ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

กรุงเทพฯกับการเข้าสู่‘มหานครแห่งอาเซียน’ ในปี 58 โปรโมตความเป็นที่สุด...สร้างความโดดเด่น

วันที่ลงข่าว: 19/03/15

หลังประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations หรือ ASEAN) ซึ่งประกอบด้วย 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไนดารุสซาลาม เวียดนาม สาธารณรัฐ ประชาธิปไตยประชาชนลาว เมียนมาร์ และ กัมพูชา ได้ประกาศพันธกรณีในการรวมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ASEAN Community (AC) ในปี พ.ศ. 2558 โดยมีเป้าหมายความร่วมมือ 3 ด้านสำคัญ ประกอบด้วย ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security community : APSC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC)ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community : ASCC) ซึ่งสมาชิกได้ตกลงกันว่า ประชาคมอาเซียนจะเริ่มต้นในวันที่ 31 ธ.ค. 2558 เป็นต้นไป แต่การ เตรียมความพร้อมเพื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่ประเทศสมาชิกต้องเร่งดำเนินการก่อนที่จะถึงเวลารวมทั้งหลังจากเข้าสู่ประชาคมด้วย

 

กรุงเทพมหานคร (กทม.) เอง ในฐานะเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย ก็ต้องขับเคลื่อนและดำเนินนโยบายเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายหลักของประเทศเช่นเดียวกัน ตามที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม.ได้ประกาศนโยบายเมื่อคราวรับตำแหน่ง ภายใต้แนวคิด “รักกรุงเทพฯ ร่วมสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครแห่งความสุข” ไว้เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2556 ประกอบด้วย 10 มาตรการเร่งด่วนและ 6 นโยบายที่ต้องเดินหน้าทันที เพื่อเป็นมหานครใน 6 ด้าน โดยหนึ่งในมหานครสำคัญก็คือ “มหานครแห่งอาเซียน” โดยนโยบายมหานครแห่งอาเซียน ถือเป็นนโยบายปฏิบัติเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนโดยเฉพาะ ซึ่งมีแนวทางดำเนินการใน 4 ด้าน ให้สอดคล้องกับเป้าหมายความร่วมมือ 3 ด้าน พัฒนา “กรุงเทพฯ” ให้ก้าวสู่การเป็น “มหานครแห่งอาเซียน” ได้แก่

 

1. เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวอาเซียนและของโลก

 

ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ได้รับความสนใจด้านการท่องเที่ยว ซึ่งได้รับรางวัลเมืองน่าท่องเที่ยวอันดับ 1 ของโลก ถึง 4 ปีซ้อนจากนิตยสารท่องเที่ยวยอดนิยมของสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2553- 2556 และรางวัลเมืองท่องเที่ยวอันดับ 1 ของเอเชียทุกปี ตั้งแต่ปี 2548-2551 และปี 2553-2556 แสดงถึงความยอมรับของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และผู้คนที่ได้เดินทางมาสัมผัสกรุงเทพฯ ด้วยเหตุผลที่มหานครแห่งนี้เป็นเมืองที่มีเสน่ห์ เต็มไปด้วยความหลากหลายทั้งด้านวัฒนธรรม ผู้คน สภาพเมือง และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ประกอบกับการมีสาธารณูปโภคพื้นฐานครบครัน และค่าครองชีพในระดับไม่สูงมาก แต่เต็มไปด้วยความคุ้มค่าที่แลกมากับมิตรภาพ รอยยิ้ม อัธยาศัยไมตรีของผู้คนกรุงเทพฯ ทำให้กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองที่ใคร ๆ ต่างมองว่ามีโอกาสสูงที่จะกลายเป็น “มหานครแห่งอาเซียน” ด้วยต้นทุนเดิม บวกกับสภาพทางภูมิศาสตร์ ที่เป็นศูนย์กลางของอาเซียน อีกทั้ง มีนโยบายการพัฒนาเมืองในนโยบายระดับชาติ มาอย่างต่อเนื่อง

 

โดยขณะนี้ กองการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ได้ดำเนินการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวในกรุงเทพฯที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของ “เครือข่ายการท่องเที่ยวภาคประชาสังคม” และ “ชุมชน” รวมทั้งฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคมในพื้นที่เขต โดยสามารถพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเชิงอนุรักษ์ทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี จำนวน 9 ย่าน 9 เส้นทาง ได้แก่ ย่านเกษตรบางแค ย่านบ้านบุ ย่านเกษตรหนองจอก และย่านประวัติศาสตร์ลาดกระบัง ย่านนางเลิ้ง ย่านกรุงรัตนโกสินทร์ ย่านริมคลองบางหลวงและริมคลองบางระมาด ย่านคลองบางแวก คลองบางเชือกหนังและคลองบางระมาดตอนใน ย่านริมคลองบางพู-สะพานวันชาติ และย่านตลาดน้อย, ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวให้สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างมั่นใจและให้บริการที่ประทับใจ เช่น คนขับรถแท็กซี่และรถโดยสารสาธารณะ, กองการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ได้จัดโครงการพัฒนาบุคลากรทางการท่องเที่ยวและเครือข่ายทางการท่องเที่ยวภาคประชาสังคมในกรุงเทพฯ, สำนักเทศกิจ จัดอบรมภาษาอังกฤษให้แก่เจ้าหน้าที่เทศกิจส่งเสริมการท่องเที่ยว “สายตรวจ SEGWAY” และ โรงเรียนฝึกอาชีพ กทม. สำนักพัฒนาสังคม จัดโครงการฝึกอบรมการพูด อ่าน เขียนภาษาอังกฤษให้แก่คนขับรถแท็กซี่ จำนวน 300 คนต่อปี

 

2. เป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของอาเซียนและของโลก โดยร่วมมือกับโรงพยาบาลรัฐ มหาวิทยาลัย เอกชน และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

 

ขณะนี้ กทม.ดำเนินการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนโดยพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลขนาดใหญ่กลางเมืองจากระดับตติยภูมิไปสู่โรงพยาบาลระดับตติยภูมิชั้นสูง (Super Tertiary Care) เป็นการพัฒนาโรงพยาบาลขนาดใหญ่ใจกลางเมือง จำนวน 3 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน และ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ให้มีศักยภาพการบริการรักษาพยาบาลโรคที่มีความซับซ้อนมากขึ้น และขยายขนาดเป็นโรงพยาบาล 800 เตียง เพื่อให้สามารถรองรับการให้บริการได้มากขึ้น ตามแนวโน้มการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการมาขอรับการรักษาพยาบาลของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และรองรับการรักษาโรคที่มีความซับซ้อนและรับส่งต่อผู้ป่วยที่เกินความสามารถของโรงพยาบาลรอบนอก 

 

3. จัดตั้งศูนย์ส่งเสริม SMEs อาเซียน และจัดทำ BMA SMEs ASEAN DataBank โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กทม.

 

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักการคลัง เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเข้าข้อมูลที่เกี่ยวข้องในเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจการคลังและการลงทุน ของกทม.ผ่านเว็บไซต์ http://www.bangkok.go.th/fiic/ ที่จะรวบรวมข้อมูลด้านเศรษฐกิจการเงิน การคลัง และการลงทุนที่สมบูรณ์และทันสมัยรวมถึงสามารถวิเคราะห์เศรษฐกิจของกรุงเทพมหานครได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนที่ต้องการทำการค้าขาย หรือลงทุนร่วมกับต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศสมาชิกอาเซียนที่ขับเคลื่อนอยู่ขณะนี้

 

4. ศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนศิลปะและวัฒนธรรมอาเซียน

 

จัดตั้งสภามหานครอาเซียน ส่งเสริมความร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่าง กทม. และองค์กรในอาเซียน เปิดโอกาสและส่งเสริมอาชีพการผลิต และจำหน่ายอาหาร/ผลิตภัณฑ์ฮาลาล จัดทำป้ายบอกทาง แผนที่ ป้ายรถประจำทาง และจุดให้ข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษทั่วกรุงเทพฯ

 

โดยในส่วนของการส่งเสริมอาชีพการผลิตและจำหน่ายอาหาร ผลิตภัณฑ์ฮาลาล จะเปิดฝึกอาชีพให้แก่ประชาชนผู้สนใจทั่วไป เข้ารับการฝึกอาชีพประกอบอาหารได้ที่โรงเรียนฝึกอาชีพ กทม. 10 แห่ง โดยมีกองอำนวยการตลาดนัด หน่วยงานการพาณิชย์ของ กทม. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการจัดเตรียมสถานที่เป็นศูนย์กลางจำหน่ายอาหารฮาลาล ณ ตลาดนัด ในสวนบางบอน ซอยเพชรเกษม 69 (บางบอน 3) แขวงหลักสอง เขตบางแค โดยใช้งบประมาณ 95 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ

 

การจัดทำป้ายบอกทาง แผนที่ ป้ายรถประจำทาง และจัดให้ข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษทั่วกรุงเทพฯ ออกแบบป้ายบอกทางแผนที่ป้ายรถประจำทาง ขสมก. ติดตั้งป้ายแนะนำเส้นทางชนิดแขวนเหนือผิวจราจรและ ติดตั้งป้ายชื่อถนน ซอย 2,000 จุด

 

ส่วนการจัดตั้งสภา-มหานครอาเซียนและส่งเสริมความร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกรุงเทพมหานครและองค์กรในอาเซียนนั้น จากการเป็นเจ้าภาพในการประชุมผู้นำเมืองหลวงภูมิภาคอาเซียน (The Second Meeting of Governors/Mayors of ASEAN Capitals) ครั้งที่ 2 ในช่วงปลายปีที่ผ่านมานั้น ในการประชุมครั้งนี้จะเน้นความร่วมมือ โดยเฉพาะในเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถนำมาพัฒนาและบูรณาการระหว่างเมืองหลวงในภูมิภาคอาเซียนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้เร็วมากกว่าในด้านอื่น ๆ 

 

ทั้งนี้ในปี 2558 ซึ่งเป็นปีของประชาคมอาเซียนอย่างแท้จริง สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผลได้ร่วมกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดทำแผนการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของกรุงเทพมหานคร ในปี 2558 จำนวนทั้งสิ้น 688 โครงการ ตามยุทธศาสตร์แผนการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของกรุงเทพมหานคร ในปี 2558 4 ยุทธศาสตร์ คือ 1. การเข้าสู่ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน 2 .การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 3. การเข้าสู่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน 4. การเตรียมความพร้อมของกรุงเทพมหานครสู่ประชาคมอาเซียน แต่จนถึงขณะนี้ ในบางกลยุทธ์หรือบางโครงการ ยังไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบดำเนินการ

 

การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี 2558 นี้ จนถึงตอนนี้ อาจจะดูน่าผิดหวังสักหน่อยสำหรับคนที่คิดว่า กรุงเทพมหานคร จะเกิดปรากฏการณ์แปลกใหม่ หรือ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเพื่อเป็นการต้อนรับความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน เพราะตั้งแต่เริ่มเตรียมการมาตั้งแต่ปี 2556 ผ่านระยะเวลามาประมาณ 2 ปี แล้ว ยังสัมผัสไม่ได้เลยว่า กรุงเทพฯผันตัวรองรับประชาคมอาเซียนตรงไหน ยังเหลือเวลาอีก 1 ปี ก่อนจะเดินเข้าประตูอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ คนกรุงเทพฯหรือแม้แต่คนไทยทั้งประเทศก็อาจจะได้เห็นภาพกรุงเทพฯ เมืองหลวงของเราเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้มากกว่านี้ก็ได้.

 

ทีมข่าวกทม./จราจร

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์เดลินวส์ออนไลน์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก

Fatal error: Call to undefined function drupal_get_path() in /usr/local/www/apache22/data/Braille-new/sites/all/modules/better_statistics/better_statistics.module on line 181