ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

“สุรินทร์ พิศสุวรรณ” ชี้ไทยต้องเร่งฟิตภาษาหากไม่อยากรั้งท้ายอาเซียน

วันที่ลงข่าว: 09/06/15

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช จัดการประชุมวิชาการเรื่องการศึกษาผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการศึกษาของอาเซียนต่อการจัดการศึกษาเอกชนของไทย ซึ่งมีการแสดงปาฐกถาพิเศษของนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ประธานสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย ในหัวข้อ “โอกาสในการลงทุนจัดการศึกษาเอกชนของไทยในประเทศสมาชิกอาเซียน และการเตรียมความพร้อมในการจัดการศึกษาเอกชนของไทยสำหรับการเปิดเสรีด้านการศึกษาของอาเซียน”

 

นายสุรินทร์กล่าวว่า การศึกษาถือเป็นจุดเริ่มต้นในทุกๆ เรื่อง เรื่องที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วงในระบบการศึกษาของไทยคือทักษะภาษาต่างประเทศ ซึ่งกลุ่มวิชาชีพที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ระหว่างประเทศต้องมีการสื่อสารทำความเข้าใจ ต้องมีทักษะด้านภาษาต่างประเทศ ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องเป็นภาษาที่เป็นที่นิยม เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ตนทราบมาว่าประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนให้ความสนใจศึกษาภาษาไทยมากกว่าที่เราจะเข้าไปเรียนรู้ภาษาของเขา รู้สึกว่าการเรียนรู้ภาษาประเทศเพื่อนบ้านยังไม่จำเป็น หากยังเป็นเช่นนี้อยู่ ประเทศไทยจะอยู่ในจุดที่จะคับขันในการเรื่องการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทั้งที่เรามีเวลาในการเตรียมตัวพอกับประเทศอื่นๆ

“หากภาษาอังกฤษของประเทศเราดีขึ้นกว่านี้สัก ๒๕% ผมเชื่อว่าความสามารถในการแข่งขันของคนไทยจะสูงขึ้นมาก เพราะทุกประเทศยอมรับทักษะ ความรู้ความสามารถของคนไทยอยู่แล้ว ขาดเพียงการสื่อสารเท่านั้น เราต้องเปิดตัวเองเพื่อเรียนรู้และศึกษาสร้างความพร้อมเพื่อที่จะอยู่ในประชาคมอาเซียนแบบประเทศอื่นๆ”

นายสุรินทร์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ประเทศไทยยังต้องปรับเรื่องคุณภาพและระบบการศึกษา ภาคเศรษฐกิจของไทยใหญ่อันดับสองของอาเซียน และมีความหลากหลายมาก ไทยควรสนับสนุนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของตนเองที่จะมารองรับภาคเศรษฐกิจให้มากขึ้นและจะแข่งขันกับคนอื่นได้

คณะผู้วิจัยได้สรุปผลกระทบที่จะเปิดเสรีทางการศึกษาของอาเซียนต่อการจัดการศึกษาเอกชนของไทยว่า ภาพรวมสถานศึกษาเอกชนที่จัดการศึกษามีมาตรฐานสากล อาทิ โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัย และโรงเรียนในเครือศาสนาคริสต์ จะสามารถแข่งขันต่อไปได้ ในขณะที่โรงเรียนปานกลางและโรงเรียนที่อ่อนแอต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น มีผลให้โรงเรียนประมาณร้อยละ ๑๐-๓๐ ต้องยุบเลิกกิจการ ขึ้นอยู่กับมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ และความสามารถในการปรับตัวของผู้ประกอบการ ส่วนโอกาสในการจัดการศึกษาในระบบมีน้อย เพราะคุณภาพการศึกษาไม่เป็นที่ยอมรับ แต่ที่โดดเด่นคือหลักสูตรระยะสั้นด้านการบริการ อาทิ อาหาร สปา นวดแผนไทย เป็นต้น

ที่มาของข่าว http://dlfeschool.in.th/
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก