ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

'สุรศักดิ์'ประกาศคนพิการต้องมีงานทำ

วันที่ลงข่าว: 26/03/15

กระทรวงแรงงานจับมือ สสส.มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม บริษัทเอกชนชั้นนำกว่า 20 แห่ง เปิดตัวทางเลือกใหม่การจ้างงานคนพิการ 'สุรศักดิ์'ประกาศคนพิการต้องมีงานทำ

              พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ประเทศไทยมีคนพิการที่จดทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จำนวน 1.65 ล้านคน คนพิการวัยแรงงาน (อายุ 15-60 ปี ) ประมาณ 700,000 คน ซึ่งสามารถทำงานได้ประมาณ 300,000 คน

 

               ในจำนวนนี้เป็นคนพิการที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการต้องรับเข้าทำงานตาม “กฎกระทรวงกำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐจะต้องรับคนพิการเข้าทำงานและจำนวนเงินที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ จะต้องนำส่งเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2554” (ตามอัตราส่วนพนักงาน 100 คน ต้องจ้างคนพิการ 1 คน) ประมาณ 60,000 คน แต่ข้อเท็จจริงมีการจ้างงานตามมาตรา 33 และดำเนินการตามมาตรา 35 แล้ว ประมาณ 30,000 คน ที่เหลือยังไม่ได้จ้างอีกประมาณ 30,000 คน

 

               พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า สาเหตุสำคัญเนื่องจากสถานประกอบการอยู่ในพื้นที่อุตสาหกรรม แต่คนพิการส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชนบท รวมทั้งข้อจำกัดในการจ้างงานคนพิการ เช่น สิ่งอำนวยความสะดวก ในการเดินทางและการทำงาน ความรู้ความสามารถ วุฒิการศึกษาไม่ตรงกับความต้องการ และทัศนคติในการทำงานร่วมกับคนปกติ ดังนั้นกระทรวงแรงงาน ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม พัฒนารูปแบบการจ้างงานคนพิการรูปแบบใหม่ โดยส่งเสริมเจ้าของสถานประกอบการจ้างงานคนพิการทำงานด้านสาธารณประโยชน์ของบริษัทในพื้นที่/ชุมชน เพื่อให้เกิดต้นแบบการจ้างงานที่เป็นรูปธรรมนำไปสู่การขยายผลต่อไป

 

               ด้าน ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส.กล่าวว่า ข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) พบว่าคนพิการที่มีงานทำส่วนใหญ่ประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรม ประมง และป่าไม้ และมีธุรกิจเป็นของตนเอง ซึ่งจากการศึกษาของสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ พบว่าคนพิการที่มีงานทำมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าคนทั่วไป หรือคิดเป็นค่าเฉลี่ยประมาณ 2 ใน 3 ของรายได้เฉลี่ยการจ้างงานทั่วไป ในขณะที่คนพิการวัยแรงงานที่มีศักยภาพในการทำงานอีกกว่า 3 แสนคน ไม่มีงานทำ และมีรายได้จากเบี้ยยังชีพเดือนละ 800 บาทเพียงทางเดียว นอกจากนี้จากข้อมูลจากการสำรวจระบุว่า คนพิการส่วนใหญ่จะมีระดับการศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษา หรือต่ำกว่า ทำให้โอกาสในการทำงานที่ต้องอาศัยทักษะในสถานประกอบการนั้นเป็นไปได้ยาก การจ้างงานในชุมชนจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้คนพิการมีงานทำและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

               นายอภิชาติ การุณกรสกุล ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม กล่าวว่า ในปี 2557 แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแบบครบวงจร : สุขภาวะจากการทำงาน สสส. ได้ดำเนินโครงการนำร่องจ้างงานคนพิการในพื้นที่/ชุมชน จำนวน 229 คน โดยส่งเสริมให้นายจ้างและเจ้าของสถานประกอบการกว่า 20 บริษัทชั้นนำ อาทิ บริษัท พรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน), บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด และบริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) จ้างงานคนพิการหนุนการจ้างงานคนพิการในชุมชน thaihealth ทำงานในพื้นที่/ชุมชน โดยเป็นผู้แทนของบริษัทในชุมชน

 

               เช่น ช่วยสอนหนังสือในโรงเรียน ช่วยงานในโรงพยาบาล  ช่วยงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น งานพัฒนาชุมชน งานในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก งานในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ฯลฯ และพบว่าคนพิการที่เข้าร่วมโครงการมีความสุข งานมีความเหมาะสมกับตัวคนพิการ มีความภาคภูมิใจตัวเอง รู้สึกมีคุณค่า

 

               ขณะที่บริษัทที่เข้าร่วมโครงการรู้สึกพึงพอใจมากที่ได้ช่วยเหลือคนพิการและช่วยเหลือชุมชนไปพร้อมๆ กัน การจ้างงานคนพิการในชุมชนถือเป็นทางเลือกใหม่ในการที่จะพัฒนาศักยภาพคนพิการเพื่อสร้างโอกาสให้คนพิการได้เข้าสู่การจ้างงานโดยสถานประกอบการ เพื่อทำงานในพื้นที่/ชุมชน นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยโครงการดังกล่าวนี้จะดำเนินการควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมและพัฒนาให้คนพิการสามารถเข้าสู่การจ้างงานในระบบสถานประกอบการได้ในอนาคต

 

               นายสุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ เลขาธิการมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนา ตัวแทนเครือข่ายคนพิการ กล่าวว่า การมีงานทำเป็นสุดยอดความปรารถนาของทุกคน “คนพิการต้องมีงานทำ” เป็นคำประกาศที่ตรงใจมาก เพราะตลอดชีวิตการทำงานของตนก็เพื่อให้คนพิการมีงานทำ การจ้างงานคนพิการเพื่อทำงานชุมชนเป็นทางเลือกที่ดีและเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ คนพิการที่เข้าถึงสิทธิก็ต้องมีความพร้อมทั้งร่างกายจิตใจและความรู้ความสามารถ เราต่างต้องการดำรงชีวิตอิสระ ต้องการแสดงถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีอย่างเท่าเทียมในสังคม คนพิการต้องแสดงให้เห็นถึงพลังในตนเองและนำพลังนี้ไปพัฒนาชุมชน ตนขอเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างงานอันทรงคุณค่าที่จะเอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรมต่อไป

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์คมชัดลึกออนไลน์ วันที่ 23 มีนาคม 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก