ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ไอนอยด์ไบโอแม็กซ์รองชนะเลิศนวัตกรรมเพื่อคนพิการ

วันที่ลงข่าว: 17/04/15
การประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ ครั้งที่ 1
สำหรับการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ มีผู้เข้าแข่งขันผ่านเข้ามาทั้งหมด 8 ทีม มีการนำเสนออุปกรณ์ที่สร้างขึ้น สาธิตการทดลองใช้และแสดงผลลัพธ์ที่ได้ รวมทั้งนำเสนอผลงานบนเวที
 
 
ปัจจุบันจากรายงานสถิติของกระทรวงสาธารณสุขพบว่ามีผู้ป่วยเป็นอัมพาต ผู้พิการ และผู้สูงอายุในประเทศไทย มีเกณฑ์เพิ่มมากขึ้นทุกปี และมีแนวโน้มที่จะประสบอุบัติเหตุมากกว่าคนทั่วไป
 
สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ร่วมกับบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จัดประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ ครั้งที่ 1 ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาไทยได้ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการยกระดับคุณภาพชีวิตสำหรับผู้พิการ โดยพัฒนาอุปกรณ์ป้องกันการล้มหรือช่วยลดอาการบาดเจ็บจากการล้มของผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ถวิดา มณีวรรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย บอกถึงการประกวดครั้งนี้ว่ามีทั้งหมด 18 ทีม จาก 10 สถาบันการศึกษาเข้าร่วมการแข่งขันในปีนี้ นวัตกรรมของแต่ละทีมต่างมีข้อดี-ข้อด้อย ที่แตกต่างกันสำหรับผู้พิการ ซึ่งเชื่อมั่นว่าเยาวชนที่เข้าร่วมการประกวดจะได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์กับทีมอื่น ๆ แล้วจะสามารถพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้งานจริงได้
 
สำหรับการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ มีผู้เข้าแข่งขันผ่านเข้ามาทั้งหมด 8 ทีม มีการนำเสนออุปกรณ์ที่สร้างขึ้น สาธิตการทดลองใช้และแสดงผลลัพธ์ที่ได้ รวมทั้งนำเสนอผลงานบนเวที
 
โดยหลักเกณฑ์ในการตัดสิน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ถวิดา บอกว่า พิจารณาจากหลายแง่มุมทั้งในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ว่าเด็ก ๆ มีแนวคิดที่ค่อนข้างแปลกใหม่เป็นตัวของตัวเอง ดูในด้านเทคนิคว่ามีความสามารถในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม “เราจะดูในเรื่องของความเป็นไปได้ในการใช้งานจริง ซึ่งสิ่งประดิษฐ์จะต้องสร้างได้จริง มีความคุ้มทุน ราคาไม่แพงเกินไป มีความเหมาะสม มีความปลอดภัย เพราะฉะนั้นเราจะนำเกณฑ์ต่าง ๆ มาพิจารณาด้วยกัน แล้วตัดสินเป็นคะแนนออกมา”
 
ผลการแข่ง ขัน เนื่องจากปีนี้คณะกรรมการได้ตั้งหลักเกณฑ์ไว้ว่าทีมที่จะได้รับรางวัลชนะเลิศ ซึ่งจะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะต้องได้คะแนนรวมไม่ต่ำกว่า 80 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน แต่จากการรวมคะแนนแล้วไม่มีผู้เข้าแข่งขันทีมใดได้คะแนนเกิน 80 คะแนน และผลงานทั้งหมดยังต้องผ่านการขัดเกลาเพิ่มเติม จึงจะสามารถนำไปให้ผู้พิการอัมพาตครึ่งซีกใช้งานจริงต่อไปได้
 
การแข่งขันครั้งนี้จึงไม่มีทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ แต่มีรางวัลรองชนะเลิศ 2 ทีมคือ ทีมไอนอยด์ (iNoid) จากมหา วิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และทีมไบโอแม็กซ์ (BIOMAX) จากจุฬาลงกรณ์มหา วิทยาลัย
 
โดยทีมไอนอยด์ พัฒนา “ชุดอุปกรณ์ช่วยเรื่องการเดินของผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกแบบแยกโมดูล” ซึ่งมี 4 โมดูล เพื่อช่วยเรื่องการเดินของผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก คือ อุปกรณ์ที่ติดไว้กับตัวผู้ป่วย อุปกรณ์สำหรับติดตั้งไว้ภายในบ้าน เซ็นเซอร์ที่ทำหน้าที่หลักในการเก็บข้อมูลที่ส่งมาจากอุปกรณ์ภายในบ้าน และ API ซึ่งทางโรงพยาบาลหรือญาติสามารถใช้ข้อมูลที่เก็บไว้ที่เซ็นเซอร์ได้
 
นายพชร โรจนอิชกุล สมาชิกในทีมไอนอยด์ เล่าถึงจุดเด่นของชุดอุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นว่า อยู่ที่การแยกอุปกรณ์ออกเป็น 4 โมดูล เนื่องจากผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกแต่ละคนมีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน การพัฒนาโมดูลแยกชิ้นทั้ง 4 โมดูล ซึ่งในแต่ละโมดูลก็มีอุปกรณ์ที่แยกย่อยไปอีก จะช่วยตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยได้มากยิ่งขึ้น ส่วนการพัฒนาศักยภาพของชิ้นงานในอนาคตนั้น ทางทีมจะพยายามทำให้ระบบมีความเสถียรมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยได้หลายระดับ”
 
ส่วนทีมไบโอแม็กซ์พัฒนาผลงาน “อุปกรณ์ป้องกันตะโพกพร้อมระบบแจ้งเตือนการล้ม” นายณัฐบดี มีเดชประเสริฐ สมาชิกทีมไบโอแม็กซ์ บอกว่า สิ่งประดิษฐ์นี้เรียกว่า ฮิปโพรเทคเตอร์ (Hip Protector with alarm system) ซึ่งเป็นการออกแบบอุปกรณ์กันกระแทกของตะโพก ที่ผลิตจาก PVC Foam และ NBR มีระบบตรวจจับการล้ม เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้กระดูกตะโพกหักเมื่อผู้สวมใส่ล้มพร้อมกับทำการแจ้งเตือนรูปแบบอุปกรณ์จะออกแบบเป็นกางเกง โดยจะมีกระเป๋าบริเวณเหนือปุ่มกระดูกเกรทเตอร์โทรแคนเตอร์ (greater trochanter) เพื่อใช้ใส่แผ่นกันกระแทก และมีอุปกรณ์ที่ใช้ในระบบแจ้งเตือนการล้มติดบริเวณขอบของกางเกง
 
ทั้งสองทีมที่ได้รับรางวัลในการแข่ง ขันครั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ถวิดา บอกว่า จะมีการผลักดันให้มีการแข่งขันต่อไปในเวที ไอทีเอดจ์ ซึ่งจะเป็นการประกวดนวัตกรรมสำหรับผู้พิการระดับนานาชาติ จากนั้นจะผลักดันให้กลายเป็นสิ่งประดิษฐ์ต้น แบบในเชิงพาณิชย์ต่อไปในอนาคต.
ไอนอยด์  รองชนะเลิศนวัตกรรมเพื่อคนพิการ
ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์เดลินวส์ออนไลน์ วันที่ 9 เมษายน 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก