ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

กศน.ตั้งเป้าเปิดอาชีวะแบบเข้ม 50กลุ่ม

วันที่ลงข่าว: 03/04/15

กศน.เตรียมเปิดรับสมัครเรียนทวิภาคีสามัญควบอาชีวศึกษา “การุณ” มอบ ผอ.กศน.จังหวัด หารือผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวะ เปิดสอนวิชาชีพแบบเข้มข้น ตั้งเป้าปีการศึกษา 2558 สอนไม่เกิน 50 กลุ่ม

 

วันนี้ (2 เม.ย.) นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ อนุมัติให้ กศน.เข้าร่วมโครงการเรียนควบสายสามัญ-อาชีวศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) หรือ กศน.ปวช.นั้น ขณะนี้ กศน.อยู่ในขั้นตอนเตรียมรับสมัครนักศึกษา โดยการจัดการเรียนการสอนจะเป็นรูปแบบทวิภาคี ตนจึงได้มอบให้ ผอ.กศน.จังหวัดต่าง ๆ ไปหารือกับผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาในพื้นที่ ว่า จะเปิดสาขาใดได้บ้างโดยให้เน้นตามข้อสั่งการของรมว.ศึกษาธิการ ที่กำชับให้จัดในสาขาวิชาชีพที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ เช่น จังหวัดไหนเป็นจังหวัดท่องเที่ยวก็ให้จัดสาขาการท่องเที่ยวหรือการโรงแรม เพื่อให้ตรงกับความต้องการจริง ๆ ดังนั้น จังหวัดภูเก็ต อาจเน้นสาขาการท่องเที่ยว การโรงแรม หรือธุรกิจ จังหวัดอุบลราชธานี อาจเน้นสาขายานยนต์ เป็นต้น

 

เลขาธิการ กศน. กล่าวต่อไปว่า การจัดการเรียนการสอนตามโครงการนี้ กศน.จะรับผิดชอบสอนวิชาสามัญระดับ ม.ปลาย ส่วนสายอาชีพเป็นหน้าที่ของสถานศึกษาอาชีวศึกษา ซึ่งจะเป็นการเรียนแบบเข้มตามหลักสูตรของอาชีวะ ต้องได้ตามมาตรฐานอาชีวะ ใช้เวลาเรียน 3 ปี ซึ่งไม่ว่าจะเรียนเป็นผู้เรียนของ กศน. หรือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน( สพฐ.) หรือ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)เองจะต้องได้มาตรฐานเดียวกัน ทำงานได้เหมือนกัน เมื่อเรียนจบจะได้ทั้งวุฒิ ม.ปลาย และ ปวช. ทั้งนี้ กศน.ตั้งเป้าหมายว่าในปีการศึกษา 2558 จะเปิดสอนตามโครงการนี้ไม่เกิน 50 กลุ่ม กลุ่มละ 20 คน รวม1,000 คน โดยขณะนี้ได้รับรายงานว่า มีนักศึกษาสนใจร่วมโครงการแล้วประมาณ 30 กลุ่ม

 

"เบื้องต้นคิดว่า เด็ก กศน.น่าจะสนใจเข้าโครงการนี้มากพอสมควร เพราะส่วนใหญ่คนที่เรียน ม.ต้นแล้วไม่เรียนต่อ ม.ปลาย 60-70 % มีความมุ่งมั่น ที่เรียนสายอาชีพ หรือหางานทำ จึงคิดว่าเรื่องจำนวนผู้เรียนไม่น่ามีปัญหา ตอนนี้ก็กำลังดูเรื่องบประมาณรายหัวอยู่ เพราะจะมี 2 ส่วน คือ ส่วนของรายหัวสามัญ ซึ่ง กศน.มีอยู่แล้ว แต่ส่วนการเรียนสายอาชีพจะต้องมาคำนวณก่อนว่า ต้องใช้งบฯเท่าไหร่ เพราะแต่ละสาขามีค่าใช้จ่ายไม่เท่ากัน ซึ่งจะต้องรอให้รับสมัครนักศึกษาเสร็จสิ้นก่อน จากนั้นจึงจะมาคำนวณร่วมกับ สพฐ.และ สอศ.อีกครั้ง เพื่อตั้งบฯสำนหรับจัดสอนสายอาชีพให้ไป อย่างไรก็ตามหากยังไม่สามารถของบฯได้ รมว.ศธ.ได้ให้นโยบายแล้วว่าให้ใช้งบฯปกติไปก่อน ซึ่ง กศน.ได้เตรียมการไว้แล้ว" นายการุณ กล่าว. 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ออนไลน์ วันที่ 2 เมษายน 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก