ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ไทยจัดประเมินคุณภาพการศึกษาอาเซียนรองรับการขยายแรงงานของบัณฑิตเออีซี

วันที่ลงข่าว: 06/05/15

ไทยร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนดำเนินการการประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษาของภูมิภาคอาเซียน ๑๐ ประเทศ ให้มีมาตรฐานและการดำเนินการด้านประกันคุณภาพไปในทิศทางเดียวกัน รองรับการเคลื่อนย้ายแรงงาน

 

ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวว่า การเปิดเสรีอาเซียนจะทำให้การเคลื่อนย้ายนักศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาเป็นไปอย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อการประกอบอาชีพในอนาคต จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับประเทศต่างๆ

 

ปัจจุบันทั่วอาเซียนมีจำนวนนักศึกษาในระดับอุดมศึกษากว่า ๑๒ ล้านคน ประเทศไทยมีนักศึกษาระดับอุดมศึกษาจบการศึกษาแต่ละปีกว่า ๓๐๐,๐๐๐ คน หน่วยงานประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอกกลุ่มประเทศอาเซียน จึงได้รวมตัวกันภายใต้ชื่อ The ASEAN Quality Assurance Network (AQAN) โดยมีผู้อำนวยการ สมศ. เป็นประธานเครือข่าย ได้มีข้อตกลงความร่วมมือในการจัดทำคู่มือ ASEAN Quality Assurance Framework (AQAF) ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินงานในการประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษาของภูมิภาคอาเซียนขึ้น เป็นเครื่องมือในการเทียบเคียงมาตรฐาน และการดำเนินการด้านประกันคุณภาพให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายทรัพยากรมนุษย์  ด้วย ๔ กลยุทธ์

 

๑. หน่วยงานประเมินคุณภาพภายนอก (Principles of External Quality Assurance Agency) คือหน่วยงานการประกันคุณภาพภายนอกของทั้ง 10 ชาติอาเซียน กำหนดให้มีมาตรฐานเดียวกัน อาทิ ได้รับการยอมรับจากภาครัฐ มีระบบคณะกรรมการที่โปร่งใส่ มีระบบการควบคุมตรวจสอบที่เชื่อถือได้ เป็นต้น

๒. ระบบการประเมินคุณภาพภายนอก (Principles of External Quality Assurance Processes) คือ การกำหนดมาตรฐานของผู้ประเมิน เพื่อเป็นการประกันว่าผู้ประเมินมีความเป็นมืออาชีพและปฏิบัติตามจรรยาบรรณของผู้ประเมิน เป็นต้น

๓. การประกันคุณภาพภายใน (Principles of Internal Quality Assurance) คือการดำเนินงานที่ทุกภาคส่วนของแต่ละสถาบันได้ร่วมกันวางแผน ปฏิบัติ และตรวจสอบ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการประเมินภายในของแต่ละสถาบันอุดมศึกษา เป็นต้น

๔. กรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติ (Principles of National Qualifications Framework) คือ กรอบมาตรฐานที่ใช้เป็นเครื่องมือที่แสดงระบบคุณวุฒิและมาตรฐานการวัดการศึกษา เป็นประโยชน์สำหรับการเลื่อนคุณวุฒิระดับหนึ่งไปสู่ระดับที่สูงขึ้น และเทียบผลการเรียนรู้จากการเรียนรู้ระดับต่างๆ และช่วยสนับสนุนการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและการเคลื่อนย้ายบุคลากรอาชีพต่างๆ ด้วยกระบวนการยอมรับคุณวุฒิการศึกษารวมทั้งการศึกษาตลอดชีพ (lifeloli learning)

โดยผู้อำนวยการ สมศ กล่าวว่า ได้ส่งเสริมให้ทั้ง ๑๐ ประเทศ สมาชิกอาเซียนนำแนวทางทั้ง ๔ ประการไปปฏิบัติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว การนำไปใช้จะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละประเทศ ซึ่งเชื่อมั่นว่าการรวมกลุ่มเครือข่ายการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอกในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น จะช่วยให้ระบบการศึกษาของอาเซียนมีคุณภาพใกล้เคียงกันมากยิ่งขึ้น และช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาของภูมิภาคให้สามารถแข่งขันในภูมิภาคอื่นๆ ได้

 

 

ที่มาของข่าว http://dlfeschool.in.th
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก

Fatal error: Call to undefined function drupal_get_path() in /usr/local/www/apache22/data/Braille-new/sites/all/modules/better_statistics/better_statistics.module on line 181