ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

กรมอนามัยจัดระบบเฝ้าระวังสุขภาพผู้สูงวัยลดโรค

วันที่ลงข่าว: 25/03/15

กรมอนามัย จัดระบบเสริมสร้างสุขภาวะสำหรับผู้สูงอายุ เตรียมรองรับสังคมผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมแนะนำการรักษาช่องปากด้วยตนเองผ่าน อสม.และแกนนำชุมชน

 

 ดร.นพ.พรเทพ  ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งจำนวนและสัดส่วน หมายถึงมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป หรืออีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ :Aged Society และจากนั้นอีก 10 ปี ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด

 

จากรายงานการสำรวจสภาวะสุขภาพผู้สูงอายุไทยปี 2556 โดยกรมอนามัยร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) พบว่า ผู้สูงอายุมีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ร้อยละ 26 เช่น ออกกำลังกายทุกวัน ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า  ขณะที่ผู้สูงอายุ 9.2 ล้านคน หรือร้อยละ 95 ป่วยด้วยโรคต่าง ๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน เข้าเสื่อม ซึมเศร้า เป็นผู้ป่วยนอนติดเตียง และผู้พิการ ในจำนวนนี้เข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้เพียงร้อยละ 57 โดยยังพบว่าผู้สูงอายุร้อยละ 50 มีภาวะอ้วนหรือเป็นโรคอ้วน ทำให้การเดินลำบากยิ่งขึ้น และพบผู้สูงอายุอยู่คนเดียว 6 แสนคน

 

 กรมอนามัยได้เตรียมการรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยจัดระบบสร้างเสริมสุขภาวะสำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงรวมถึงผู้ป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิต โดยการคัดกรองเพื่อจำแนกกลุ่มผู้สูงอายุตามภาวะพึ่งพิงและประเมินความจำเป็น ด้านการสนับสนุนบริการและจัดบริการด้านสุขภาพและสังคม นอกจากนี้ กรมอนามัยได้ส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนเห็นความสำคัญของโถส้วมแบบนั่งราบ สำหรับผู้สูงอายุเพื่อป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อมจากการใช้โถส้วมแบบนั่งยอง และกำหนดให้ส้วมสาธารณะมีโถส้วมแบบนั่งราบอย่างน้อย 1 ที่ ไว้ให้บริการผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ

 

  ทั้งนี้ กรมอนามัยยังได้สนับสนุนให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลสุขภาพช่องปากของตนเองและเข้าถึงบริการตามความจำเป็นได้ง่าย ทันเวลา พร้อมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานเครือข่ายบริการปฐมภูมิซึ่งมีบทบาทหลัก ได้แก่ 1) สนับสนุนให้ผู้สูงอายุดูแลตนเองผ่านชมรมผู้สูงอายุด้านการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก หรือ อสม. หรือผู้ดูแล ทำให้ผู้สูงอายุจำนวนกว่า 730,000 คน สามารถดูแลสุขภาพช่องปากด้วยตนเองผ่านแกนนำชมรมผู้สูงอายุซึ่งมีจำนวน 3,510 ชมรม 2) จัดบริการส่งเสริม ป้องกัน รักษาพื้นฐานในหน่วยบริการระดับตำบลซึ่งอยู่ใกล้บ้าน ปัจจุบันมีการจัดบริการแก่ผู้สูงอายุ 967 แห่ง  และ 3) ประสานและส่งต่อเพื่อรับการรักษาและใส่ฟันเทียมตามความจำเป็น รวมทั้งติดตามผลการรักษาในชุมชนเพื่อดูแลอย่างต่อเนื่องตลอดอายุขัย และเตรียมขยายเครือข่ายฟันเทียมพระราชทานและการส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุทั้งในระดับชุมชน ตำบล และอำเภอ โดยมีเป้าหมายจำนวน 200 แห่งทั่วประเทศ

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก