ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

เปิดแนวคิดสวนบำบัด ใช้ธรรมชาติฝึกสมาธิ ฟื้นฟูร่างกายเด็กพิการ

วันที่ลงข่าว: 03/04/15

การรักษาฟื้นฟูกลุ่มเด็กบกพร่องทางสมองและพิการร่างกาย มูลนิธิเพื่อเด็กพิการได้ทำงานมาอย่างต่อเนื่อง นพ.ประพจน์ เภตรากาศ ประธานกรรมการมูลนิธิฯ บอกว่า กระบวนการรักษาจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับลักษณะความบกพร่อง อย่างกลุ่มเด็กที่สมองพิการ เด็กที่ป่วยเป็นโรคออทิสติกจะมีความสนใจสั้น จำเป็นต้องใช้กิจกรรมที่ช่วยยืดระยะความสนใจควบคู่กับการรักษาในรูปแบบปกติ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ดนตรี การใช้ศิลปะบำบัด ขณะที่ในกลุ่มผู้ร่างกายพิการจะเน้นกระตุ้นให้มีการเคลื่อนไหว ฝึกการทำงานของกล้ามเนื้อที่อ่อนแรง

       

       อย่างไรก็ดีลักษณะความบกพร่องที่แตกต่าง กลับมีแนวทางการฟื้นฟูหนึ่งที่เป็นจุดร่วมเดียวกัน นั่นคือการใช้ธรรมชาติเข้ามาบำบัด จึงเป็นที่มาของโครงการ “สวนบำบัด”ที่มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กำลังพัฒนาหลักสูตรสวนบำบัดสำหรับกลุ่มเด็กพิการ โดยใช้ธรรมชาติกับการรักษาทางการแพทย์เริ่มขยายวงกว้างขึ้น โดยครอบครัว บุคคลด้านเด็กและด้านสุขภาพทั่วไปนำไปใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม

       

       “จริงๆการปลูกต้นไม้ก็เป็นการบำบัดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ปลูกเท่านั้น แต่การทำสวนบำบัดคือการสร้างพื้นที่เรียนรู้ ใช้ สี กลิ่น ผิวสัมผัสของธรรมชาติที่มีความแตกต่างกันสร้างจุดดึงดูดให้กลุ่มเด็กที่บกพร่องทางสมองหรือร่างกาย การอยู่ในแวดล้อมธรรมชาติช่วยให้ผู้ป่วยผ่อนคลายและง่ายที่จะนำไปสู่การพัฒนาอื่นๆ”

       

       แนวคิดสวนบำบัดที่นำมาผนวกกับการแพทย์นั้นมีมานานแล้ว ในไทยนำมาใช้บ้างแล้ว เช่น รพ.ศรีธัญญา รพ.บ้านฉาง รพ.อ่าวอุดม จ.ระยอง ซึ่งเน้นกับกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิต หรือในต่างประเทศสถานพยาบาลนิยมใช้กระบวนการนี้กับทหารผู้ที่ผ่านสงครามที่มีปัญหาในด้านอารมณ์ มีความเครียดสูง ส่วนที่เน้นเฉพาะเด็กพิการจริงๆ นั้นยังไม่มีอย่างเป็นระบบ เราจึงได้จัดทำโครงการเพื่อศึกษาพัฒนาให้เหมาะสมกับเด็กพิการในบ้านเรา

       

       นพ.ประพจน์ บอกว่า หลักสูตรแรกที่จะทำกิจกรรมสวนบำบัดจะเริ่มจากกลุ่มเด็กและผู้ปกครองที่บกพร่องในเรื่องสมองและร่างกายก่อน เพื่อให้ความรู้ ฝึกทักษะ ให้ครอบครัวเด็กนำหลักไปใช้ในชีวิตประจำวัน โดยใช้เวลาไม่เกิน 30นาทีต่อครั้ง และทำได้บ่อยตามต้องการ เริ่มจากเรื่องใกล้ตัวในมุมเล็กๆของบ้าน ที่สามารถเรียนรู้เรื่องผิวสัมผัสจากใบไม้ การนับจำนวนตัวเลข การขยี้ใบไม้เพื่อรับกลิ่น นอกจากนี้การทำสวนเพื่อใช้หลักธรรมชาติบำบัดไม่ได้สร้างประโยชน์ให้แก่กลุ่มเด็กเท่านั้น ในกลุ่มผู้สูงอายุก็ช่วยได้ แต่ต้องออกแบบพื้นที่ให้มีความเป็นสากล นั่นคือผู้เข้ารับการบำบัดต้องทำกิจกรรมได้ในท่วงท่าที่เหมาะสม โดยต้องเป็นพื้นที่แนวสูงที่ไม่ก้มต่ำหรือสูงเกินไปที่เป็นอุปสรรคต่อการทำกิจกรรม

       “ธรรมชาติบำบัดทุกครอบครัวทำได้ อาจจะเป็นมุมเล็กๆ ของบ้าน นำพืชไม่กี่ชนิด เช่น พืชผักสวนครัว ใบกระเพรา สะระแหน่ ที่มีกลิ่น การปลูกดอกไม้ที่มีสีแตกต่างกันเพื่อแยกการรับรู้เรื่องสี เราตั้งเป้าว่าพ่อแม่เอาไปใช้ได้จริงเพื่อให้เกิดการบำบัดในรูปแบบต่างๆ สร้างแนวคิดการทำสวนให้กับคนทุกกลุ่ม เช่น สวนสาธารณะในชุมชนต่อไปนี้ต้องมีการออกแบบสำหรับผู้พิการ เป็นสถานที่พักผ่อนสำหรับคนทุกกลุ่ม”นพ.ประพจน์ กล่าว

       

       ผู้จัดการโครงการสวนบำบัด บอกด้วยว่า โครงการได้แลกเปลี่ยนความรู้กับมูลนิธิเอ็มโอเอ ประเทศญี่ปุ่นที่มีองค์ความรู้ด้านการออกแบบหลักสูตรพัฒนาทักษะกลุ่มเด็กพิการ ซึ่งเน้นเรื่องเกษตรอินทรีย์ เรื่องศิลปะเพื่อสุขภาพเช่นการจัดดอกไม้ การเยียวยาโดยใช้พลังจากฝ่ามือซึ่งเป็นแนวคิดที่เชื่อมโยงกับไทยได้ โดยนำองค์ความรู้มาผสมผสานกัน ทั้งนี้รูปแบบกิจกรรมอบรมในโครงการจะจัดเป็นช่วง ครั้งละ3-4วัน และภายหลังจากจัดกิจกรรมกลุ่มแรกแก่กลุ่มเด็กบกพร่องทางสมองแล้ว จะเปิดโอกาสให้กับกลุ่มผู้สนใจที่มีประสบการณ์ทำงานกับกลุ่มเด็กและสังคมเข้าร่วมในระยะต่อไป สอบถามข้อมูลที่มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 3 เมษายน 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก