ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

มหาวิทยาลัยไทยเปิดสอนวิศวกรรมขนส่งทางรางป้อนโครงการรถไฟเชื่อมต่อภูมิภาคอาเซียน

วันที่ลงข่าว: 06/05/15

มหาวิทยาลัย ๓ แห่งในประเทศไทยเปิดสอนวิศวกรรมขนส่งทางราง เพื่อเตรียมรับการขยายเส้นทางรถไฟที่เชื่อมโยงภายในประเทศและระหว่างประเทศรองรับการเป็นศูนย์กลางคมนาคมของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

 

     ประเทศไทยกำลังดำเนินแผนการลงทุน ๘ ปี (๒๕๕๘ – ๒๕๖๕) ในการพัฒนาการขนส่งเพื่อเคลื่อนย้ายบุคคลและสินค้า แผนดำเนินงานประกอบด้วย การพัฒนารถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าในกรุงเทพ ฯ และปริมณฑล ถนนสายหลัก การขนส่งทางน้ำและทางอากาศ และการขนส่งมวลชน รวมทั้งแผนดำเนินการรถไฟความเร็วสูง ที่จะสร้างโอกาสการแข่งขันของประเทศเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวถึงกิจการรถไฟไทยที่ต้องพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ รองรับเส้นทางรถไฟเชื่อมภูมิภาคหลายเส้นทางที่กำลังก่อสร้าง ซึ่งจะมีสถานีรถไฟเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า ๔๐๐ สถานี ที่ต้องใช้บุคลากรอีกไม่ต่ำกว่า ๒ หมื่นคน

ในขณะที่ ปัจจุบัน มีสถาบันการศึกษา ๓ แห่ง ที่เปิดหลักสูตรวิศวกรรมขนส่งทางราง ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เปิดหลักสูตรวิศวกรรมขนส่งทางรางขึ้นรับสมัครนักศึกษารุ่นแรก พ.ศ. ๒๕๕๖

ดร.ณัฐวุฒิหลิ่วพิริยะวงศ์ ประธานหลักสูตรวิศวกรรมขนส่งทางราง คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า วิศวกรรมขนส่งทางราง มีสาระสำคัญที่เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการขนส่งระบบราง ได้แก่ ส่วนประกอบของรถไฟและราง, การสร้าง ตรวจสอบ และซ่อมบำรุงระบบราง, ระบบขับเคลื่อนต่างๆ ของรถไฟ เช่น ไฟฟ้า สนามแม่เหล็ก และน้ำมัน, ความปลอดภัยและความสบายของผู้โดยสาร, การสึกหรอ และการซ่อมบำรุงของรถไฟ, การควบคุมและติดตามการเดินรถไฟ, ระบบรถไฟความเร็วสูง

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเปิดสอนหลักสูตรด้านวิศวกรรมการขนส่งระบบรางในปี ๒๕๕๕ โดยพัฒนารายวิชาในหลักสูตรวิศวกรรมระดับปริญญาตรีสาขาต่าง ของมหาวิทยาลัย ด้วยความร่วมมือจากกระทรวงคมนาคม และภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ และพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรของโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ เพื่อรับเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรวิศวกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยรังสิต ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์” อธิการบดี กล่าวว่า “ม.รังสิต สร้างหลักสูตรวิศวกรรมรถไฟฟ้าระบบราง และหลักสูตรเทคโนโลยีรถไฟระบบราง โดยร่วมกับ Nihon University ประเทศญี่ปุ่น และร่วมมือกับกลุ่มบริษัทรถไฟญี่ปุ่น โดยทั้งสององค์กรจะร่วมในการสร้างหลักสูตร โดยมีการเรียนที่ไทย และไปฝึกงานที่ญี่ปุ่น โดยมหาวิทยาลัยจะเพิ่มเติมให้นักศึกษาเรียนภาษาญี่ปุ่น เปิดสอนในปีการศึกษา ๒๕๕๘ รับนักศึกษารุ่นแรก ๕๐-๖๐ คน

ที่มาของข่าว http://dlfeschool.in.th
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก