ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

คนพิการต้องมีงานทำ

วันที่ลงข่าว: 22/03/15

“คนพิการไปทำงานในบริษัทแล้วเขาต้องประสบปัญหาเรื่องการเดินทาง สภาพพื้นที่ไม่อำนวย ดังนั้นการทำงานเพื่อสังคมอยู่ในท้องถิ่นน่าจะเหมาะสมทำให้เขาภูมิใจและมีงานทำ ขณะที่บริษัทก็ทำกิจกรรมซีเอสอาร์เพื่อชุมชนอยู่แล้ว โดยเอาเงินตรงนี้มาจ้างงานคนพิการ” ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกถึงหลักคิดและปิดช่องโหว่ของปัญหาคนพิการไม่มีงานทำ

 

คนพิการต้องมีงานทำ ทำงานเพื่อชุมชนถือเป็นทางเลือกใหม่ของการจ้างงาน เช่นเดียวกับบริษัทผู้จ้างสามารถนำการจ้างงานไปหักภาษีได้ 2 เท่าเช่นเดิม เหล่านี้เป็นการประกาศเจตนารมณ์ ของกระทรวงแรงงาน สสส. มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม และบริษัทเอกชนร่วม 20 บริษัท

 

พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในงานแถลงข่าวและประกาศเจตนารมณ์ “คนพิการต้องมีงานทำ” ทำงานเพื่อชุมชน:ทางเลือกใหม่ของการจ้างว่า ประเทศไทยมีคนพิการที่จดทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จำนวน 1.65 ล้านคน คนพิการวัยแรงงาน (อายุ 15- 60 ปี ) ประมาณ 700,000 คน ซึ่งสามารถทำงานได้ประมาณ 300,000 คน

 

ในจำนวนนี้เป็นคนพิการที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการต้องรับเข้าทำงานตาม “กฎกระทรวงกำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐจะต้องรับคนพิการเข้าทำงานและจำนวนเงินที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ จะต้องนำส่งเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2554” (ตามอัตราส่วนพนักงาน 100 คน ต้องจ้างคนพิการ 1 คน) ประมาณ 60,000 คน แต่ข้อเท็จจริงมีการจ้างงานตามมาตรา 33 และดำเนินการตามมาตรา 35 แล้ว ประมาณ 30,000 คน ที่เหลือยังไม่ได้จ้างอีกประมาณ 30,000 คน

 

“สาเหตุสำคัญเนื่องจากสถานประกอบการอยู่ในพื้นที่อุตสาหกรรม แต่คนพิการส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชนบท วุฒิการศึกษาไม่ตรงกับความต้องการ และทัศนคติในการทำงานร่วมกับคนปกติ ”

 

สำหรับตำแหน่งงานที่คนพิการทำงานบริษัทจะประสานกับอบต. เพื่อหาตำแหน่งที่เหมาะสมกับผู้พิการ โดยที่ผู้พิการรับเงินเดือนจากบริษัท โดยมีผู้ประกอบการ 23 บริษัทที่เห็นความสำคัญและให้ความร่วมมือทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้ เบื้องต้นทำให้เกิดการจ้างงาน 200 คน

 

นายเชาวลิต หาญโงน ตัวแทนผู้พิการ ซึ่งปัจจุบันทำงานเป็นครูสอนคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าที่ได้นำความรู้มาถ่ายทอดให้กับนักเรียนในชุมชน และภาคภูมิใจที่มีนักเรียนเรียกตนเองว่า “ครู”

 

นายอภิชาติ การุณกรสกุล ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม กล่าวว่าในปี2557แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแบบครบวงจร :สุขภาวะจากการทำ งาน สสส. ได้ดำเนินโครงการนำร่องจ้างงานคนพิการในพื้นที่/ชุมชน จำนวน 229 คน โดยส่งเสริมให้นายจ้างและเจ้าของสถานประกอบการกว่า20บริษัทชั้นนำ อาทิ บริษัท พรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน),บริษัท น้ำตาลมิตรผลจำกัด และบริษัท เบทาโกร จำกัด(มหาชน)จ้างงานคนพิการทำงานในพื้นที่ชุมชน

 

โดยเป็นผู้แทนของบริษัทในชุมชน เช่นช่วยสอนหนังสือในโรงเรียน ช่วยงานในโรงพยาบาลช่วยงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น งานพัฒนาชุมชน งานในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก งานในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ฯลฯและพบว่าคนพิการที่เข้าร่วมโครงการมีความสุขงานมีความเหมาะสมกับตัวคนพิการ มีความภาคภูมิใจตัวเอง รู้สึกมีคุณค่า

 

ขณะที่บริษัทที่เข้าร่วมโครงการรู้สึกพึงพอใจมากที่ได้ช่วยเหลือคนพิการและช่วยเหลือชุมชนไปพร้อม ๆ กัน.

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ออนไลน์ วันที่ 22 มีนาคม 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก