ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ไทยฝึกพยาบาลเฉพาะทางและภาษาต่างประเทศเตรียมรับเออีซี

วันที่ลงข่าว: 31/03/15

ระบบสาธารณสุขของไทยได้ส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางการแพทย์ (Medical hub) เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเขตเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปี ๒๕๕๘

ดร. กฤษฎา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาล กล่าวว่า สภาการพยาบาลจะเน้นการเพิ่มทักษะในวิชาชีพ ขณะนี้แต่ละโรงพยาบาลได้มีการอบรมเฉพาะทางให้กับพยาบาลโดยเฉพาะเรื่องหัวใจและไอซียู เนื่องจากทั้ง ๒ ด้านเป็นที่ต้องการของระบบสาธารณสุขทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการแพทย์ของไทย

นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาพยาบาลไทยในเรื่องอื่น ๆ ที่จำเป็น สนับสนุนเรื่องภาษาที่จะใช้ในการสื่อสารกับกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะพยาบาลที่อยู่ในจังหวัดที่มีเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องเรียนภาษาเฉพาะของแต่ละท้องถิ่นที่รองรับผู้ป่วยจากประเทศเพื่อนบ้านที่จะเข้ามารับบริการในประเทศไทย รวมทั้งเตรียมส่งพยาบาลไปศึกษาต่อต่างประเทศ เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมในด้านทักษะวิชาชีพ เช่น เรียนภาษา เพื่อจะได้นำทั้งภาษาและความรู้กลับมาสอนพยาบาลในประเทศต่อไป

สภาการพยาบาล มีแนวคิดที่จะเพิ่มกำลังการผลิตพยาบาล เนื่องจากเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ความต้องการพยาบาลจะเพิ่มขึ้น แต่ต้องดูอัตราของอาจารย์แพทย์เนื่องจากอาจารย์ ๑ ท่านสอนพยาบาลได้ไม่เกิน ๘ คน เพื่อให้การสอนมีประสิทธิภาพและได้พยาบาลที่มีคุณภาพ

อุปนายกสภาการพยาบาลกล่าวถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเข้ามาทำงานของพยาบาลอาเซียน ซึ่งเป็นวิชาชีพที่เคลื่อนย้ายการทำงานได้เสรี โดยจะเข้มงวดว่าต้องมีใบอนุญาตการทำงานและมีความเชี่ยวชาญในด้านที่จะเข้ามาทำงานอย่างแท้จริง ถ้าขาดคุณสมบัติด้านใดด้านหนึ่งก็จะไม่รับเข้ามาทำงานในประเทศไทย

ปัจจุบัน ประเทศไทยขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์อย่างมาก โดยเฉพาะพยาบาลวิชาชีพที่ปัจจุบันขาดแคลน ๔ หมื่นอัตราต่อปี เมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะขาดแคลนถึง ๘-๙ หมื่นอัตราต่อปีในปี ๒๕๕๙ ไทยมีพยาบาลวิชาชีพ ผู้ช่วยพยาบาล สำเร็จการศึกษาและพร้อมทำงานเฉลี่ยปีละ ๖,๐๐๐ – ๗,๐๐๐ คน

ที่มาของข่าว www.dlfeschool.in.th
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก