ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

แล้วคุณจะรักเธอ! นางงามในโลกเงียบ

วันที่ลงข่าว: 29/03/15
ปิติญานันท์ มัธยมพันธ์” นักศึกษาสาวชั้นปีที่ 4 คณะคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาราชภัฏสวนดุสิต
ย้อนเวลากลับไปเมื่อ 1 ปีก่อน แทบไม่มีใครเคยรู้จัก “ปิติญานันท์ มัธยมพันธ์” นักศึกษาสาวชั้นปีที่ 4 คณะคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาราชภัฏสวนดุสิต กระทั่ง.. เมื่อเธอก้าวขึ้นสู่เวทีระดับโลกไปโชว์ความสามารถทางด้านการฟ้อนรำไทย และเดินแบบแฟชั่นประชันโฉมกับตัวแทนจากแต่ละประเทศ สะกดหัวใจผู้ชมนับหมื่น ณ กรุงปราก ประเทศสาธารณรัฐเช็ก ในการประกวด Miss and mister Deaf World 2014. 
        
        จากวินาทีนั้น หญิงสาวร่างเล็กๆ ผู้มีปัญหาความบกพร่องเกี่ยวกับหูคนนี้ก็โด่งดังไปทั่วโลก ด้วยการคว้าตำแหน่ง นางงามในโลกเงียบระดับโลก 2014 หรือ Miss Deaf Sympathy มาไว้ในครอบครอง
        
        และด้วยบุคลิกอันร่าเริงสดใส มองโลกในแง่บวกของเธอ… ทำให้เรา.. “Feel Good” ติดต่อขอพบเธอ เพื่อนำเรื่องราวชีวิตทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังมาบอกกับทุกคนว่า “หัวใจของผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนี้แข็งแกร่งถึงเพียงใด” 
        
        
        “ถ้ามัวคิดว่าชีวิตตัวเองแย่ ก็เท่ากับเรากำลังเพิ่มความแย่ให้กับชีวิตตัวเอง” ล่ามภาษามือ หรือครูสอนเด็กพิเศษเริ่มถ่ายทอดสิ่งที่น้องปิติญานันท์ ต้องการจะสื่อ ก่อนจะย้อนเรื่องราวชีวิต หลังจากที่น้องแกว่งมือไปมา ฉายแววตามุ่งมั่น
        
        น้องปิติญานันท์ พิการตั้งแต่กำเนิด หมอบอกกับทางบ้านเธอว่า เธอมีความผิดปกติทางพันธุกรรม หูตึง จนเกือบหนวก ในอนาคตจะส่งผลให้ไม่สามารถพูดได้ ทว่า คนเป็นพ่อเป็นแม่กลับไม่เคยย่อท้อ พยายามส่งเสียให้เธอได้เข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติ และวินาทีนี้เองที่เปิดโอกาสให้เธอได้พบกับคุณครูและเพื่อนๆ ที่คอยให้กำลังใจ ไม่ตอกย้ำความพิการที่มีอยู่ น้องปิติญานันท์ สารภาพว่า ตัวเองถือเป็นคนที่โชคดีมาก.. มากจนคิดว่า “หากไม่พิการ ก็อาจไม่ได้รับสิ่งดีๆ เท่าวันนี้”
        ทว่า เส้นทางชีวิตคนพิการมักไม่ถูกโรยด้วยกลีบกุหลาบ เมื่อถึงคราวที่ชีวิตต้องระหกระเหินเดินทางมาศึกษาต่อในกรุงเทพฯ ฐานะพอมีพออยู่ของทางบ้านจึงบีบบังคับให้เธอ ต้องทำงานส่งเสียตัวเองเรียน ซึ่งในระหว่างประกาศหางาน หลายครั้งที่หลากบริษัทตอกกลับมาว่า “ที่นี่ ไม่มีนโยบายรับคนหูหนวก” 
        
        แม้จะแอบตัดพ้อต่อโชคชะตาอยู่ลึกๆ แต่เธอก็ไม่ยอมจำนน ยังคงไล่สมัครงานไปเรื่อยๆ ด้วยความหวังอันเรือนรางลงทุกที จนในที่สุด ก็พบกับบริษัทแห่งหนึ่งที่ยอมรับเธอเข้าร่วมงาน ด้วยค่าแรง 300 บาทต่อวัน ในฐานะลูกจ้างงานฝีมือ ซึ่งเป็นงานที่เธอคิดว่าตัวเองถนัดที่สุด
        
        
        ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากเธอจะทำตัวไม่ให้เป็นภาระสังคม สามารถทำคะแนนได้ดีทั้งด้านการทำงาน และการเรียนด้วยเกรดเฉลี่ยกว่า 3.00 แล้ว ทัศนคติมองโลกในแง่งามของเธอที่ชอบช่วยเหลือผู้อื่น โดยเฉพาะหมั่นให้กำลังเพื่อนที่พิการด้วยกัน ยังช่วยให้เธอ มีชีวิตอยู่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคนในพื้นที่อย่างภาคภูมิใจ และสามารถนำความภาคภูมิใจนี้กลับมาสู่ชีวิตตัวเองได้อีกด้วย
        
        ไม่นาน.. คณาจารย์ของมหาวิทยาราชภัฏสวนดุสิต ก็เห็นคุณค่าในสิ่งที่หญิงสาวผู้มีหัวใจยิ่งใหญ่กว่าวัยคนนี้ทำ จึงขอประสานงานเรื่องทุนการศึกษาต่อกระทรวงศึกษาธิการให้ ทั้งยังสนับสนุนด้านกิจกรรมให้เธอและเพื่อนๆ นักศึกษาพิการอย่างเต็มรูปแบบ จนเธอสามารถขึ้นไปยืนบนเวทีการประกวด Miss and mister Deaf World 2014 ณ กรุงปราก ประเทศสาธารณรัฐเช็ก ท่ามกลางสายตา และเสียงปรบมือของผู้คนนับหมื่นได้ในที่สุด
        
        
        “นั่นคือรางวัลที่ดีที่สุดในชีวิต” น้องปิติญานันท์ สื่อผ่านภาษามือ ด้วยสีหน้าสดใส ยิ้มกว้างเป็นประกาย เธอเล่าผ่านล่ามว่า รางวัล Miss Deaf Sympathy ในครั้งนั้น เหมือนให้ชีวิตใหม่ ไม่เพียงจะส่งต่อความภูมิใจนี้ไปถึงครอบครัว ยังเป็นกำลังใจให้แก่เพื่อนที่พิการด้วยกันทั่วโลกด้วย มิหนำซ้ำ ยังเป็นใบเบิกทางในการเพิ่มช่องทางการแสดงออกทางความสามารถของคนพิการที่ทุกวันนี้ ยังถูกมองว่าไม่ต่างจากขอทาน เมื่อไปโชว์ความเปิดหมวกกันเองตามที่ต่างๆ อีกด้วย
        
        
        อย่างการได้รับเชิญให้ไปถ่ายแบบร่วมกับ Deaf Camera หรือ Dc. ซึ่งเป็นเป็นช่างภาพเฉพาะคนหูหนวก และได้ร่วมงานกับ สถานีโทรทัศน์ Thaipbs. ที่ผลิตรายการทำอาหารของคนพิการ รวมถึงชมรมพัฒนาและส่งเสริมศิลป์คนหูหนวกไทย ที่มักให้เธอมาเดินแบบแฟชั่น พร้อมพูดคุยแลกเปลี่ยนแรงบันดาลใจแก่ผู้พิการด้วยกันทุกช่วงอายุอีกด้วย
        
        
        นางฟ้าในโลกเงียบ เผยเคล็ดลับที่ทำให้ตนเองมีวันนี้ ว่าต้องรู้จักพยายามดีดตัวเองมากกว่าตำหนิตัวเอง สู้พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส รังสรรค์สิ่งที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด “ในเมื่อเรามีไม่เท่าคนอื่น เราก็แค่ต้องพยายามให้มากกว่าคนอื่นเท่านั้น ถึงจะยาก แต่ก็ทำได้ไม่ใช่เหรอ หนูยังทำได้เลย วันนี้หนูคงอ่านหนังสือไม่ออก คงเย็บผ้าไม่เป็น ทำอาหารไม่เป็น และอยู่ร่วมกับคนปกติไม่ได้ถ้าไม่พยายามให้กำลังใจตัวเอง” 
        
        
        นอกจากนี้นางฟ้าใจแกร่งยังบอกผ่านล่ามภาษามือพร้อมเสียงหัวเราะอีกว่า บางทีความปกติไม่บกพร่องทางร่างกาย อาจเป็นตัวเพิ่มปัญหาให้กับเราก็ได้ เพราะการได้รับรู้ มองเห็น ได้ยินได้สัมผัสอะไรมากกว่า ก็เหมือนเป็นการเปิดช่องทางให้สิ่งไม่ดีเข้าตัวได้มากกว่าคนพิการด้วยไม่ใช่เหรอ
        
        “ถ้าได้ยินเหมือนคนปกติ เกิดมาร่างกายครบ 32 เวลาอยู่ในห้องเรียนคงคุยกับเพื่อน ไม่มีสมาธิทำอะไรเลย” 
        
        ส่วนเรื่องความฝันวนอนาคตอันใกล้ ที่เราถามเธอว่า “ถ้าตอนนี้ ให้ขอพรได้หนึ่งอย่าง อยากได้อะไร ?”
        แทนที่จะบอกที่จะบอกว่า “ขอให้ได้ยิน และพูดได้อย่างชนปกติ” แต่เธอกลับบอกว่า อยากได้ทุนการศึกษา เพื่อเรียนต่อ จะได้กลับมาเป็นครู สอนเด็กๆ ที่สภาพร่างกายบกพร่องเหมือนกับเธอ
        
        
        เพราะมีความคิดดีๆ นี่เอง ไม่แปลกใจเลย ที่น้องปิติญานันท์ มัธยมพันธ์ วัย 23 ปีคนนี้กลายเป็นที่รักและมิ่งขวัญกำลังใจแก่คนรู้จัก 
        วันนี้ แผ่นป้ายของเธอถูกประดับไว้เต็มมหาวิทยาราชภัฏสวนดุสิตแล้ว ใครจะคิดว่าชีวิตคนพิการคนหนึ่ง จะมาไกลถึงวันนี้ เพียงเพราะทัศนคติในการมองโลก
        
        นี่คือเรื่องราวการต่อสู้ของชีวิตนางฟ้าตัวน้อยๆ ผู้ถูกโลกการันตีแล้วว่าหัวใจไม่มืดบอดตามข้อจำกัดทางร่างกาย ก่อนจะจากกัน Feel good อยากให้ทุกคนลองสำรวจความรู้สึกของตัวเองดูเล่นๆ ว่าที่เราใช้ชีวิตกันอยู่ทุกวันนี้ เราทำงานกันอยู่ทุกวันนี้ ด้วยหัวใจแบบไหน. ถ้าหากว่าคำตอบ ยังไม่เป็นที่พอใจ. ลองย้อนกลับไปอ่านเรื่องราวของ น้องปิติญานันท์ มัธยมพันธ์ ใหม่อีกครั้ง 
 
ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ASTV ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 29 มีนาคม 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก