิดหวัง น้องๆ ที่สมหวัง ผมก็ยินดีด้วย สำหรับคนที่ผิดหวังจำไว้นะครับว่าล้มเองได้ ก็ต้องลุกเองให้ได้ น้องเสียใจผิดหวังยังมีพ่อแม่ที่เสียใจกว่าน้องหลายเท่า สู้เพื่อพ่อแม่นะครับ วันนี้อาจไม่ใช่วันของน้องแต่วันข้างหน้าขอให้เชื่อมั่นตัวเองว่าน้องต้องทำได้ "ความฝันไม่จำเป็นต้องตรงใจใคร ขอแค่มันตรงใจเราก็พอ"
 
ความพยายามทำให้มีวันนี้! ตามรอย "พี่วิทย์" เด็ก กศน. คนแรกของไทย ที่สอบติดหมอ!
             ตัวอย่างไอดอลของเราวันนี้ คงเป็นอีกคนที่ทำให้น้องๆ เห็นว่า กว่าจะทำตามฝันได้มันไม่ง่ายเลยเนอะ มีทั้งสมหวัง ผิดหวัง พยายาม และตั้งใจ ขนาดไหน ถ้าอยากได้สิ่งที่หวังก็ต้องทุ่มเทและพยายาม ไม่มีอะไรเป้นไปไม่ได้หรอกเนอะ
             เอาละค่ะ คงต้องทิ้งท้ายกันไว้แต่เพียงเท่านี้แล้ว แล้วกลับมาเจอกับพี่เมษ์และไอดอลคนต่อไปได้วันอังคารกับคอลัมน์ Admission Idol ที่เว็บ Dek-D.com นะคะ แล้วเจอกันนะคะ บ๊ายบาย!

ขอบุคณ: http://www.dek-d.com/admission/37085/
ที่มาของข่าว http://www.dek-d.com/admission/37085/
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก

Fatal error: Call to undefined function drupal_get_path() in /usr/local/www/apache22/data/Braille-new/sites/all/modules/better_statistics/better_statistics.module on line 181