ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ดึงผลงาน “เด็กอาชีวะ” ต่อยอดเชิงพาณิชย์ สุดยอดนวัตกรรมชีวการแพทย์ช่วยคนป่วย

วันที่ลงข่าว: 16/04/15

 

 อาชีวะยุคใหม่ เร่งจับมือหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน เดินหน้าแปลงนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์จากไอเดียเด็กอาชีวะ ทั้งในด้านการเกษตร พลังงาน และสุดยอดนวัตกรรมด้านชีวะการแพทย์ ช่วยคนพิการ คนป่วยอัมพาตนอนติดเตียง พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ระยะแรกด้วยทรัพย์สินทางปัญญา จดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร มุ่งต่อยอดไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ ตลอดจนเพื่อสังคมและชุมชน 

       

       ปี2558 นับเป็นปีที่ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านการอาชีวศึกษาของชาติ เดินมาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง เพราะนอกจากการปรับภาพการเรียนสายอาชีพทางด้านอาชีวศึกษา ให้เป็นที่ยอมรับต่อสังคมและผู้ปกครองแล้ว ถือว่ายังมีอีกโจทย์ที่ท้าทายในการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้เด็กอาชีวะนั่นก็คือ การก้าวในเชิงรุกเรื่องการส่งเสริมและสนับสนุนเยาวชนอาชีวศึกษาให้เป็นนักคิด นักประดิษฐ์ โดยนำผลงานของเด็กอาชีวะที่ได้รับรางวัลในการประกวด นำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์

       

       โดย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ไว้แล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร และการร่วมมือเพื่อนำผลงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ของนักเรียนอาชีวะมาพัฒนาให้เกิดขึ้นจริง ในส่วนนี้เป็นการหารือกับองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง (สวทน. ) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช. )

       

       จากความร่วมมือและพัฒนาไปจนถึงขั้นที่สามารถนำผลงานนวัตกรรมในประเภทต่างๆ มาพัฒนาให้ใช้งานได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การขายทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากความคิดของเด็กอาชีวะให้กับกลุ่มบริษัทเอกชนที่สนใจ และติดต่อเข้ามาเพื่อจะนำไปผลิตเป็นสินค้าวางขายในท้องตลาด 

 

ด้าน ดร.อกนิษฐ์ คลังแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กล่าวว่า ยังไม่สามารถเปิดเผยสิ่งประดิษฐ์และภาคเอกชนที่ดำเนินการได้ เพราะอยู่ระหว่างข้อตกลงเซ็นสัญญาร่วมกัน โดยยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านการอาชีวะฯ นี้ อาศัยความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และทักษะวิชาชีพเป็นพื้นฐานในการสร้างผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถนำไป ประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมส่วนร่วมและประเทศชาติ

       

       สำหรับการเฟ้นหาผลงานของเด็กอาชีวะที่มีไอเดียดี โดยจัดประกวดผลงานเด็กอาชีวะตามจังหวัดต่างๆ นั้น โดยในช่วง 23 ปีแรก สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นเจ้าภาพและหลังจากนั้นในปี 2555 ได้ส่งมอบให้สำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษาเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบงานประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ทำให้การบริหารจัดการสะดวกขึ้น ซึ่งเมื่อปี 2557 ได้จัดเวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์ 5 ภาค ที่ภาคเหนือ จังหวัดลำปาง ภาคกลางที่จังหวัดปทุมธานี ภาคใต้ที่จังหวัดตรัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อุบลราชธานี ภาคตะวันออกและกรุงเทพฯ จัดที่นครนายก โดยในเวทีนี้เป็นการประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่และหุ่นยนต์อาชีวศึกษา

       

       ช่วงระยะของการเริ่มต้นของยุทธศาสตร์นี้ ดำเนินการไปพร้อมๆ กัน ทั้งจัดกิจกรรมการประกวดเพื่อเฟ้นหางานประดิษฐ์ที่มีโอกาสจะนำมาต่อยอดไปพัฒนาให้เป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ รวมถึงการเตรียมความพร้อมในด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา จดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร เพื่อไปสู่กระบวนการผลิตสู่เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม หรือนำไปใช้ในชุมชน หรือสถานศึกษา และหน่วยงานต่างๆ ตามความเหมาะสม

       

       สุดยอด 11 นวัตกรรมอาชีวะ

       

       ไม่เพียงขยายการจัดเวทีการประกวดให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เท่านั้น ยังยกระดับการประกวดที่เปิดกว้างและเจาะลึกไปในแต่ละสาขาให้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย โดยแบ่งผลงานสุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษาที่เข้ามาร่วมการประกวด ออกเป็น 11 ประเภท 1 องค์ความรู้ ได้แก่ ประเภทที่ 1 สิ่งประดิษฐ์ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ประเภทที่ 2 สิ่งประดิษฐ์ด้านการประกอบอาชีพ ประเภทที่ 3 สิ่งประดิษฐ์ด้านผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ประเภทที่ 4 สิ่งประดิษฐ์ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม

       

       ประเภทที่ 5 สิ่งประดิษฐ์ด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประเภทที่ 6 สิ่งประดิษฐ์ด้านการแพทย์และชีวอนามัย ประเภทที่ 7 สิ่งประดิษฐ์ด้านผลิตภัณฑ์อาหาร ประเภทที่ 8 สิ่งประดิษฐ์ด้านเทคโนโลยีการเกษตร ประเภทที่ 9 สิ่งประดิษฐ์ด้านหัตถศิลป์ ประเภทที่ 10 สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมซอฟต์แวร์ “Software Innovation” ประเภทที่ 11 สิ่งประดิษฐ์ประเภทกำหนดโจทย์ “การป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะ” และการประกวดองค์ความรู้ “การนำเสนอผลงานวิจัยสุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา ภาคภาษาอังกฤษ” 

 

 

ด้านสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นโต้โผของโครงการต่างๆ ที่มีการร่วมมือกับหน่วยงาน องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนนั้น ดร.มงคลชัย สมอุดร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา เปิดเผยกับ “Special Scoop” ถึงแผนเดินหน้าเพื่อยกระดับผลงานนวัตกรรมของเด็กอาชีวะว่า นอกจากการมีผลงานนวัตกรรมที่ดีแล้ว อีกเรื่องที่สำคัญ คือจับมือกับหน่วยงานรัฐและเอกชน โดยมีการแบ่งไปตามสิ่งประดิษฐ์ทั้ง 11 ประเภท

       

       นับตั้งแต่การพัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพื่อประโยชน์ในเชิงชุมชน สังคมและเศรษฐกิจ โดยจับมือกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช. ) ในโครงการความร่วมมือเพิ่มมูลค่าสิ่งประดิษฐ์สู่การใช้ประโยชน์ (Co - funding) ประจำปี 2558 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการนำสิ่งประดิษฐ์ที่มีศักยภาพของนักประดิษฐ์ในระดับอาชีวศึกษาให้ขยายผลหรือพัฒนาต่อยอดไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงสังคม หรือเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของสาธารณะได้ตรงจุด รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาการวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นระหว่างนักวิจัย นักประดิษฐ์ และผู้ประกอบการในระดับพื้นที่ หรือผู้ประกอบการระดับ SME ภายใต้โครงการความร่วมมือเพิ่มมูลค่าสิ่งประดิษฐ์สู่การใช้ประโยชน์ (Co - funding) ประจำปี 2558

       

       การประกวดในประเภทสิ่งประดิษฐ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน โดยเมื่อเร็วๆ นี้ได้จับมือกระทรวงพลังงาน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จัดโครงการทีมเทคนิคและอาชีวศึกษาเพื่อการประหยัดพลังงาน

       

       ขณะที่แนวทางของการต่อยอดสิ่งประดิษฐ์สู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งถือว่ามีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการจับมือกับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

       

       กระทั่งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่คณะกรรมการบริหารจัดการนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษา ได้เข้าร่วมหารือและกำหนดแนวทาง เรื่อง การขยายผลนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษาสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ภายใต้การสนับสนุนโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เสนอแนวทางการดำเนินงานในรูปของกลุ่มจังหวัด ที่มีกลุ่มจังหวัดทั้งหมด 18 กลุ่มกระจายทั่วประเทศ

       

       วางเป้าหมายเพื่อให้สภาอุตสาหกรรมฯ ของแต่ละกลุ่มได้เข้าไปสนับสนุนส่งเสริมอย่างใกล้ชิดสอดคล้องกับความต้องการในการผลิต กับสถานศึกษาในสังกัด สอศ. ที่อยู่ในกลุ่มจังหวัดของสภาอุตสาหกรรมฯ และเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานตามนโยบายในครั้งนี้ เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยต้องการให้ทาง สอศ.จัดทำสิ่งประดิษฐ์ในรูปแบบ Development to Research เพื่อสามารถพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์ไปสู่เชิงพาณิชย์และนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงสิ่งประดิษฐ์ที่ตอบสนองความต้องการของชุมชน

       

       สิ่งประดิษฐ์ด้านการเกษตรฝีมือเด็กอาชีวะ

       

       ดร.มงคลชัย กล่าวถึงผลงานของเด็กอาชีวะ ที่ถึงขั้นเรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรมอาชีวศึกษา และกำลังเตรียมขยายผลไปสู่ในเชิงพาณิชย์นั้นมีอยู่มากมายและหลากหลายประเภท กรณีผลงานที่มีโอกาสนำเสนอในงาน “นวัตกรรมและเทคโนโลยีเกษตรไทย เพื่อ SMEs และเกษตรกร” ในการประชุม ครม.สัญจร ที่สวนสนประดิพัทธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งในงานนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ นำเสนอผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นนวัตกรรมด้านเกษตรและชุมชน 6 ผลงาน คือ

       

       1.เครื่องคัดแยกเมล็ดพันธุ์ข้าว วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์

       

       2.รถฉีดยาข้าว (โย่งโก๊ะ) วิทยาลัยการอาชีพบางแก้วฟ้า

       

       3.รถกำจัดวัชพืชในร่องนาดำ วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี

       

       4.ผานขุดมันสำปะหลัง DTEC วิทยาลัยเทคนิคเดชอุดม

       

       5.เครื่องกะเทาะเปลือกถั่วลิสงอัตโนมัติ วิทยาลัยเทคนิคนครสวรรค์

       

       6.เครื่องปรับร่องน้ำในแปลงเกษตร

       

       สุดยอดนวัตกรรมด้านชีวการแพทย์

       

       นอกจากนี้ยังมีผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นนวัตกรรมด้านการแพทย์และสมุนไพร 4 ผลงาน ซึ่งสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้เมื่อนำไปต่อยอดและพัฒนาในเชิงการตลาดแล้ว จะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วย ผู้พิการ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตต้องนอนติดเตียง ที่ปัจจุบันมีอยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน

       

       1.แขนกลคนพิการ วิทยาลัยการอาชีพศรีสัชนาลัย และวิทยาลัยการอาชีพศรีบุญเรือง

       

       2.อุปกรณ์กายบริหารพยุงเดินแบบปรับนั่งได้ วิทยาลัยเทคนิคเดชอุดม

       

       3.ไม้เท้าเก้าอี้ DTEC วิทยาลัยเทคนิคเดชอุดม

       

       4.เตียงผู้ป่วยอัมพาต วิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร

       

       ส่วนผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นนวัตกรรมด้านความมั่นคง พลังงาน และสิ่งแวดล้อม นำโดยวิทยาลัยเทคนิคประจวบคีรีขันธ์ วิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล วิทยาลัยการอาชีพบางสะพาน และวิทยาลัยการอาชีพปราณบุรี นำศูนย์ซ่อมสร้าง (Fix It Center) มาบริการ

       

       ขณะเดียวกันยังมีตัวอย่างของผลงานที่ได้รับรางวัลในแต่ละประเภท และยังเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของอาชีวศึกษา ประกอบด้วย

       

       1 ผลงานเครื่องตีเปลือก แยกใย แยกขุยมะพร้าว สามารถทำงานได้ 2 อย่างในเครื่องเดียวกัน คือ ตีใยมะพร้าวอย่างเดียว หรือตีใยแยกขุยมะพร้าว

       

       2.อุปกรณ์ช่วยรีดสายไฟชนิด VAF ให้เกิดความสะดวกรวดเร็วและสวยงามในการเดินสายไฟในอาคารที่สามารถตรงและเรียบโดยการรีดเพียงครั้งเดียว น้ำหนักเบาสามารถพกพาได้ สะดวก ใช้วัสดุคุณภาพไม่ก่อให้เกิดมลภาวะเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม 

 

 3.เครื่องระเบิดสิ่งอุดตันท่อน้ำ สามารถแก้ท่อน้ำอุดตันได้ทุกสุขภัณฑ์ แก้ปัญหาท่อตันตั้งแต่ 4 หุนจนถึง 4 นิ้ว

       

       4.อุปกรณ์ช่วยถอด-ปิดจุกแบตเตอรี่ให้ครบทุกยี่ห้อรถยนต์ ยี่ห้อแบตเตอรี่ รูปแบบหน้าแปลน และขนาดต่างๆ ของจุกแบตเตอรี่

       

       5.อุปกรณ์กายบริหารพยุงเดินปรับนั่งได้ แก้ไขปัญหาผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยและผู้พิการที่ต้องทำกายภาพบำบัด ฝึกหัดเดินต้องมีอุปกรณ์การช่วยพยุงของผู้ป่วยเพื่อทำให้ช่วยเหลือตัวเองได้โดยลำพัง เป็นการบริหารกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้นและลดภาระให้กับผู้ดูแล

       

       6.ไม้เท้าเก้าอี้ ปรับนั่งได้ตามความต้องการในสถานที่ต่างๆ และมีน้ำหนักเบาช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยและผู้สูงอายุที่ฝึกหัดเดิน ได้พักผ่อนเนื่องจากความเมื่อยล้ากล้ามเนื้อของส่วนต่างๆ ของร่างกาย ลดอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยและผู้สูงอายุ

       

       7.เครื่องกะเทาะเปลือกถั่วลิสงอัตโนมัติ เป็นเครื่องมือการประกอบอาชีพการเพาะปลูกถั่วลิสง สามารถกะเทาะเปลือกถั่วลิสงจำนวน 1 ถังในเวลา 10 นาที ลดเวลาและแรงงานคน ประหยัดต้นทุนการประกอบอาชีพาการเพาะปลูกถั่วลิสง

       

       8.เครื่องปลิดฝักถั่วแบบเท้าเหยียบ ประหยัดแรงงานลดเวลาในการปลิดฝักถั่ว ใช้งานง่าย มีขนาดเล็กสะดวกต่อการเคลื่อนย้าย 

 

 9.ชุดแยกเหรียญแบบเขย่า แยกเหรียญ 10 บาท 5 บาท 2 บาท 1 บาท 50 สตางค์ 25 สตางค์ ทำจากพลาสติกและมีขนาดเล็กเหมาะกับการพกพาไปได้ น้ำหนักเบาแยกเหรียญแบบคละเหรียญได้ จำนวน 150 -170 เหรียญต่อ 1 ครั้ง ภายใน 20-30 วินาที

       

       ผลงานสิ่งประดิษฐ์ของเด็กอาชีวะทั้ง 11 นวัตกรรมใหม่นั้น จะถูกนำมาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้รวดเร็วและเป็นรูปธรรมได้หรือไม่ ก็อยู่ที่ความร่วมมือของภาครัฐ โดยเฉพาะ สอศ. และภาคเอกชน อีกทั้ง สอศ.ก็อาจร่วมมือกับหน่วยงานปกครองท้องถิ่นเพื่อร่วมกันผลิตผลงานต่างๆ ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการไว้ใช้ภายในชุมชนก็น่าจะเกิดประโยชน์สูงสุด ที่สำคัญทำให้สังคมลบภาพ “อาชีวะ” ยุคเก่าที่เต็มไปด้วยนักเรียน นักเลง และสร้างภาพลักษณ์อาชีวะยุคใหม่ขึ้นมาทดแทน 

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 14 เมษายน 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก