ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สธ.เผยข่าวดี คนพิการขาขาดทั่วไทย ได้รับขาเทียมฟรีภายในปี 2559

วันที่ลงข่าว: 31/03/15

วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2558 ศ.นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมศักยภาพคนพิการขาขาด พร้อมมอบขาเทียมและอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการแก่คนพิการจังหวัดชลบุรี ณ ศาลาเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี โดยมีนายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ให้การตอนรับ

 

กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดโครงการส่งเสริมศักยภาพคนพิการขาขาด เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา ในวันที่ 2 เมษายน 2558 โดยจัดบริการเคลื่อนที่ด้วยรถโมยายซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานให้แก่ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรณภาพทางการแพทย์แห่งชาติเมื่อ พ.ศ.2549 ให้บริการฟรีเบ็ดเสร็จที่จุดเดียวถึงชุมชน หมู่บ้านใน 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี นครศรีธรรมราช แม่ฮ่องสอน และพิจิตร เพื่อลดข้อจำกัดด้านการเดินทางให้แก่ผู้พิการบริการประกอบด้วยการขึ้นทะเบียนคนพิการ ทำขาเทียม และซ่อมแซมอุปกรณ์ช่วยคนพิการ ตั้งเป้าทำขาเทียมจำนวน 600 ราย ใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท โครงการสิ้นสุดในเดือน พฤษภาคมนี้

 

นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า หน่วยบริการเคลื่อนที่จังหวัดชลบุรีนี้นับเป็นแห่งที่ 3 ของโครงการในปีนี้ บริการตั้งแต่วันที่ 24 – 30 มีนาคม 2558 ได้ผลิตขาเทียม 129 ราย ได้แก่ ไม้เท้า 24 ชิ้น รถเข็น 23 คัน รถโยก 2 คัน อบรมการออกเอกสารรับรองความพิการให้บุคลากร 100 คน และให้บริการตรวจประเมินและออกเอกสารรับรองความพิการ เพื่อนำไปจดทะเบียนคนพิการที่ยังไม่เคยมีบัตรประจำตัวคนพิการหรือทำบัตรหาย ทั้งนี้ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูฯ กรมการแพทย์ ได้บริการออกหน่วยเคลื่อนที่ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวตั้งแต่ พ.ศ. 2548 จนถึง พ.ศ.2557 รวม 45 ครั้งใน 36 จังหวัด ผลิตขาเทียม 3,201 ขา ซ่อมอุปกรณ์ช่วยความพิการจำนวน 2,220 ชิ้นมอบรถนั่งคนพิการไม้เท้าไม้ค้ำยัน 14,193 ชิ้น

 

ศ.นายแพทย์รัชตะ รัชตะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งพัฒนาระบบบริการผู้พิการให้ทั่วถึงครอบคลุม เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีข้อจำกัดมากกว่าทุกอื่นๆ เพื่อดูแลฟื้นฟูสมรรณภาพสามารถช่วยเหลือตนองได้มากที่สุดตามศักยภาพ ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2555 ทั้งประเทศมีคนพิการประมาณ 1 ล้าน 5 แสนคนกว่าคน ร้อยละ 80 อยู่ในชนบท มีผู้พิการได้รับการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต 1ล้าน 4 แสนกว่าคน เกือบร้อยละ 50 เป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหวและเป็นผู้สูงอายุ

 

โดยมีคนพิการที่ขาขาดระดับข้อเท้าขึ้นมาประมาณ 40,000 คน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากอุบัติเหตุ และโรคเรื้อรังโดยเฉพาะเบาหวานมีผู้ถูกตัดขาระดับระดับข้อเท้าขึ้นมาเพิ่มปีละกว่า 3,500 คน ปีนี้มีนโยบายให้ทีมหมอครอบครัวร่วมกับ อสม.ออกดูแลผู้พิการทุกคนในหมู่บ้านชุมชน ให้ได้รับการขึ้นทะเบียนได้รับสิทธิต่างๆ ตามกฎหมาย ทั้งการศึกษา อาชีพ สาธารณสุข และตั้งเป้าใส่ขาเทียมให้ผู้พิการขาขาดที่ยังไม่มีขาเทียม ซึ่งคาดว่าขณะนี้มีประมาณ 100,000 คนให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2559 นี้ พร้อมทั้งเพื่อตำแหน่งนักกายอุปกรณ์อีก 187 อัตรา จากเดิมที่มีช่างกายอุปกรณ์ประมาณ 200 คนเพื่อกระจายบริการให้เพียงพอ และพัฒนาทักษะการผลิตเครื่องช่วยความพิการให้มีคุณภาพมากขึ้นต่อไป

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก