ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

2 บัณฑิตตาบอดดีกรี “วิทยาศาสตร์” คู่แรกของไทย

วันที่ลงข่าว: 17/04/15
 วสันต์ แปงปวนจู(ซ้าย) และเทอดเกียรติ บุญเที่ยง เป็นผู้พิการทางสายตา(ขวา)
 ในวงการวิทยาศาสตร์ระดับโลกมี “จีราท เวอร์เมย์” นักชีววิทยาตาบอดผู้เชี่ยวชาญด้านหอยอย่างหาตัวจับได้ยาก แม้ในศาสตร์ดังกล่าวต้องการผู้มีสายตาดีก็ตาม และแวดวงวิทยาศาสตร์ไทยก็กำลังจะมีนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ที่มีความพิการในการมองเห็นเช่นกัน พวกเขาเพิ่งสำเร็จการศึกษาและก้าวสู่การทำงานในฐานะ “ผู้ช่วยนักวิจัย”
       
       วสันต์ แปงปวนจู และเทอดเกียรติ บุญเที่ยง เป็นผู้พิการทางสายตา ทั้งสองเรียนมาต่างสถาบัน แต่จบการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ทั้งคู่ และเพิ่งเข้าทำงานในตำแหน่ง “ผู้ช่วยนักวิจัย” ของสถาบันเทคโนโลยีเพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ (Institute of Technology for People with Disabilities and the Elderly: ITDE) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)
       
       วสันต์เล่าให้ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จดการออนไลน์ฟังว่า เขาและเทอดเกียรติเป็นนักเรียนในโครงการส่งเสริมและพัฒนานักเรียนตาบอดเรียนสาขาวิทยาศาสตร์ของเนคเทค ซึ่งมีนักเรียนในโครงการทั้งหมด 12 คน และพวกเขาเป็นชุดแรกที่เพิ่งศึกษาจบ โดยวสันต์เรียนสายวิทยาศาสตร์ระดับ ม.ปลายที่โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย จ.ลำปาง ก่อนจะสอบติดภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
       
       ส่วนเทอดเกียรติหลังจากรักษาตัวและเรียนจบจากโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ เขาก็สอบเข้าเรียนที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียลได้ ก่อนจะสอบติดภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่เพราะเป็นคนชอบทำกิจกรรมทำให้เขาใช้เวลาถึง 5 ปีจึงเรียนจบ
       
       เส้นทางการศึกษาวิทยาศาสตร์ของนักศึกษาตาบอดเต็มไปด้วยอุปสรรคอย่างที่คาดเดาได้ไม่ยาก น.ส.วันทนีย์ พันธชาติ หัวหน้าโครงการส่งเสริมและพัฒนานักเรียนตาบอดเรียนสาขาวิทยาศาสตร์ และผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ITDE เล่าว่า แม้ทั้งสองจะสอบเข้าได้ แต่ด้วยระบบการศึกษาที่ไม่เคยมีผู้เรียนตาบอดเข้าเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์มาก่อน ทำให้ทางสถาบันการศึกษาไม่ทราบแนวทางที่จะสอน และเกือบปฏิเสธรับนักศึกษาเข้าเรียน แต่ทางโครงการได้พยายามประสานความช่วยเหลือในด้านๆ จนผ่านพ้นมาได้
       
       “ตอนเข้าเรียนก็มีปัญหาว่าเขาไม่รู้จะสอนยังไง และยังมีทัศนคติว่าเราเรียนไม่ได้ แต่เมื่อทำได้ อาจารย์ก็คิดว่าเราเรียนได้” วสันต์เล่าถึงอุปสรรคการเรียน
       
       อย่างไรก็ดี ในการเรียนนั้นวสันต์ต้องอาศัยตำราที่เป็นอักษรเบรลล์ แต่ในบางกรณีไม่สามารถแปลงเป็นอักษรเบรลล์ได้ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับแผนภาพ เป็นต้น เช่นเดียวกับเทอดเกียรติที่เล่าว่าปกติในการเรียนจะมีโปรแกรมช่วยอ่านข้อความให้ฟัง แต่เมื่อถึงช่วงที่เป็นสมการคณิตศาสตร์หรือฟิสิกส์ โปรแกรมไม่สามารถอ่านให้ฟังได้ ซึ่งเขาแก้ปัญหาโดยให้เพื่อนช่วยอ่านให้ฟัง แต่ไม่ใช่วิธีที่แก้ปัญหาได้ตลอดไป
       
       “เป็นอย่างนี้ต่อไปก็ไม่มีใครแก้ปัญหาให้เราได้ตลอด” เทอดเกียรติกล่าว
       
       ปัญหาที่พบจากการเรียนกลายเป็นโจทย์ในการทำงานของทั้งคู่ โดยเทอดเกียรติกำลังทำงานวิจัยหาเครื่องมือให้คนตาบอดเข้าถึงสมการคณิตศาสตร์และรูปภาพได้ และเคยเป็นโครงงานระดับปริญญาตรีในการหาความเป็นไปได้เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ส่วนวสันต์กำลังทำงานวิจัยที่จะช่วยให้ผู้พิการทางสายตาเข้าถึงอี-บุ๊กและแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนได้โดยการพัฒนาตัวอ่าน
       
       เมื่อเข้าสู่โลกของการทำงานเขาทั้งคู่มีปัญหาไม่ต่างจากหนุ่มสาววัยทำงานทั่วไป เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาอาจยังพอมีเพื่อนหรือรุ่นพี่คอยช่วยเหลือ มีคนคอยกำกับหรือบังคับ มีผลเป็นการเรียนจบหรือเรียนไม่จบ มีคะแนนเป็นสิ่งดึงดูดในการทำงาน มีเพื่อนเล่นอยู่ในวัยเดียวกัน แต่เมื่ออยู่ในวัยทำงานก็ถูกบังคับให้เป็นผู้ใหญ่โดยอัตโนมัติ มีเพื่อนร่วมงานหลายวัย มีขอบเขตความรับผิดชอบและต้องศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเองมากขึ้น โดยไม่มีใครคอยบังคับ
       
       แม้จะสนุกกับการเรียนวิทยาศาสตร์ระดับ ม.ปลาย แต่เทอดเกียรติยอมรับว่าเขาเคยคิดที่จะไม่เรียนต่อทางด้านวิทยาศาสตร์ ทว่าผู้ใหญ่ในโครงการฯ ได้สนับสนุนให้เขาเรียนต่อและส่งเสริมให้เรียนทางด้านการเขียนโปรแกรม เพราะเป็นสาขาวิทยาศาสตร์ที่ไม่ต้องใช้สายตา ส่วนวสันต์เมื่อครั้งเรียนระดับ ม.ต้น เขารู้สึกว่าเข้าไม่ถึงวิทยาศาสตร์และเมื่อมีโอกาสได้เข้าค่ายวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนตาบอด และมีโอกาสได้เล่น ทำให้เขารู้สึกว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุกและอยากเรียน
       
       การเรียนทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์นั้นลงตัวทำสำหรับทั้งวสันต์และเทอดเกียรติ แต่ถ้ามีโอกาสมากกว่านี้พวกเขาอยากเรียนอะไร? วสันต์กล่าวว่า ถ้าระบบการศึกษามีความพร้อมากกว่านี้ เขาอยากจะเรียนทางด้านวิศวกรรม ส่วนเทอดเกียรติกล่าวตรงๆ ว่า โอกาสในการเรียนสำหรับคนตาบอดนั้นน้อยอยู่แล้ว หากเรื่องมากกว่านี้อาจจะไม่ได้เรียนเลย แต่หากมีโอกาสจริงๆ เขาอยากจะเรียนคณิตศาสตร์
       
       ไม่แน่ว่าอนาคตหากระบบการศึกษาของไทยเปิดกว้างมากกว่านี้ เราอาจมีนักวิทยาศาสตร์ตาบอดที่มีความสามารถเทียบชั้น “จีราท เวอร์เมย์” ก็เป็นได้
       
       อ่านเพิ่มเติม
       
ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ASTV ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 16 เมษายน 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก