ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

บัณฑิตพิการม.รามฯ ปลื้มปีติ 'พระเทพฯ' ไม่ถือพระองค์ พระราชทานปริญญา

วันที่ลงข่าว: 13/03/15

บัณฑิตพิการรามคำแหง ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพฯ ให้นั่งรถเข็นเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร

บัณฑิตพิการรามคำแหง ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพฯ ให้นั่งรถเข็นเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ด้านล่างที่ประทับ มีรับสั่งถามทุกข์สุขอย่างไม่ถือพระองค์ สร้างความปลื้มปีติถึงกับกลั้นน้ำตาไม่อยู่...

เมื่อวันที่ 2-6 มีนาคมที่ผ่านมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง รุ่นที่ 40 ประจำปี 2556-2557 จำนวน 32,626 คน โดยบัณฑิตพิเศษทุกคนได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ให้นั่งรถเข็นเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ณ ด้านล่างที่ประทับ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บัณฑิตพิเศษบัณฑิตนั่งวีลแชร์โดยไม่ต้องยืนขึ้นรับปริญญาบัตร และมีรับสั่งถามทุกข์สุขอย่างไม่ถือพระองค์ ยังความปลื้มปีติแก่บัณฑิตอย่างล้นพ้น จนทำให้บัณฑิตพิการหลายคนถึงกับกลั้นน้ำตาแห่งความปลื้มปีติเอาไว้ไม่อยู่

ด้านนางสาวสาวิณี พิมพ์หนู บัณฑิตผู้พิการทางสายตา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท โครงการศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการสื่อสารพัฒนาการ คณะมนุษยศาสตร์ เผยนาทีปลื้มปีติที่สุดในชีวิตว่า รู้สึกตื่นเต้นและดีใจจนบอกไม่ถูกที่พระองค์ทรงมีพระเมตตาต่อบัณฑิตพิเศษและทรงห่วงใยถามทุกข์สุขถึงอาการที่ตนเจ็บป่วยอย่างใกล้ชิด วินาทีนั้นตื่นเต้นทำให้ไม่กล้าที่จะตอบคำถามใดๆ เพราะกลัวว่าจะกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ได้แต่ยิ้มตอบรับกับพระองค์ เชื่อว่าการที่พระองค์ทรงมีพระเมตตากับบัณฑิตพิเศษเช่นนี้ นอกจากจะสร้างความปลื้มปีติและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณแก่ตนเองแล้ว ยังความปลาบปลื้มแก่ครอบครัวและมหาวิทยาลัยรามคำแหงด้วย

ยังมีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ประทับใจ คือ ช่วงที่เตรียมตัวรอเพื่อเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ดิฉันรับรู้ได้ถึงความห่วงใยจากผู้บริหารและอาจารย์ที่ช่วยดูแลบัณฑิตพิเศษอยู่ โดยเฉพาะ ผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดี มร.ที่ท่านเดินสอบถามกับบัณฑิตพิเศษว่า แต่ละคนป่วยหรือเจ็บป่วยจากโรคอะไร ขณะที่ท่านพูดคุยกับดิฉัน ดิฉันถึงกับร้องไห้ออกมาด้วยความตื้นตัน ซึ่งท่านอธิการบดีได้ปลอบใจ โดยเล่าถึงคุณยายของท่านที่อายุมากและตามองไม่เห็น แต่คุณยายก็ยังใช้ชีวิตที่มีความสุขได้ จังหวะนั้นทำให้ดิฉันหยุดร้องไห้และยิ้มได้ด้วยความมั่นใจอีกครั้ง ดิฉันขอขอบคุณถึงความห่วงใยและความจริงใจที่ท่านอธิการบดีมอบให้แก่ลูกศิษย์คนนี้ด้วยนะคะ

บัณฑิตสาวิณี เล่าว่า เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม หลังจากที่เรียนจบชั้นปริญญาตรี เมื่ออายุ 23 ปี ซึ่งตนเองมีปัญหาเรื่องสายตามาตั้งแต่ 2 ขวบ และโชคดีที่เกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะทางสังคม และคอยเป็นกำลังใจโดยเฉพาะคุณพ่อนายสมพงษ์ พิมพ์หนู พี่น้อง และเพื่อนที่สนิทคอยดูแล ดิฉันจะพยายามช่วยเหลือตนเองก่อน ใช้ชีวิตให้ปกติเหมือนเพื่อนคนอื่น เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับคนรอบข้าง

ช่วงเวลา 5 ปีที่เรียนปริญญาโท ดิฉันต้องอ่านหนังสือให้อยู่ใกล้ตามากที่สุดถึงจะเห็นตัวอักษร ใช้วิธีท่องจำและทำความเข้าใจกับเนื้อหาด้วยตนเอง และเลือกเรียนสาขาสื่อสารพัฒนาการ เพราะจบชั้นปริญญาตรีด้านนิเทศศาสตร์ ทั้งยังเป็นคนพูดเก่ง กล้าแสดงออก และเคยทำงานเป็นพนักงานฝ่ายขายและฝ่ายการตลาด แต่ก็ต้องเลิกไปเพราะเริ่มมองไม่ชัดมากขึ้น ดิฉันเชื่อว่าหลายคนอาจมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ไม่ว่าจะหนักหรือเบาก็ตาม ขอให้ยอมรับกับสิ่งนั้น ให้เชื่อว่าเรายังต้องมีชีวิตอยู่ อย่าคิดว่าเราด้อยกว่าใคร ไม่ว่าพรุ่งนี้หรืออนาคตจะเป็นอย่างไร ให้ใช้ชีวิตของตนเองให้มีความสุขที่สุด

เช่นเดียวกับ นางสาวปรารถนา นคราวัฒน์ บัณฑิตผู้พิการทางสายตา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์ เป็นบัณฑิตอีกคนซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เปิดใจถึงความรู้สึกในวันนั้นว่า เป็นความปลื้มปีติอย่างที่สุดในชีวิตที่ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระองค์ท่านอย่างใกล้ชิด ทำให้เห็นถึงความห่วงใยของพระองค์ท่านที่มีต่อบัณฑิตพิเศษ นาทีนั้นยอมรับว่าตื่นเต้นมากและด้วยตาที่มองเห็นไม่ชัด ทำให้ยื่นมือไปรับปริญญาบัตรไม่ตรง แต่พระองค์ทรงมีเมตตาพระราชทานปริญญาบัตรให้จนสามารถถือได้ถนัดมือ นำความปลื้มปีติในชีวิตและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณแก่ตนเอง

ปัจจุบัน นางสาวปรารถนา ทำงานเป็นไกด์นำชมนิทรรศการพิเศษ เรื่อง Dialogue in the Dark ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) โดยเธอเล่าว่า เธอพิการตาบอดเลือนลาง ตั้งแต่อายุ 17 ปี สืบมาจากโรคต้อหินทำให้มีความดันในลูกตาสูงเกินไป จากที่มองเห็นชัดเจน ภาพก็ค่อยๆ เลือนลาง ยังไม่บอดสนิท แต่มุมมองแคบลงและเหมือนอยู่ในม่านหมอก เมื่อรู้ตัวว่าเริ่มมองไม่เห็นจึงต้องลาออกจากการเรียน ปวช. หันมาเริ่มเรียนอักษรเบรลล์ ด้วยการฝึกอ่าน ฝึกเขียนด้วยตนเองที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ และไปเรียนต่อที่ศูนย์การศึกษานอกระบบ (กศน.) จนได้วุฒิ ม.ปลาย ด้วยคำสอนของแม่ที่จากไปตั้งแต่อายุ 13 ปี ทำให้เธอมีกำลังใจใช้ชีวิตและมุ่งเรียนหนังสือ ซึ่งแม่เธอบอกว่า ไม่ว่าในอนาคตจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ลูกต้องเรียนหนังสือ เพราะวิชาความรู้เป็นสิ่งเดียวที่ไม่มีใครสามารถเอาไปจากเราได้  เธอจึงตัดสินใจมาสมัครเรียนคณะมนุษยศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ด้วยความตั้งใจที่จะต้องมีวิชาความรู้ให้มากที่สุด เธอเข้าเรียนตั้งแต่ปี 2543 แต่ระหว่างเรียนต้องเข้ารับการรักษาตัว ผ่าตัดตา และใช้เวลาฟื้นสุขภาพตา จึงต้องใช้เวลาเรียนนานกว่าคนอื่น เมื่อสำเร็จการศึกษาเธอจบด้วยเกรดเฉลี่ย 2.32 เมื่อปี 2556

<p>นางสาวปรารถนา กล่าวด้วยว่า ช่วงที่เรียนหนังสือเคยท้อในชีวิต แต่จำคำของแม่เอาไว้ และคิดว่ามีหลายคนที่เขามองไม่เห็นมาตั้งแต่เกิดพวกเขายังสามารถมีชีวิตอยู่ได้ เราก็ต้องสู้และอยู่ให้ได้เหมือนคนปกติ เมื่อสามารถก้าวข้ามผ่านความท้อแท้และพยายามฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ มาได้ จนถึงวันที่เรียนจบ ดิฉันรู้สึกดีใจและปลื้มใจที่ในชีวิตมีโอกาสได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีอย่างใกล้ชิด และเป็นความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงมีพระเมตตาต่อบัณฑิตทุกคนโดยเฉพาะบัณฑิตพิการของมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 12 มีนาคม 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก