ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

กระทรวงสาธารณสุข เตือนภัยกลุ่มเสี่ยง เชื้อไข้หวัดใหญ่ระบาดคร่าชีวิต

วันที่ลงข่าว: 27/05/15

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 (จ.บุรีรัมย์ ชัยภูมิ นครราชสีมา สุรินทร์) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-13 พ.ค. 58 พบผู้ป่วย จำนวน 3,367 ราย แยกเป็นบุรีรัมย์ 408 ราย ชัยภูมิ 356 ราย สุรินทร์ 71 ราย และนครราชสีมา 2,532 ราย มีผู้เสียชีวิต 17 ราย ซึ่งไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน พบได้บ่อยในประชาชนทุกกลุ่มอายุ ติดต่อกันโดยการไอหรือจามรดกัน หรือหายใจเอาฝุ่นละอองเข้าไป หากอยู่ใกล้ผู้ป่วยในระยะ 1 เมตร บางรายได้รับเชื้อทางอ้อมผ่านทางมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น แก้วน้ำ ลูกบิดประตู โทรศัพท์ ผ้าเช็ดมือ เป็นต้น ซึ่งพบว่ามีประชาชนมารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จำนวนมาก

 

นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ผู้ป่วยมักจะมีอาการไข้สูง ตัวร้อน หนาว ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะที่หลัง ต้นแขน ต้นขา ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คัดจมูก มีน้ำมูกใส ๆ ไอแห้ง ๆ โดยในเด็กอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วงได้มากกว่าผู้ใหญ่ ส่วนอาการคัดจมูก จาม เจ็บคอ พบเป็นบางครั้งในไข้หวัดใหญ่ แต่จะพบในไข้หวัดมากกว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง หายป่วยได้โดยไม่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล อาการจะทุเลาและหายป่วยภายใน 5-7 วัน แต่บางรายที่มีอาการปอดอักเสบ รุนแรง จะพบอาการหายใจเร็ว เหนื่อย หอบ หายใจลำบาก ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้

 

ด้าน นพ.ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผอ.สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 นครราชสีมา เผยว่า กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล โดยเน้นฉีดให้แก่กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1. บุคลากรที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ซึ่งบุคลากรกลุ่มนี้อาจเป็นผู้แพร่โรคไปยังผู้มีความเสี่ยงต่อโรคสูง ได้แก่ แพทย์ พยาบาล และบุคลากรอื่น ๆ ในโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ทำหน้าที่สอบสวนควบคุมโรค เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครทำลายซากสัตว์ปีกและสัตว์อื่นที่สงสัยติดเชื้อไข้หวัดนก เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2. ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ขวบ ทุกคน ผู้มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือด สมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และโรคอ้วน ระยะเวลาในการรณรงค์ 3 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 พ.ค.-31 ก.ค. 58 สามารถฉีดได้ที่โรงพยาบาลของรัฐและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลใกล้บ้าน

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก

Fatal error: Call to undefined function drupal_get_path() in /usr/local/www/apache22/data/Braille-new/sites/all/modules/better_statistics/better_statistics.module on line 181