ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

หวั่นอุดมศึกษาไทยล้าหลังสุดในกลุ่มอาเซียน

วันที่ลงข่าว: 08/06/15

ชูสหกิจศึกษา เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาศักยภาพ คุณภาพของบัณฑิตไทยให้พร้อมก้าวสู่การทำงานและการแข่งขัน “พินิติ” เผยจากการร่วมประชุม Going Dlobal ที่ประเทศอังกฤษมีการเสนอข้อมูลการศึกษาใน 9 ประเทศอาเซียน พบคุณภาพวิชาการ ความรู้ นวัตกรรมของมาเลเซียนำหน้าไทยทั้งที่มหา’ลัยน้อยกว่า ขณะที่เวียดนามตามหลังมาติดๆ ไทย เล็งเสนอข้อมูลต่อ กกอ.เตรียมแผนรับมือหวั่นหากปล่อยไว้ไทยจะล้าหลังที่สุดในกลุ่มอาเซียน

       

       รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง "สหกิจศึกษา:กลไกการพัฒนาบัณฑิตสู่สากล" ตอนหนึ่งในงานวันสหกิจศึกษาไทย ครั้งที่ 6 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ว่า สหกิจศึกษาเป็นการตอบโจทย์ที่สำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถบัณฑิตไทยให้มีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล ตามกรอบแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี ซึ่งการผลิตบัณฑิตต้องตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคม และการแข่งขันการเข้าสู่การทำงานที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะเวลานี้กำลังจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การแข่งขันจึงไม่ใช่เฉพาะแค่ 60 ล้านคนเท่านั้น แต่จะมากถึง 600 ล้านคน ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มากที่ไทยต้องเร่งปลูกฝัง และพัฒนานิสิต นักศึกษาให้มีความรู้ และได้ปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการก่อนสำเร็จการศึกษา

       

       "ในการประชุม Going Global 2015 ที่สหราชอาณาจักร เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการนำเสนอข้อมูลคุณภาพการศึกษาในบริบทอาเซียนของ 9 ประเทศ ซึ่งมีข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ไม่มีการนำเสนอข้อมูลของประเทศสิงคโปร์ทั้งที่เป็นประเทศในอาเซียน โดยผู้นำเสนอให้เหตุผลว่า เป็นประเทศที่มีมาตรฐานคุณภาพสูงเกิน 9 ประเทศไปแล้ว นอกจากนี้ยังพบว่า ข้อมูลในเรื่องคุณภาพวิชาการ ด้านความรู้ และนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในสถาบันอุดมศึกษานั้น ประเทศมาเลเซียสามารถผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ ได้มากกว่าประเทศไทยกว่า 1 เท่าตัว ทั้งที่มาเลเซียมีสถาบันอุดมศึกษาน้อยกว่าไทย ขณะที่ประเทศเวียดนามตามหลังไทยมาติดๆ ดังนั้นชาวอุดมศึกษาต้องคิดให้หนัก เพราะหากปล่อยไว้แบบนี้จะเป็นอันตรายสำหรับไทยมาก ซึ่งผมจะนำข้อมูลดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุม กกอ. เพราะถ้าเรายังยืนอยู่กับที่ หรือก้าวเดินอย่างช้าๆ คงล้าหลังประเทศในกลุ่มอาเซียนแน่นอน" รศ.ดร.พินิติ กล่าวและว่า แม้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะดูแลเรื่องมาตรฐานหลักสูตร แต่ในความเป็นจริงแม้จะมีกรอบมาตรฐานที่เข้มข้น แต่หากมหาวิทยาลัยไม่มุ่งเน้นเรื่องคุณภาพอย่างจริงจัง บัณฑิตที่จบออกไปจะมีคุณภาพคงเป็นเรื่องลำบาก ดังนั้นมหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพ สมรรถนะ และศักยภาพของบัณฑิต ซึ่งสหกิจศึกษาเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาสิ่งเหล่านี้ โดยจะทำให้เด็กมีทักษะ เข้าใจวิชาชีพ และพร้อมออกไปทำงานมากขึ้น

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 8 มิถุนายน 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก