ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ผู้ป่วยออทิสติกในไทยเข้าถึงการรักษาแค่ 15 เปอร์เซ็นต์ แพทย์ชี้ต้องปรับความเข้าใจใหม่

วันที่ลงข่าว: 23/04/15

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยออทิสติกประมาณ 370,000 คน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่าไทยยังมีแนวโน้มมีผู้ป่วยออทิสติกเพิ่มขึ้น หนึ่งในปัญหาที่น่าเป็นห่วงคือ เด็กออทิสติกที่เข้าถึงการรักษาได้มีเพียง 15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทำให้งานวันออทิสติกโลก ช่วงต้นเดือนเมษายนให้ความสำคัญกับการสื่อสารและทำความเข้าใจแก่คนในสังคม

 

ศาสตราจารย์พิเศษ แพทย์หญิง เพ็ญแข ลิ่มศิลา อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคออทิสติก เปิดเผยว่า ออทิสติกไม่ใช่ "โรคปัญญาอ่อน" ตามที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของพัฒนาการทางสมองที่ล่าช้า ส่งผลต่อการสื่อสารทั้งภาษาพูดและท่าทางซึ่งมักทำให้การปรับตัวเข้ากับสังคมไม่ราบรื่นนัก

แพทย์หญิงเพ็ญแขยังมองว่าสาเหตุที่ทำให้เด็กออทิสติกเข้าถึงการรักษาน้อยเป็นเพราะ ครอบครัวอาย เสียใจ หรือหมดกำลังใจ ซึ่งส่งผลทำให้เด็กมีพัฒนาการลดลง กลายเป็นการปิดกั้นโอกาสของเด็กออทิสติกในการดูแลตัวเอง 

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคออทิสติจึงมองว่าการสร้างความเข้าใจและการยอมรับเพื่อให้เกิดกระบวนการรักษา หรือพัฒนาเด็กอย่างถูกวิธีจึงเป็นทางออกสำคัญในการสร้างโอกาสให้เข้าถึงการรักษา

 

ในงานวันออทิสติกโลกยังมีนายวิรุฬห์คุณาฤทธิผล วัย 26 ปีซึ่งมีปัญหาออทิสติกตั้งแต่เด็กมาร่วมงานด้วย แม้ว่านายวิรุฬห์ จะต้องรับมือกับปัญหานี้แต่ยังสามารถเรียนจบปริญญาโท และเข้าทำงานในบริษัทที่เป็นกิจการของครอบครัวได้

 

คุณเกศรา คุณาฤทธิผล มารดาของนายวิรุฬห์ ยอมรับว่า ต้องพยายามทุกทางเพื่อหาวิธีรักษาซึ่งครอบครัวยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะกับการเรียนร่วมในโรงเรียนทั่วไป แต่สิ่งที่จำเป็นคือการทำความเข้าใจกับบุคคลรอบข้างโดยไม่อาย และไม่เสียกำลังใจ ซึ่งครอบครัวทำแบบนี้ตั้งแต่ระดับประถมไปจนถึงระดับปริญญาโท 

 

พญ.รัชนี ฉลองเกื้อกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ ย้ำว่า โรคออทิสติก เป็นโรคที่รักษาได้ด้วยแพทย์และด้วยการเปิดใจยอมรับจากครอบครัว ขณะที่สังคมรอบข้างยังจำเป็นต้องเข้าใจและให้โอกาสด้วย 

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์ วันที่ 23 เมษายน 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก